วันอาทิตย์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2564

การจำแนกบทในคัมภีร์ธัมมสังคณี

นานาสาระพระคัมภีร์

๑๓. การจำแนกบทในคัมภีร์ธรรมสังคณี

****

เมื่ออ่านคัมภีร์ธัมมสังคณี จะพบเห็นนิทเทส (นิทเทส คือ คำไขความ. ส่วนที่แสดงนิทเทสอย่างเดียวเรียกว่า นิทเทสวาระ) แห่งบทที่ทรงยกขึ้นแสดงไว้ก่อนหน้า (เรียกว่า ธัมมุทเทส คือแสดงธรรมโดยย่อ ส่วนที่แสดงธัมมุทเทสอย่างเดียว เรียกว่า ธัมมุทเทสวาระ) อยู่หลายบท บางอุทเทสทรงแสดงมากกว่า ๑๐ ศัพท์ก็มี  ซึ่งมีรูปที่คล้ายกันบ้าง ต่างกันอย่างเห็นได้ชัด บ้าง  หากไม่พิจารณาให้ลึกซึ้งจะไม่เห็นความแตกต่างกันเลย. ตัวอย่างเช่น ในบาฬีผัสสะนิทเทส ทรงแสดงไขผัสสะ ซึ่งเป็นธรรมที่เกิดขึ้นร่วมกับกามาวจรกุศลจิต

. กตโม ตสฺมิํ สมเย ผสฺโส โหติ? โย ตสฺมิํ สมเย ผสฺโส ผุสนา สํผุสนา สํผุสิตตฺตํ อยํ ตสฺมิํ สมเย ผสฺโส โหติฯ (ธมฺมสงฺคณี กามาวจรนิทเทสวาร ปทภาชนี)

               ผัสสะ มีในสมัยนั้น เป็นไฉน? ผัสสะ,  การกระทบ,  การกระทบเมื่อประจวบกับอารมณ์,  ภาวะของจิตที่กระทบเมื่อประจวบกับอารมณ์ ในสมัยนั้น อันใด นี้ชื่อว่า ผัสสะมีในสมัยนั้น.

 

จะเห็นว่า ทรงจำแนกบทว่า ผสฺโส (ผัสสะมีในสมัยนั้น) ออกเป็น ๔ ศัพท์คือ ผสฺโส, ผุสนา, สํผุสนา, สํผุสิตตฺตํ ซึ่งมีความหมายของแต่ละบทที่ใช้เป็นคำขยายความของบทว่า ผสฺโส นั้น เพราะเหตุนั้น บัณฑิตพึงทราบว่า นี่ คือ วิธีการอธิบายในลักษณะเช่นนี้เป็นแนวทางการแสดงคำไขความของพระพุทธองค์ในพระอภิธรรมปิฎก.

จริงอย่างนั้น หลักเกณฑ์ที่พระพุทธองค์ทรงใช้แสดงนิทเทส แห่งอุทเทสนั้นๆ  มี ๓ แบบใหญ่ๆ คือ

. จำแนกเป็น ๓ แบบ คือ

. ศัพท์ (พฺยญฺชนวเสน วิภตฺติคมนํ )

. บทอุปสรรค (อุปสคฺควเสน วิภตฺติคมนํ)

. อรรถ (อตฺถวเสน วิภตฺติคมนํ)

.  ความต่างกัน ๔  คือ

.โดยชื่อ  (นามนานตฺต)

.โดยลักษณะ (ลกฺขณนานตฺต)

.โดยกิจ (กิจฺจนานตฺต)

.โดยการปฏิเสธ (ปฏิกฺเขปนานตฺถ)

. ไวพจน์ (อปรทีปนา) ที่ปรากฏอยู่  ๒ รูปแบบ คือ

.การแสดงเนื้อความของบท (ปทตฺถุติ

. การพูดย้ำ (ทฬฺหีกมฺม)

(อภิ.อ.๑/๒, อัฏฐสาลินีแปล โดยพระคันธสาราภิวงศ์)

***

หลักเกณฑ์กลุ่มที่ ๑ จำแนกเป็น ๓ แบบ

ในกลุ่มนี้ บทนิทเทสจะเป็นไปในลักษณะที่จำแนกบทอุทเทสคือ ผสฺโส, เวทนา เป็นต้น ให้เป็นนิทเทส โดยแสดงให้เห็นความต่างกันของอุทเทสนั้นโดยศัพท์  บทอุปสรรค และ อรรถ  เช่น ผสฺโส ผุสนา เป็นต้น  ดังนี้

() การจำแนกโดยศัพท์ (พฺยญฺชนวเสน วิภตฺติคมนํ)

การจำแนกโดยศัพท์ หมายถึง สภาวธรรมเดียวกัน แต่ทรงแสดงด้วยคำศัพท์ที่สำเร็จจาก ธาตุ และปัจจัยที่แตกต่างกันไปตามหลักภาษา จะนำบทว่า โทโส (โทสะ, ความโกรธ) มาเป็นตัวอย่าง เพราะเห็นได้ชัดเจน ดังนี้ 

ตตฺถ   กตโม  โทโส ฯปฯ โย   เอวรูโป   จิตฺตสฺส   อาฆาโต ปฏิฆาโต  ปฏิฆํ  ปฏิวิโรโธ  โกโป  ปโกโป   สมฺปโกโป   โทโส ปโทโส    สมฺปโทโส จิตฺตสฺส พฺยาปตฺติ มโนปโทโส โกโธ กุชฺฌนา   กุชฺฌิตตฺตํ   โทโสโทโส   ทูสนา  ทูสิตตฺตํ  พฺยาปตฺติ  พฺยาปชฺชนา  พฺยาปชฺชิตตฺตํ  วิโรโธ ปฏิวิโรโธ  จณฺฑิกฺกํ   อสุโรโป   อนตฺตมนตา   จิตฺตสฺส  อยํ   ตสฺมิํ สมเย   โทโส   โหติ.

