วันพฤหัสบดีที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

อภิธัมมาวตารพร้อมทั้งฎีกา (๕)

อภิธัมมาวตารพร้อมทั้งฎีกา (๕)
คาถาที่ ๙ แสดงวจนัตถะของคำว่า จิต อีกนัยหนึ่ง.
******
๙. อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า จิต เพราะมีการกระทำที่วิจิตร (หรือเพราะกระทำสิ่งที่วิจิตร) อีกอย่างหนึ่ง จิต เพราะความที่ตนเองวิจิตร. วิญญูชนพึงเห็นใช้ในสมมุติว่า จิต แม้ในบัญญัติ ในวิญญาณ ในงานจิตรกรรมอันวิจิตร. ในอธิการนี้ พึงเห็นใช้ในวิญญาณ.
----
คำอธิบายจากฎีกา
อธิบายคำว่า จิต ได้แก่ ธรรมชาติที่มีการกระทำอันวิจิตร หรือ เพราะกระทำสิ่งที่วิจิตร
[คำว่า เพราะมีการกระทำที่วิจิตร ได้แก่ ธรรมชาติที่กระทำให้วิจิตร, หรือเป็นเครื่องกระทำสิ่งที่วิจิตร. หมายความว่า เพราะเป็นธรรมที่สร้างการงานต่าง ๆ มีจิตรกรรมเป็นต้นให้วิจิตร. จริงอยู่ การงานที่เป็นวิจิตรศิลป์ต่าง ๆ มีจิตรกรรมเป็นต้นใด ๆ ในโลกทั้งหมด อันบุคคลคิดแล้วด้วยจิตนั่นแล กระทำอยู่. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอเห็นลวดลายอันวิจิตรหรือไม่ ? พวกภิกษุกราบทูลว่า เห็นแล้วพระเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ลวดลายอันวิจิตรนั่นแล อันจิตนั่นเทียวคิดแล้ว” [1]ดังนี้. ความหมายของจิตอย่างนี้ ได้แก่ จิต ๓๒ดวง [2] ที่เป็นไปกับวิญญัติ.
อีกอย่างหนึ่ง กุศลและอกุศล ที่เป็นไปกับอาสวะ ชื่อว่า จิต คือ เป็นธรรมที่มีการกระทำอันวิจิตร เพราะสร้างคติเป็นต้น [3] ที่วิจิตร. หรือ ชื่อว่า จิต เพราะมีความหมายว่าเป็นเครื่องกระทำสิ่งที่วิจิตร.
ท้วงว่า สิ่งที่วิจิตรต่าง ๆ มีคติเป็นต้น อันวิจิตร ย่อมสำเร็จด้วยอำนาจกรรมมิใช่หรือ? ความข้อนี้สมดังที่พระอรรถกถาจารย์กล่าวไว้ว่า ความต่างกันแห่งคติของสัตว์ทั้งหลาย คือ สัตว์ที่ไม่มีเท้า มี ๒ เท้า มีเท้ามาก มีรูป ไม่มีรูป มีสัญญา ไม่มีสัญญา มีสัญญาก็มิใช่ไม่มีสัญญาก็มิใช่ ย่อมปรากฏเพราะอาศัยความต่างกันแห่งกรรม. ความต่างกันแห่งความอุบัติของสัตว์ทั้งหลายคือ ความสูงต่ำ เลวประณีต ไปสู่สุคติและทุคติ ย่อมปรากฏ เพราะอาศัยกรรมที่ต่างกัน. ความต่างกันในอัตภาพของสัตว์ทั้งหลาย คือ ความเป็นผู้มีผิวพรรณงามและผิวพรรณทราม ความเป็นผู้มีชาติดีและไม่ดี ความเป็นผู้มีทรวดทรงดีและไม่ดี ย่อมปรากฏเพราะอาศัยกรรมที่ต่างกัน. ความต่างกันในโลกธรรมของสัตว์ทั้งหลาย คือ ในความมีลาภเสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ นินทา สรรเสริญ สุขและทุกข์นี้ ย่อมปรากฏ เพราะกรรมที่ต่างกัน ดังนี้ [. เพราะเหตุนั้น ความที่ คติเป็นต้น เป็นธรรมวิจิตร ย่อมมีได้ เพราะอุบัติขึ้นโดยความต่างกันแห่งกรรม. อนึ่ง เจตนาที่เป็นเจตสิกธรรมก็ดี กรรมบถมีอภิชฌาเป็นต้น ก็ดี ท่านเรียกว่า กรรม, หาเรียกจิตว่า เป็นกรรมไม่. ฉะนั้น จิตจะทำคติเป็นต้นให้วิจิตรได้อย่างไร ?
ข้าพเจ้าจะขอกล่าวดังนี้. แม้ความที่คติเป็นต้นวิจิตร อันกรรมนั้นให้เกิดแล้ว ก็เป็นอันจิตนั้นนั่นแหละกระทำ เพราะกรรมเป็นธรรมชาติที่อาศัยจิต. เปรียบเหมือน ผู้ที่แพ้ทหารของพระราชา ก็ได้ชื่อว่า ถูกพระราชาฝ่ายศัตรูชนะ แล้ว ฉะนั้น.
--------------------------------------------
[1] คัททูลสูตรที่ ๒ ปุปผวรรค ขันธวารวรรค สังยุตตนิกาย (ล. ๒๗ น. ๓๔๓)
[2] ได้แก่ มโนทวาราวัชชนจิต ๑ กามชวนะ ๒๙ อภิญญาจิต ๒ รวม ๓๒ ดวงที่ทำให้การพูด (วจีวิญญัติ) , อิริยาบถใหญ่และอิริยาบถย่อย(กายวิญญัติ) เกิดขึ้นได้.
[3] นอกจากจิตเหล่านี้จะสร้างคติให้วิจิตรแล้ว ยังสร้าง กำเนิด, ภพ, ภูมิ, สัตตาวาสเป็นต้นให้วิจิตร อีกด้วย.
***********

