วันพฤหัสบดีที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

อภิธัมมาวตาร พร้อมทั้งคำอธิบายฎีกา (๒)

อภิธัมมาวตาร พร้อมทั้งคำอธิบายฎีกา (๒)
----
ปริจเฉทที่ ๑ จิตตนิทเทส
๘. พระผู้มีพระภาค ผู้ทรงประกาศสัจจะ ๔ หาผู้เหนือกว่ามิได้ ทรงแสดงธรรมไว้ ๔ อย่าง คือ จิต เจตสิก รูป และนิพพาน.
ในปรมัตถธรรม ๔ อย่างเหล่านั้น คำว่า จิต หมายความว่า ธรรมชาติที่รู้อารมณ์ ชื่อว่า จิต. ก็จิตนั้นมีอะไรเป็นวจนัตถะ (ความหมายของคำ) ? ตอบว่า ชื่อว่า จิต เพราะอรรถว่า คิด (คือ รู้อารมณ์) โดยเกี่ยวกับนัยที่สงเคราะห์เอาจิตทุกดวง, อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า จิต เพราะอรรถว่า สั่งสมสันดานของตน .

คำอธิบายจากฎีกา
ชื่อว่า จิต เพราะอรรถว่า คิด (คือ รู้อารมณ์) หมายความว่า การรู้ คือ การได้มาซึ่งอารมณ์ (ที่เรียกว่า วิสัย ) นั้น ชื่อว่า จิต ดังนี้. ด้วยคำนิยามนี้ ได้แสดงความที่จิตนั้นเป็นธรรมที่เนื่องด้วยอารมณ์ เป็นธรรมที่ไม่เที่ยงและเป็นธรรมที่หาผู้สร้างมิได้. เป็นความจริงว่า เมื่อเข้าไปกำหนดจิตด้วยอารมณ์ จิตนั้น ก็เป็นธรรมที่นับเนื่องอยู่กับอารมณ์นั้น ๆ และด้วยการแสดงจิตโดยเป็นธรรมที่เป็นไปกับอารมณ์นั้น เท่ากับได้แสดงความเป็นธรรมที่ไม่เที่ยง เพราะแสดงการเกิดขึ้นในกาลที่มีเฉพาะหน้าอารมณ์นั้นเท่านั้น. และก็เพราะชี้ว่าเป็นเพียงธรรมที่รู้อารมณ์ โดยแสดงไขเป็นภาวสาธนะ (คำพูดที่กล่าวไว้โดยสภาพ) เท่ากับได้แสดงความเป็นธรรมชาติหาผู้สร้างมิได้. เพราะขึ้นชื่อว่า สภาวธรรม ก็เพียงแต่ว่าเป็นไปตามปัจจัยเท่านั้น.
ก็เพราะเหตุนี้ นักศึกษาจึงได้ความหมายตรง ๆ ของจิตและเจตสิกทั้งหมด ก็เพียงภาวสาธนะเท่านั้น. ส่วนคำนิยามอันใด ที่ท่านกล่าวไว้เป็นกัตตุสาธนะ (คำพูดที่กล่าวไว้โดยเป็นผู้ทำเอง) และกรณสาธนะ (คำพูดที่กล่าวไว้โดยเป็นเครื่องช่วยกระทำ) มีนัยอาทิว่า ชื่อว่า จิต เพราะคิดอารมณ์, ชื่อว่า วิจาร เพราะเป็นเหตุเที่ยวไปโดยประการต่าง ๆ แห่งจิตนั้น ดังนี้ คำนิยามนั้น ควรทราบว่า เป็นการกล่าวโดยอ้อม.
ทั้งนี้ คำนิยามแห่งจิตและเจตสิกโดยอ้อม ที่เป็นกัตตุ ก็โดยการยกตนขึ้นเป็นประธานในกิจทั้งหลายของตนและเป็นกรณะ ก็โดยการยกหมู่ธรรมที่สัมปยุตกับจิตนั้น ขึ้นสู่ความเป็นกัตตุ โดยที่ตนเป็นธรรมที่คอยช่วยเหลือให้แก่ความเป็นประธานนั้น.
ก็การแสดงไขเช่นนี้ ควรเข้าใจว่า ก็เพื่อแสดงถึงความไม่มีสภาพใด ๆ มีกัตตา (ผู้สร้าง)เป็นต้น ที่เป็นอย่างอื่นไปจากสภาพธรรม.
----

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น