โทสะ เป็นไฉน? ฯลฯ จิตอาฆาต    ความขัดเคือง    ความกระทบกระทั่ง    ความแค้น    ความเคืองความขุ่นเคือง    ความพล่านไป    โทสะ    ความคิดประทุษร้าย    ความคิดมุ่งร้าย    ความขุ่นจิต    ธรรมชาติ    ที่ประทุษร้ายใจ    ความโกรธ    กิริยาที่โกรธ    ภาวะที่โกรธ    มีลักษณะเช่นว่านี้    (และ)    ความคิดประทุษร้าย    กิริยาที่คิดประทุษร้าย    ภาวะที่คิดประทุษร้ายความคิดปองร้าย    กิริยาที่คิดปองร้าย    ภาวะที่คิดปองร้าย    ความพิโรธ    ความแค้นความดุร้าย    ความเกรี้ยวกราด    ความไม่แช่มชื่นแห่งจิต    มีลักษณะเช่นว่านี้    นี้เรียก ว่าโทสะ

โปรดสังเกต ในบทอุทเทสว่า โทโส (โทสะ หรือ ความโกรธ) ทรงจำแนกบทนี้เป็นนิทเทสโดย กุธ ธาตุ ที่ลงปัจจัยต่างๆ กัน ดังนี้ คือ กุธ ธาตุ ลง  ณ ปัจจัย เป็น โกโธ ความโกรธ, ลง ยุ ปัจจัย เป็น กุชฺฌนา กิริยาที่โกรธ ลง ตฺต ปัจจัย เป็น กุชฺฌิตตฺตํ ความเป็นผู้โกรธ 

จำแนกโดย ทุส ธาตุ ในความประทุษร้าย ลง ณ ปัจจัย เป็น โทโส ความประทุษร้าย ลง ยุ ปัจจัย เป็น ทุสฺสนา กิริยาที่ประทุษร้ายลง ตฺต ปัจจัย เป็น ความเป็นผู้ประทุษร้าย

จะเห็นได้ว่า ความโกรธ ซึ่งได้แก่ โทสเจตสิกอย่างเดียว แต่ถึงการจำแนกออกเป็นหลายศัพท์ด้วยอำนาจแห่งกุธ ธาตุ และ ทุส ธาตุ โดย ณ ปัจจัย เป็นต้นตามบทที่สำเร็จ.

***

() การจำแนกด้วยบทอุปสรรค (อุปสคฺควเสน วิภตฺติคมนํ)

การจำแนกด้วยบทอุปสรรค หมายถึง การทำให้บทมีอักษรเพิ่มขึ้นด้วยอุปสรรค.

ในที่นี้จะนำบทว่า วิจาโร มาเป็นตัวอย่าง ดังนี้

 กตโม ตสฺมิํ สมเย วิจาโร โหติ? โย ตสฺมิํ สมเย จาโร วิจาโร อนุวิจาโร อุปวิจาโร จิตฺตสฺส อนุสนฺธานตา อนุเปกฺขนตา อยํ ตสฺมิํ สมเย วิจาโร โหติฯ (อภิ.สํ.๓๔/๒๓).

วิจาร มีในสมัยนั้น เป็นไฉน?

จาโร (การแล่นไป) วิจาโร (การพิจารณา) อนุวิจาโร (การตามพิจารณา) อุปวิจาโร (การเข้าไปพิจารณา) จิตฺตสฺส อนุสนฺธานตา (ความที่จิตสืบต่ออารมณ์) อนุเปกขนตา (ความที่จิตเพ่งอารมณ์) ในสมัยนั้น อันใด นี้ชื่อว่า วิจารมีในสมัยนั้น.

ในบทนิทเทสเหล่านี้ บทอุปสรรค เช่น ศัพท์ว่า วิจาโร ที่ประกอบด้วย วิ อุปสรรค อนุวิจาโร ประกอบด้วย อนุ อุปสรรค, อุปวิโจาโร ประกอบด้วย อุป และ วิ เป็นต้น แม้ทั้ง ๓ ศัพท์ ต่างก็หมายถึงวิจารเจตสิก เช่นเดียวกัน เพียงตรัสเพิ่มบทไว้ด้วยอุปสรรค

แม้ศัพท์ว่า ปโกโป, สมฺปโกโป ในนิทเทสแห่งโทโส ที่ประกอบด้วย ป อุปสรรคเป็นต้น แม้จะหมายถึง โทสเจตสิก ก็ดี แต่ตรัสไว้ตามบทอุปสรรค.