อภิธัมมาวตารและฎีกา (๔)

อภิธัมมาวตารและฎีกา (๔)
อภิธัมมาวตาร :
ก็จิตนั้นมีอะไรเป็นวจนัตถะ (ความหมายของคำ) ? ตอบว่า ชื่อว่า จิต เพราะอรรถว่า คิด (คือ รู้อารมณ์) โดยเกี่ยวกับนัยที่สงเคราะห์เอาจิตทุกดวง, อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า จิต แม้เพราะอรรถว่า สั่งสมสันดานของตน
ฎีกา : อธิบายข้อความว่า อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า จิต เพราะอรรถว่า สั่งสมสันดานของตน
---------
ในคำว่า อีกอย่างหนึ่งชื่อว่า จิต แม้เพราะอรรถว่า สั่งสมสันดานของตน มีความหมายดังนี้
คำว่า อีกอย่างหนึ่ง หมายถึง รวมเอานัยที่มิได้สงเคราะห์เอาจิตทุกดวง.
อนึ่ง นอกจากจะคิดอารมณ์แล้ว จิตยังสั่งสมสันดานของตนไว้อีก
คำว่า สันดานของตน ได้แก่ ความสืบต่อแห่งชวนจิต. จริงอย่างนั้น ความสืบต่อแห่งชวนะ ที่กำลังเกิดขึ้น ก็เรียกว่า สันดานของตน เนื่องด้วยเป็นสภาพเหมือนกัน เพราะ คำว่า ตน หมายถึง เป็นตรงข้ามกับผู้อื่นและคำว่า จิต ได้แก่ ย่อมสั่งสม คือ รวมให้เป็นกอง.ในที่นี้ ได้แก่ ชวนจิตที่เป็นผู้เสพอารมณ์นั้น. รวมความได้ว่า จิตทั้งหลายเหล่านั้นที่เกิดก่อนเป็นปัจจัยโดยความเป็นอาเสวนปัจจัยแก่จิตที่เกิดภายหลังได้ชื่อว่า สะสมสันดาน (ความสืบต่อ) ของตนโดยสร้างความคล่องแคล่วและความมีกำลังให้แก่ความสืบต่อแห่งชวนะของตน.
อีกประการหนึ่ง ในคำนิยามนี้ ก็ยังมีความหมายเนื่องกับคำว่า โดยนัยที่เกี่ยวกับการสงเคราะห์จิตทุกดวง ด้วยเหตุนี้ หากถือเอาใจความว่า แม้นิยามนี้ท่านก็กล่าวไว้โดยเป็นนัยที่สงเคราะห์เอาจิตทุกดวงแล้ว คำว่า ความสืบต่อของตน ก็ได้แก่ ความสืบต่อแห่งจิต เนื่องจากเป็นนัยที่สงเคราะห์จิตทุกดวง เพราะคำว่า ตน (อตฺตศัพท์) ก็คือ จิต. แท้จริงแล้ว ธรรมที่เป็นพวกจิตปรมัตถ์ทุกดวงนั่นแหละได้ชื่อว่า สะสมจิตสันดาน โดยเป็นเหตุกระทำความเป็นไปไม่ขาดสายแก่จิตสันดาน ด้วยอำนาจ อนันตรปัจจัยเป็นต้น.
(ในที่นี้ ท่านอธิบายความหมายของข้อความว่า อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า จิต เพราะอรรถว่า สั่งสมสันดานของตนไว้เป็น ๒ นัย คือ
๑) คำว่า สั่งสมสันดานของตน เป็นความหมายท่ีไม่ได้เกี่ยวกับจิตทุกดวง แต่หมายถึงเฉพาะ ชวนจิต เท่านั้น ไม่รวมจิตประเภทวิบาก.
๒) คำว่า สั่งสมสันดานของตน ก็ยังคงเป็นความหมายที่ครอบคลุมจิตทุกดวงอีกนั่นแหละ เพราะจิตทุกดวง นอกจากจะทำหน้าที่คิดอารมณ์แล้วยังทำหน้าที่สั่งสมสันดานอีกด้วย. เป็นอันว่า ในอย่างหลังนี้ ระบุถึงจิตทุกดวงว่า คิดอารมณ์ ด้วย มีหน้าที่สั่งสมสันดานของตน ด้วย).
-----
จบ คาถาที่ ๘ แสดงสรุปความหมายของคำว่า จิต ที่เป็นธรรมชาติรู้อารมณ์และสะสมความสืบต่อ (สันดาน) ของตนเอง.