ในการอธิบายลักษณะนี้ คัมภีร์อรรถกถาจะอธิบายโดยนัยว่า อุปสคฺควเสน ปทานิ วฑฺฒิตานิ.  ทำให้บทมีอักษรเพิ่มขึ้นด้วยอุปสรรค. ซึ่งหมายเอาการมีความหมายเดียวกับบทที่แสดงธรรมว่า จาโร ผสฺโส เป็นต้นก็ได้ หรือ มีความหมายพิเศษเพิ่มขึ้นตามความหมายของอุปสรรคนั้นก็ได้ กรณีหลังนี้ ถือเป็นการแสดงความหมายในลักษณะอื่นๆ ซึ่งจะได้แสดงต่อไป.

***

() การจำแนกด้วยเนื้อความ (อตฺถวเสน วิภตฺติคมนํ)

การจำแนกโดยอรรถ ในที่นี้ คือ การจำแนกบทโดยเนื้อความ.

อรรถ (อตฺถ) ในที่นี้เป็นเนื้อความหรือเป็นองค์ธรรมของบทนั้น เช่น ปณฺฑิจฺจํ ความเป็นบัณฑิต องค์ธรรมได้แก่ ปัญญา ซึ่งหมายเอาปัญญาที่ได้ยินได้ฟังมามาก อันเป็นเหตุแห่งชื่อว่าบัณฑิต ดังนี้เป็นต้น.

 ก่อนอื่น พึงทราบว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคจะไขความของบทที่แสดงถึงปัญญาเป็นต้นว่า สัมมาทิฏฐิ อโมหะ ปัญญาพละ วิปัสนา ปัญญินทรีย์ เป็นต้น จึงแสดงบทนิทเทสเหล่านี้ ที่แสดงถึงเนื้อความว่า ปัญญา ที่มีกิจต่างๆ  ดังบาฬีธัมมสังคณีข้อที่ ๒๑๑ แสดงว่า

กตมํ ตสฺมิํ สมเย ปญฺญินฺทฺริยํ โหติ?

ยา ตสฺมิํ สมเย ปญฺญา ปชานนา วิจโย ปวิจโย ธมฺมวิจโย สลฺลกฺขณา อุปลกฺขณา ปจฺจุปลกฺขณา ปณฺฑิจฺจํ โกสลฺลํ เนปุญฺญํ เวภพฺยา จินฺตา อุปปริกฺขา ภูรี เมธา ปริณายิกา วิปสฺสนา สมฺปชญฺญํ ปโตโท ปญฺญา ปญฺญินฺทฺริยํ ปญฺญาพลํ ปญฺญาสตฺถํ ปญฺญาปาสาโท ปญฺญาอาโลโก ปญฺญาโอภาโส ปญฺญาปชฺโชโต ปญฺญารตนํ อโมโห ธมฺมวิจโย สมฺมาทิฏฺฐิ อิทํ ตสฺมิํ สมเย ปญฺญินฺทฺริยํ โหติฯ (อภิ.สํ.๓๔/๒๑๑)

ปัญญินทรีย์ มีในสมัยนั้น เป็นไฉน?

ปัญญา กิริยาที่รู้จัก ความวิจัย ความเลือกสรร ความวิจัยธรรม ความกำหนดหมายความเข้าไปกำหนด ความเข้าไปกำหนดเฉพาะ ภาวะที่รู้ ภาวะที่ฉลาด ภาวะที่รู้ละเอียดความรู้แจ่มแจ้ง ความค้นคิด ความใคร่ครวญ ปัญญาเหมือนแผ่นดิน ปัญญาเครื่องทำลายกิเลส ปัญญาเครื่องนำทาง ความเห็นแจ้ง ความรู้ชัด ปัญญาเหมือนปฏัก ปัญญา อินทรีย์คือปัญญาปัญญาพละ ปัญญาเหมือนศาตรา ปัญญาเหมือนปราสาท ความสว่างคือปัญญา แสงสว่างคือปัญญาปัญญาเหมือนประทีป ปัญญาเหมือนดวงแก้ว ความไม่หลง ความวิจัยธรรม สัมมาทิฏฐิ ธรรมวิจัยสัมโพชฌงค์ อันเป็นองค์แห่งมรรค นับเนื่องในมรรค ในสมัยนั้น อันใด นี้ชื่อว่า ปัญญินทรีย์ มีในสมัยนั้น.

ในตัวอย่างนี้ มีบทนิทเทสที่ทรงอาศัยศัพท์ และอุปสรรค ดังได้กล่าวมาแล้วนั้น พร้อมอรรถมาเป็นเหตุจำแนก แต่ในที่นี้จะแสดงเฉพาะอรรถ คือ เนื้อความที่เป็นเหตุในการจำแนก ตามที่มีอรรถาธิบายไว้ในคัมภีร์อรรถกถาอัฏฐสาสินี ดังนี้

พระอรรถกถาจารย์ยกบทนิทเทสเหล่านี้ คือ ปณฺฑิจฺจํ (ความเป็นบัณฑิต) โกสลฺลํ (ความเป็นคนฉลาด) เนปุญฺญํ (ความเฉลียวฉลาด) เวภพฺยา (ความเป็นผู้แสดงอย่างชัดเจน) จินฺตา (ความคิด) อุปปริกฺขา (ความใคร่ครวญ) ซึ่งเป็นบทไขความของบทที่แสดงความหมายว่าปัญญา มาเป็นตัวอย่างของการจำแนกโดยอรรถ โดยเฉพาะ เพราะเป็นบทที่เห็นได้ชัดเจน.

ในตัวอย่างดังกล่าวนั้น

ปณฺฑิจฺจํ ความเป็นบัณฑิต= ปณฺฑิตสฺส ภาโว ปณฺฑิจฺจํ คือ ปัญญาที่ได้ยินได้ฟังมามาก

โกสลฺลํ ความเป็นคนฉลาด = กุสลสฺส ภาโว โกสลฺลํ คือ ปัญญาที่เชี่ยวชาญศิลปะอย่างใดอย่างหนึ่ง

เนปุญฺญํ ความเฉลียวฉลาด = นิปุณสฺส ภาโว เนปุญฺญํ คือ ปัญญาที่เข้าใจสิ่งที่ละเอียดลึกซึ้ง

เวภพฺยา ความเป็นผู้แสดงอย่างชัดเจน = วิภาเวตีติ วิภาโว, วิภาโวเยว เวภพฺยา คือ ปัญญาที่แสดงให้บุคคลเข้าใจไตรลักษณ์ได้อย่างชัดเจนด้วยการสื่อภาษาโดยวิธีพูดหรือเขียน

จินฺตา ความคิด = หมายถึง ปัญญาพิจารณาให้เข้าใจไตรลักษณ์

อุปปริกฺขา ความใคร่ครวญ = หมายถึง ปัญญาใคร่ครวญถึงเหตุผลของรูปนาม

จะเห็นได้ว่า ปัญญาต่างๆ เหล่านี้มีความเป็นบัณฑิต เป็นต้น แม้จะได้แก่ปัญญาเจตสิกเหมือนกัน มีความหมายต่างกันไป      แตกต่างจากปัญญาชนิดอื่นๆ และเกิดในช่วงเวลาต่างๆกันได้.    แต่ปัญญาเหล่านี้เกิดขึ้นได้ในจิตดวงเดียวกัน  คือ เมื่อมีปัญญาพิเศษเฉพาะอย่างหนึ่งเกิดปัญญาชนิดอื่น ก็จะเกิดคล้อยตามไปโดยมาก.  (มูลฏี.๑/๒)[๑]

สรุปความว่า บทอุทเทสนั้นท่านอาศัยสิ่ง ๓ ประการนี้ เป็นเครื่องจำแนกเป็นนิทเทส คือ

๑. อาศัยความต่างกันแห่งพยัญชนะ กล่าวคือ ทำรูปศัพท์ให้แตกต่าง

๒. อาศัยความแตกต่างกันแห่งบทอุปสรรค

๓. อาศัยอรรถคือ เนื้อความพิเศษเฉพาะ, สภาวะ, กิริยา และภาวะของจิต.

ดังพระอรรถกถาจารย์อธิบายการจำแนกบทอุทเทส คือ ผสฺโส โดยเหตุทั้ง ๓ อย่างนี้ คือ

การจำแนกว่า ผสฺโส,  ผุสนา เป็นการจำแนกด้วยศัพท์.

การจำแนกว่า สมฺผุสนา เป็นการจำแนกด้วยบทอุปสรรค.

การจำแนกว่า สมฺผุสิตตฺตํ เป็นการจำแนกด้วยเนื้อความ.

พึงทราบการจำแนกในนิเทศของบททั้งปวงตามนัยนี้

***

. หลักเกณฑ์กลุ่มที่ ๒ :  มีความต่างกัน ๓ แบบ .

ธรรมที่ถูกแสดงไว้ทั้งในอุทเทสและนิทเทส จะมีความต่างกันโดยสิ่ง ๔ ประการ คือ

(๑) โดยชื่อ  (นามนานตฺต)

(๒) โดยลักษณะ (ลกฺขณนานตฺต)

(๓) โดยกิจ (กิจฺจนานตฺต)

(๔) โดยการปฏิเสธ (ปฏิกฺเขปนานตฺต)

***

(๑) ความต่างกันโดยชื่อ

 ธรรมอย่างหนึ่ง แม้มีองค์ธรรมเดียวกัน เป็นสภาวะเดียวกัน แต่มีปรากฏใช้ในอาคตสถานมีชื่อต่างๆ แม้ในนิทเทส ก็ทรงนำชื่อธรรมเหล่านั้นมาแสดงไว้ เช่น

โกโธ (ความโกรธ) อย่างเดียวนั่นเอง แต่ถึงความต่างกันโดยชื่อว่า พฺยาปาท (ความพยาบาท) บ้าง โทโส (โทสะ) เป็นต้นบ้าง ดังนั้น เมื่อจะทรงจำแนกอุทเทสว่า โกโธ จึงทรงแสดงบทนิทเทสด้วยธรรมทั้ง ๒ เหล่านี้ เพื่อให้เห็นว่า ธรรมอย่างเดียวกันแต่มีชื่อเรียกได้หลายประการ เช่น

               กตโม ตสฺมึ สมเย พฺยาปาโท โหติ. โย ตสฺมึ สมเย โทโส ทุสฺสนา. (ธ.ส.๔๑๙)

               “ความพยาบาทมีในสมัยนั้นเป็นไฉน ความประทุษร้าย กิริยาที่ประทุษร้ายอันใดมีในสมัยนั้น

จะเห็นได้ว่า แม้ บทธรรมคือ โกโธ (ความโกรธ)  แต่ในอุทเทสท่านแสดงโดยชื่อว่า พฺยาปาโท (พยาบาท หรือ ภาวะที่ใจเปลี่ยนไปจากปกติคือโลภะ) แม้ในนิทเทส แสดงโดยชื่อว่า โทส (สภาวะที่ประทุษร้าย) แสดงว่า โกโธ, พฺยาปาโท, โทโส  นั้นต่างกัน โดยชื่อ แต่องค์ธรรมเดียวกันคือ โทสเจตสิก อันมีการประทุษร้ายอารมณ์เป็นลักษณะ.