อภิธัมมาวตาร พร้อมทั้งคำอธิบายฎีกา (๓)

อภิธัมมาวตาร พร้อมทั้งคำอธิบายฎีกา (๓)
----
เนื้อความของฎีกาที่อธิบายข้อความในอภิธัมมาวตารว่า
"ชื่อว่า จิต เพราะอรรถว่า คิด (คือ รู้อารมณ์) โดยเกี่ยวกับนัยที่สงเคราะห์เอาจิตทุกดวง"
--------
คำว่า คิด ได้แก่ ย่อมรู้แจ้ง. อีกนัยหนึ่ง ชื่อว่า จิต เพราะอรรถว่า เป็นธรรมเครื่องช่วยให้สัมปยุตตธรรม ได้รู้โคจรธรรม (คืออารมณ์). คำนิยาม แบบนี้เป็นกรณะ เพราะมีการยกสัมปยุตตธรรมนั้นเป็นประธาน.
คำว่า โดยเกี่ยวกับนัยที่สงเคราะห์เอาจิตทุกดวง หมายความว่า โดยเกี่ยวกับนัยที่สงเคราะห์ (คือรวบรวมเอา) จิตทุกดวงเหล่านั้นทีเดียว เพราะหากจะกำหนดจิตโดยต่ำสุดนับตั้งแต่จักขุวิญญาณเป็นต้นแล้ว จิตทุกดวงก็มีการรู้อารมณ์เป็นสภาวะ, แต่ว่า มิใช่โดยเกี่ยวกับนัยที่ถือเอาตามที่ได้ เหมือนในวจนัตถะที่จักกล่าวต่อไป.
อนึ่ง ความที่จิตนั้นมีการได้มาซึ่งอารมณ์เป็นลักษณะ ท่านอาจารย์ได้กล่าวแล้วด้วยคำนิยาม ว่า มีการคิดอารมณ์เป็นลักษณะ ดังนี้แล้ว เพราะเหตุนั้น บัดนี้ ข้าพเจ้า (พระอาจารย์สุมังคละ) จะกล่าวถึงอาการที่เหลือมีสัมปัตติรสเป็นต้นแห่งจิตนั้น.
ก็ จิตนั้นมีความถึงก่อน เป็นรส (สัมปัตติรส ได้แก่ คุณสมบัติ). ด้วยว่า จิตเป็นธรรมชาติที่ถึงก่อน คือ ออกหน้า เพราะมีการทำอารมณ์นั้นๆ อันถึงทวารนั้น ให้แจ้งเป็นสภาวะ. (คำว่า ถึงก่อน คือ เป็นประธานในการรู้อารมณ์เหล่านั้นของสัมปยุตธรรม).
เป็นความจริงว่า บุคคลย่อมรู้รูปารมณ์ ที่จะพึงเห็นได้ทางจักขุทวาร ก็ด้วยจิตเท่านั้น ฯลฯ ย่อมรู้ธรรมารมณ์ที่พึงทราบได้ทางมโนทวาร ก็ด้วยจิตเท่านั้น.
จิตก็เปรียบได้กับคนเฝ้าเมือง (ยาม) นั่งที่สี่แยกกลางนคร พิจารณาผู้คนที่ไปมาอยู่ว่า คนนี้เป็นชาวเมือง คนนี้เป็นคนต่างถิ่น ดังนี้.
คำอุปไมยก็พึงเห็นเช่นนี้ เพราะเหตุนั้น จิตจึงมีการถึงก่อนเป็นรส เพราะอรรถว่า เป็นธรรมชาติออกหน้า โดยความว่าทำอารมณ์นั้นที่ถึงทวารให้แจ้ง.
จิตนั้น ย่อมปรากฏ คือ ถึงภาวะที่ถือเอาได้ว่าเป็นธรรมชาติเหมือนกับว่า จิตดวงที่เกิดก่อนๆ ทำจิตดวงหลังๆให้เกิดในลำดับติดต่อกัน เป็นไปอยู่ไม่ขาดสาย เหตุนั้น จิตจึงมีการสืบต่อกันเป็นปัจจุปัฏฐาน. (คือ จิต เมื่อเกิดย่อมแสดงอาการเช่นนี้ให้ปรากฏแก่ญาณของพระโยคี).
นามและรูปย่อมเป็นปทัฏฐานแก่จิตนั้น ในปัญจโวการภพ โดยกำหนดแน่นอน, แต่ในจตุโวการภพ มีเพียงนามเท่านั้น เป็นปทัฏฐานแก่จิตนั้น เหตุนั้น จิต จึงชื่อว่า มีนามรูปเป็นปทัฏฐาน. (เป็นเหตุใกล้หรือเหตุพิเศษ).
นักศึกษาพึงทราบความต่างกันแห่งอาการมีลักษณะเป็นต้น ก็โดยนัยที่ท่านจักกล่าวต่อไป.
จริงอย่างนั้น ท่านอาจารย์จักกล่าวไว้ในปริจเฉทที่ว่าด้วยรูปวิภาคข้างหน้า ว่า
“ ท่านแสดงไว้ว่า อาการที่เสมอเหมือนกันก็ดี
สภาวะก็ดี แห่งธรรมทั้งหลาย เรียกว่า ลักษณะ. กิจหรือว่า
สมบัติแห่งกิจนั้น ท่านบอกว่า รส, ผลหรือนัยที่ปรากฏ
เรียกว่า ปัจจุปัฏฐาน, ส่วนว่า สิ่งที่เป็นเหตุใกล้ให้เกิด อันใด
สิ่งนั้น ได้ชื่อว่า ปทัฏฐาน” ดังนี้.
*****

อภิธัมมาวตาร พร้อมทั้งคำอธิบายฎีกา (๒)

อภิธัมมาวตาร พร้อมทั้งคำอธิบายฎีกา (๒)
----
ปริจเฉทที่ ๑ จิตตนิทเทส
๘. พระผู้มีพระภาค ผู้ทรงประกาศสัจจะ ๔ หาผู้เหนือกว่ามิได้ ทรงแสดงธรรมไว้ ๔ อย่าง คือ จิต เจตสิก รูป และนิพพาน.
ในปรมัตถธรรม ๔ อย่างเหล่านั้น คำว่า จิต หมายความว่า ธรรมชาติที่รู้อารมณ์ ชื่อว่า จิต. ก็จิตนั้นมีอะไรเป็นวจนัตถะ (ความหมายของคำ) ? ตอบว่า ชื่อว่า จิต เพราะอรรถว่า คิด (คือ รู้อารมณ์) โดยเกี่ยวกับนัยที่สงเคราะห์เอาจิตทุกดวง, อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า จิต เพราะอรรถว่า สั่งสมสันดานของตน .

คำอธิบายจากฎีกา
ชื่อว่า จิต เพราะอรรถว่า คิด (คือ รู้อารมณ์) หมายความว่า การรู้ คือ การได้มาซึ่งอารมณ์ (ที่เรียกว่า วิสัย ) นั้น ชื่อว่า จิต ดังนี้. ด้วยคำนิยามนี้ ได้แสดงความที่จิตนั้นเป็นธรรมที่เนื่องด้วยอารมณ์ เป็นธรรมที่ไม่เที่ยงและเป็นธรรมที่หาผู้สร้างมิได้. เป็นความจริงว่า เมื่อเข้าไปกำหนดจิตด้วยอารมณ์ จิตนั้น ก็เป็นธรรมที่นับเนื่องอยู่กับอารมณ์นั้น ๆ และด้วยการแสดงจิตโดยเป็นธรรมที่เป็นไปกับอารมณ์นั้น เท่ากับได้แสดงความเป็นธรรมที่ไม่เที่ยง เพราะแสดงการเกิดขึ้นในกาลที่มีเฉพาะหน้าอารมณ์นั้นเท่านั้น. และก็เพราะชี้ว่าเป็นเพียงธรรมที่รู้อารมณ์ โดยแสดงไขเป็นภาวสาธนะ (คำพูดที่กล่าวไว้โดยสภาพ) เท่ากับได้แสดงความเป็นธรรมชาติหาผู้สร้างมิได้. เพราะขึ้นชื่อว่า สภาวธรรม ก็เพียงแต่ว่าเป็นไปตามปัจจัยเท่านั้น.
ก็เพราะเหตุนี้ นักศึกษาจึงได้ความหมายตรง ๆ ของจิตและเจตสิกทั้งหมด ก็เพียงภาวสาธนะเท่านั้น. ส่วนคำนิยามอันใด ที่ท่านกล่าวไว้เป็นกัตตุสาธนะ (คำพูดที่กล่าวไว้โดยเป็นผู้ทำเอง) และกรณสาธนะ (คำพูดที่กล่าวไว้โดยเป็นเครื่องช่วยกระทำ) มีนัยอาทิว่า ชื่อว่า จิต เพราะคิดอารมณ์, ชื่อว่า วิจาร เพราะเป็นเหตุเที่ยวไปโดยประการต่าง ๆ แห่งจิตนั้น ดังนี้ คำนิยามนั้น ควรทราบว่า เป็นการกล่าวโดยอ้อม.