 

***

(๒) ความต่างกันโดยลักษณะ   

ในความต่างกันโดยลักษณะนี้ จะพบเมื่อทรงแสดงบทอุทเทสที่เป็นกลุ่มธรรม ซึ่งถูกสงเคราะห์รวมกันโดยความเป็นกอง ซึ่งในกลุ่มธรรมนั้น จะประกอบด้วยธรรมแต่ละอย่างซึ่งต่างกันโดยลักษณะเป็นต้นเฉพาะแตัว  แต่เมื่อว่าโดยรวมแล้วมีลักษณะเดียวกัน จะถูกนำมารวมกันเข้าเป็น ๑ กอง  เช่น

ขันธ์แม้ทั้ง ๕ อย่าง (อย่างหนึ่ง) ชื่อว่า ขันธ์  เพราะเป็นกอง.  

ในบรรดาขันธ์เหล่านี้ รูปมีสภาพแปรปรวน เวทนามีสภาพเสวยอารมณ์ สัญญามีสภาพหมายรู้อารมณ์ เจตนามีสภาพตั้งใจ วิญญาณมีสภาพรู้อารมณ์. (อภิ.อ.๑/๒)

ขันธ์ทั้ง ๕ นั้น ขันธ์อย่างหนึ่ง เช่น

รูปขันธ์ แม้กระจายออกไปมี ๒๘ เป็นต้น แต่จัดไว้เป็น ๑ ขันธ์ (๑ กอง). แต่เมื่อว่าโดยลักษณะแล้ว ก็มีลักษณะที่แปรปรวน  (รุปฺปนลกฺขณํ),

เวทนาขันธ์ จัดไว้เป็น ๑ ขันธ์ โดยลักษณะที่เสวยอารมณ์ (เวทยิตลกฺขณา),

สัญญาขันธ์ จัดไว้เป็น ๑ ขันธ์ โดยลักษณะที่หมายรู้อารมณ์ (สญฺชานนลกฺขณา),

เจตนา กล่าวคือสังขารขันธ์ โดยลักษณะที่จัดแจงหรือตั้งใจเป็นลักษณะ (เจตยิตลกฺขณํ. พึงทราบว่า ท่านแสดงสังขารขันธ์โดยยกเจตนาเป็นประธาน เพราะเจตนาเป็นประธานในสังขารขันธ์ที่จำแนกเป็นเจตสิก ๕๐ ดวง ท่านจึงแสดงลักษณะของเจตนาว่าเป็นลักษณะของสังขารขันธ์ - มูลฏีกา),

วิญญาณขันธ์ จัดไว้โดยเป็น ๑ ขันธ์ โดยลักษณะที่รู้อารมณ์ (วิชานนลกฺขณํ).

ด้วยเหตุนี้ รูปขันธ์ เมื่อจะต่างจากขันธ์อื่นๆ  กับเวทนาขันธ์เป็นต้นจนถึงวิญญาณขันธ์ ชื่อว่า ย่อมต่างโดยลักษณะ.   แม้เวทนาขันธ์เป็นต้นก็มีนัยนี้.

***

(๓) ความต่างกันโดยหน้าที่ คือ

ธรรมอย่างเดียวกัน แต่ยังมีที่ต่างกัน นอกจากโดย ๒ ประการข้างต้นแล้ว ยังต่างกันโดยกิจอีก ฉะนั้น ในนิทเทส ทรงแสดงธรรมเหล่านั้นที่ต่างกันโดยกิจ เพื่อแสดงว่าเป็นธรรมเดียวกันในอุทเทสนั้น เช่น

ความเพียรอย่างเดียวพบในฐานะทั้ง ๔ อย่างตามความต่างกันโดยหน้าที่ในพระบาลีว่า

               จตฺตาโร สมฺมปฺปธานา. อิธ ภิกฺขุ อนุปฺปนฺนานํ ปาปกานํ อกุสลานํ ธมฺมานํ อนุปฺปาทาย ฯเปฯ จิตฺตํ ปคฺคณฺหาติ ปทหติ. (อภิ.วิ. ๓๕/๓๙๐; ที.ม. ๑๒/๔๐๒)

               “สัมมัปปธาน ๔ คือ ภิกษุในศาสนานี้ ทำฉันทะให้เกิด ประคองจิตไว้ ทำความเพียร ฯลฯ เพื่อป้องกันบาปอกุศลธรรมที่ยังมิเกิดมิให้เกิดขึ้น

               จะเห็นได้ว่า วิริยะที่มาโดยบทว่า สัมมัปปธาน แม้จะเป็นวิริยเจตสิกเช่นเดียวกัน แต่มีกิจหรือหน้าที่ต่างกัน คือ เพียรละ, เพียรป้องกันมิให้เกิด, เพียรสร้าง, เพียรรักษาให้ไม่ให้เสื่อม.