ทั้งนี้ คำนิยามแห่งจิตและเจตสิกโดยอ้อม ที่เป็นกัตตุ ก็โดยการยกตนขึ้นเป็นประธานในกิจทั้งหลายของตนและเป็นกรณะ ก็โดยการยกหมู่ธรรมที่สัมปยุตกับจิตนั้น ขึ้นสู่ความเป็นกัตตุ โดยที่ตนเป็นธรรมที่คอยช่วยเหลือให้แก่ความเป็นประธานนั้น.
ก็การแสดงไขเช่นนี้ ควรเข้าใจว่า ก็เพื่อแสดงถึงความไม่มีสภาพใด ๆ มีกัตตา (ผู้สร้าง)เป็นต้น ที่เป็นอย่างอื่นไปจากสภาพธรรม.
----

อภิธัมมาวตาร พร้อมทั้งฎีกา (๑)

อภิธัมมาวตาร พร้อมทั้งฎีกา (๑)
อภิธัมมาวตาร
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น.
กถาเริ่มพระคัมภีร์
๑. ข้าพเจ้าขอถวายอภิวาทพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้หาใครยิ่งกว่ามิได้ มีพระกรุณาและพระปัญญาหาที่สุดมิได้ และพระธรรม รวมทั้งคณะสงฆ์ ด้วยเศียรเกล้า.
๒ – ๓. พระผู้มีพระภาค ผู้ทรงแกล้วกล้าหาผู้เปรียบมิได้ ผู้เป็นเทพยิ่งเทพแห่งเทพทั้งหลาย อันเทพแห่งเทพทั้งหลายบูชา ทูลเชิญประทับเบื้องหน้าทวยเทพ ประทับนั่งบนศิลาอาสน์ ชื่อว่า บัณฑุกัมพล อันเย็นปราศจากมลทินของท้าวสักกเทวราช ทรงแสดงธรรมอันใดไว้ในโลก.
๔ – ๗. เพื่อความแจ่มแจ้งในธรรมนั้น ข้าพเจ้าขอกล่าวอภิธัมมาวตาร อันมีความไพเราะ เป็นเครื่องทำปัญญาให้เจริญในพระอภิธรรมปิฎก แก่ภิกษุทั้งหลายซึ่งเป็นกุญแจไขทะลวงบานประตูคือโมหะ อันยอดเยี่ยม สำหรับภิกษุผู้จะเข้าไปสู่เมืองใหญ่ คือ พระอภิธรรม ผู้จะข้ามห้วงน้ำใหญ่ คือ พระอภิธรรมที่ข้ามได้แสนยาก เป็นดุจแพสำหรับบุคคลผู้จะข้ามบ่อมังกร อันข้ามได้แสนยาก ฉะนั้น เป็นคู่มืออันยอดเยี่ยมสำหรับภิกษุผู้เรียนอภิธรรมทั้งหลาย โดยย่อ ขอท่านทั้งหลาย จงเป็นผู้มีจิตตั้งมั่น สดับอภิธัมมาวตารนั้น เถิด.
จบ กถาเริ่มพระคัมภีร์