***

(๔) ความต่างกันโดยการปฏิเสธ[๒]

การปฏิเสธ หมายถึง ความต่างกันโดยเป็นธรรมที่ใช้ปฏิเสธธรรมฝ่ายตรงข้าม  เช่น  

               จตฺตาโร อสทฺธมฺมา. โกธครุตา น สทฺธมฺมครุตา, มกฺขครุตา น สทฺธมฺมครุตา, ลาภครุตา น สทฺธมฺมครุตา, สกฺการครุตา น สทฺธมฺมครุตา. (อํ.จตุ.๓๑/๔๔)

               “อธรรม ๔ ประการ คือ

               .ความเป็นผู้หนักในความโกรธ มิใช่เป็นผู้หนักในสัทธรรม

               .ความเป็นผู้หนักในความลบหลู่ มิใช่หนักในสัทธรรม

               .ความเป็นผู้หนักในลาภ มิใช่หนักในสัทธรรม

               .ความเป็นผู้หนักในสักการะ มิใช่หนักในสัทธรรม

     จะเห็นได้ว่า อสัทธรรมนั้น โดยภาพรวมคือ ธรรมของอสัตบุรุษ หรือ ธรรมอันไม่สงบ หรือธรรมที่ไม่ใช่สัทธรรม ก็จริง แต่ยังแตกต่างกันโดยการปฏิเสธความเป็นผู้หนักในสัทธรรมที่แยกออกเป็น ๔ มีความหนักในความโกรธเป็นต้น.

***

อนึ่ง แม้ในผัสสะเป็นต้น ความต่างกัน ๔ อย่างเหล่านี้มีความเป็นไป ดังนี้    

ความต่างกันโดยชื่อ

คำว่า ผสฺโส เป็นชื่อของผัสสะ ฯลฯ คำว่า จิตฺตํ เป็นชื่อของจิต

ความต่างกันโดยลักษณะ

ผัสสะมีสภาพกระทบสัมผัส เวทนามีสภาพเสวยอารมณ์ สัญญามีสภาพหมายรู้อารมณ์ เจตนามีสภาพตั้งใจ จิตมีสภาพรู้อารมณ์

ความต่างกันโดยกิจ

ผัสสะมีหน้าที่กระทบสัมผัส เวทนามีหน้าที่เสวยอารมณ์ สัญญามีหน้าที่หมายรู้อารมณ์ เจตนามีหน้าที่ตั้งใจ จิตมีหน้าที่รู้อารมณ์

ความต่างกันโดยการปฏิเสธ เช่น

อโลโภ ความไม่โลภ

อลุพฺภนา กิริยาที่ไม่โลภ

อลุพฺภิตตฺตํ​

ความเป็นผู้ไม่โลภ

เกี่ยวกับความต่างกันโดยการปฏิเสธในที่นี้  จะเห็นได้ว่า

อโลโภ อลุพฺภนา อลุพฺภิตตฺตํ​ (ความไม่โลภ กิริยาที่ไม่โลภ ความเป็นผู้ไม่โลภ) ต่างจากข้อความที่กล่าวไว้ก่อนหน้าที่ว่า โลโภ ลุพฺภนา ลุพฺภิตตฺตํ​ (ความโลภ กิริยาที่โลภ ความเป็นผู้โลภ)]  โดยปฏิเสธความโลภเป็นต้นว่า อโลภะ ได้แก่ ความไม่โลภ ดังนี้เป็นต้น.

 

***

 

. อปรทีปนา (ไวพจน์)

คัมภีร์อรรถกถาเรียกไวพจน์ว่า อปรทีปนา คือ การแสดงด้วยคำไวพจน์อื่น ซึ่งเป็นไปใน ๒ รูปแบบ

(๑) ปทัตถุติ การแสดงเนื้อความของบท คือ เป็นคำแสดงการขยายความของบทอุทเทส

(๒) ทัฬหีกรรม เป็นคำพูดย้ำ

ซึ่งทั้ง ๒ รูปแบบนี้ เป็นการแสดงนิทเทสโดยใช้ไวพจน์ ซึ่งจะต่างโดยเพิ่มอุปสรรค เพิ่มภาวปัจจัย เพื่อแสดงความเป็นธรรมชาติหรือเหตุแห่งจิตที่มีลักษณะตามเจตสิก และ เนื้อความคือ องค์ธรรม

 ใน ๒ รูปแบบของอปรทีปนานั้น  คือ

(๑) การแสดงเนื้อความของบท หมายความว่า เป็นการแสดงเนื้อความของบทอุทเทสด้วยบทอื่น นั่นก็คือ ใช้อีกคำหนึ่งที่มีควาหมายใกล้เคียงกัน ใช้แทนกันได้ อาจทำให้เข้าใจอุทะทสได้ง่ายกว่า ดังนั้น ไวพจน์ในลักษระเช่นนี้เรียก่า ปทัตถุติ[๓] เช่น ในบทอุทเทสว่า ผสฺโส ซึ่งมีนิทเทสว่า   ผสฺโส (ผัสสะ) ผุสนา (การกระทบ) สมฺผุสนา (การกระทบเมื่อประจวบกับอารมณ์) สมฺผุสิตตฺตํ​ (ภาวะของจิตที่กระทบเมื่อประจวบกับอารมณ์) ดังนี้นั้น นิทเทสเหล่านั้น แต่ละคำถือเป็นไวพจน์ของกันและกัน และตั้งอยู่ในฐานะที่ใช้กล่าวเนื้อความของอุทเทสว่า ผสฺโส ด้วยกันทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้ การใช้บทว่า ผสฺโส, ผุสนา เป็นต้น อธิบายบทอุทเทสว่า ผสฺโส จึงเรียกว่า ปทัตถุติ แสดงเนื้อความของบทด้วยบทอื่น

อรรถกถาอัฏฐสาลีนี พรรณนาไว้ชัดเจน ใคร่ขอนำมาแสดงไว้เสียเลย

การแสดงเนื้อความของบท คือ เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสว่า ผสฺโส (ผัสสะ)เพียงครั้งเดียว เหมือนการกดปลายไม้เท้าลง[เพื่อจับงู] บทดังกล่าวยังไม่ชื่อว่ามีการตกแต่งประดับประดาแล้ว ต่อเมื่อตรัสหลายคำว่า ผสฺโส (ผัสสะ) ผุสนา (การกระทบ) สมฺผุสนา (การกระทบเมื่อประจวบกับอารมณ์) สมฺผุสิตตฺตํ​ (ภาวะของจิตที่กระทบเมื่อประจวบกับอารมณ์) โดยเนื่องด้วยศัพท์ บทอุปสรรค และเนื้อความ จึงชื่อว่ามีการตกแต่งประดับประดาแล้ว เปรียบเหมือนพี่เลี้ยงอาบน้ำให้กุมารแล้วเอาผ้าที่ชอบใจห่ม แล้วเอาดอกไม้ประดับทาขอบตา ต่อจากนั้นก็เอาหรดาลเจิมหน้าผากของกุมารนั้นเพียงจุดเดียว เพียงเท่านี้เขายังไม่ชื่อว่ามีรอยเจิมที่สวยงาม แต่เมื่อพี่เลี้ยงเอาสีหลากหลายมาเจิมล้อม จึงชื่อว่ามีรอยเจิมที่สวยงาม พึงทราบอุปไมยนี้ ฉันนั้น.

(๒) การพูดย้ำ (ทัฬหีกรรม)

การพูดย้ำในที่นี้ ได้แก่ การนำบทอุทเทสนั้นเองมาพูดย้ำ หรือ พูดซ้ำ โดยศัพท์ บทอุปสรรคและเนื้อความ เพื่อเป็นเครื่องประดับเทศนาให้วิลาศและเพื่อแสดงความเอื้อเฟื้อต่อผู้รับฟังเทศนา ถึงบทไวพจน์นั้นจะไม่มีความต่างกันแห่งเนื้อความ ดังข้อความในมูลฏีกาและอนุฏีกาว่า

อตฺถวิเสสาภาเวปิ อาภรณวเสน จ อาทรวเสน จ ปุน วจนํ ทฬฺหีกมฺมํฯ (มูลฏีกา)

ถึงแม้จะไม่มีความต่างกันแห่งเนื้อความ (ของไวพจน์) การตรัสซ้ำอีก โดยเนื่องด้วยเป็นบทประดับและเอื้อเฟื้อ ก็ชื่อว่า ทัฬหีกรรม (การพูดย้ำ).

 และอาทรวเสน โสตูนํฯ (อนุฏีกา)

โดยเนื่องด้วยความเอื้อเฟื้อ คือ เอื้อเฟื้อต่อผู้ฟัง

เกี่ยวกับเรื่องนี้ คัมภีร์อรรถกถาธรรมสงคณีพรรณนาว่า

การพูดย้ำ คือ การพูดซ้ำกันโดยศัพท์ บทอุปสรรค และเนื้อความ เหมือนเมื่อกล่าวว่า อาวุโส (ผู้มีอายุ) ก็ดี ภันเต (ท่านผู้เจริญ) ก็ดี ยักษ์ก็ดี งูก็ดี ไม่ชื่อว่าพูดย้ำ แต่เมื่อกล่าวว่า อาวุโสอาวุโส ภันเตภันเต ยักษ์ยักษ์ งูงู จึงชื่อว่าพูดย้ำ ฉันใด เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ผสฺโส (ผัสสะ) เพียงครั้งเดียว เหมือนการกดปลายไม้เท้าลง[เพื่อจับงู] บทดังกล่าวยังไม่ชื่อว่าพูดย้ำ ต่อเมื่อตรัสหลายคำว่า ผสฺโส (ผัสสะ) ผุสนา (การกระทบ) สมฺผุสนา (การกระทบเมื่อประจวบกับอารมณ์) สมฺผุสิตตฺตํ​ (ภาวะของจิตที่กระทบเมื่อประจวบกับอารมณ์) โดยเนื่องด้วยศัพท์ บทอุปสรรค และเนื้อความ จึงชื่อว่าพูดย้ำ

***

บทสรุป

เมื่อทรงแสดงบทอุทเทสว่า  กตโม ตสฺมิํ สมเย ผสฺโส โหติ? ผัสสะ มีในสมัยนั้น เป็นไฉน? ดังนี้ แล้วจึงทรงแสดงบทนิทเทสว่า โย ตสฺมิํ สมเย ผสฺโส ผุสนา สํผุสนา สํผุสิตตฺตํ ผัสสะ,  การกระทบ,  การกระทบเมื่อประจวบกับอารมณ์,  ภาวะของจิตที่กระทบเมื่อประจวบกับอารมณ์ ในสมัยนั้น อันใด

ข้อความในนิทเทสนั้น แม้จะถูกจำแนกโดยศัพท์ (พฺยญฺชนวเสน), โดยอุปสรรค (อุปสคฺควเสน), โดยเนื้อความ (อตฺถวเสน), แม้จะต่างกันโดยชื่อ (นามนานตฺต) โดยลักษณะ (ลกฺขณนานตฺต) โดยกิจ (กิจฺจนานตฺถ) โดยการปฏิเสธ (ปฏิกฺเขปนานตฺต) และแม้จะเป็นการแสดงด้วยไวพจน์อื่น โดยการแสดงเนื้อความของบท (ปทัตถุติและการพูดย้ำ (ทัฬหีกรรม) ดังได้บรรยายมานั้น ก็ยังคงได้แก่ ผสฺโส นั่นเอง เพราะทรงสรุปในตอนท้ายว่า

อยํ ตสฺมิํ สมเย ผสฺโส โหติฯ  นี้ชื่อว่า ผัสสะมีในสมัยนั้น.

สมดังพระอรรถกถาจารย์สรุปความว่า           

พระดำรัสว่า อยํ ตสมึ สมเย ผสฺโส โหติ (ผัสสะนี้ย่อมมีในสมัยนั้น) หมายความว่า กามาวจรมหากุศลจิตดวงที่ ๑ ย่อมเกิดขึ้นในสมัยใด ธรรมที่ชื่อว่าผัสสะนี้ย่อมมีในสมัยนั้น.

เมื่อเข้าใจเหตุ ๓ ประการ ความต่างกัน ๔ ประการและการใช้ไวพจน์ใน ๒ รูปแบบนี้แล้ว ก็จะทำให้ศึกษาธัมมสังคณีได้อย่างเข้าถึงอาโภคะหรือความประสงค์ในการจำแนกเป็นนิทเทสได้อย่างแจ่มแจ้ง.

****

การจำแนกบทในธัมมสังคณี จบ

 



[๑] การจำแนกโดยอรรถ ยังมีอีกนัยหนึ่งที่มาในมูลฏีกา คือ

ก. โดยสภาวะ  อรรถ ในที่นี้ คือ สภาวะ ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะตัวของธรรม,

ข. โดยอาการ หรือ กิริยา อรรถ ในที่นี้ คือ อาการคือกิริยาของธรรมนั้น.

ค. โดยภาวะ อรรถ ในที่นี้ คือ ภาวะ อันเป็นความเป็นธรรมนั้น  เช่น

พระผู้มีพระภาคตรัสจำแนกบทอุทเทสว่า ผสฺโส ว่า

กตโม ตสฺมิํ สมเย ผสฺโส โหติ? โย ตสฺมิํ สมเย ผสฺโส ผุสนา สํผุสนา สํผุสิตตฺตํ อยํ ตสฺมิํ สมเย ผสฺโส โหติฯ

               ผัสสะ มีในสมัยนั้น เป็นไฉน? ผัสสะ,  การกระทบ,  การกระทบเมื่อประจวบกับอารมณ์,  ภาวะของจิตที่กระทบเมื่อประจวบกับอารมณ์ ในสมัยนั้น อันใด นี้ชื่อว่า ผัสสะมีในสมัยนั้น.

บทว่า ผสฺโส เป็นการจำแนกโดยอรรถ คือ สภาวะของผัสสะ อันหมายถึง สักว่าเป็นสภาวะของผัสสะ

บทว่า ผุสนา และ สํผุสนา   เป็นการจำแนกโดยอาการคือกริยาที่กระทบอารมณ์เมื่อมาประจวบกัน

บทว่า สํผุสิตตฺตํ เป็นการจำแนกโดยอรรถคือภาวะหรือความเป็นของจิตเมื่อกระทบกับอารมณ์.

[๒] คัมภีร์มูลฏีกาอธิบายการปฏิเสธนั้น มี ๓ นัย คือ

[อสทฺธมฺมาติ อสตํ, อสนฺโต วา ธมฺมา, น วา สทฺธมฺมาติ อสทฺธมฺมาติ อสทฺธมฺมวจนียภาเวน เอกีภูโตปิ อสทฺธมฺโม โกธครุตาทิวิสิฏฺเฐน สทฺธมฺมครุตาปฏิกฺเขปนานตฺเตน นานตฺตํ คโตติ ‘‘จตฺตาโร’’ติ วุตฺตํฯ น สทฺธมฺมครุตาติ วุจฺจมานา วา อสทฺธมฺมครุตา อสทฺธมฺมครุตาภาเวน เอกีภูตาปิ โกธาทิวิสิฏฺฐปฏิกฺเขปนานตฺเตน นานตฺตํ คตาฯ ปฏิปกฺโข วา ปฏิกฺขิปียติ เตน, สยํ วา ปฏิกฺขิปตีติ ปฏิกฺเขโปติ วุจฺจตีติ สทฺธมฺมครุตาปฏิกฺเขปนานตฺเตน อสทฺธมฺมครุตา อสทฺธมฺมา วา นานตฺตํ คตาฯ]

๑) การปฏิเสธ หมายถึง ในธรรมที่เป็นองค์รวม ก็ยังมีความต่างกันกับธรรมที่เป็นองค์รวมอีกอย่างหนึ่ง เช่น

อสัทธรรม แม้จะเป็นธรรมที่มีความเป็นอันเดียวกัน โดยความหมายว่า เป็นธรรมของอสัตบุรุษ เป็นต้น ก็ยังต่างกัน โดยความต่างกันคือการปฏิเสธความหนักในสัทธรรมที่เจาะจงเอาความหนักในความโกรธเป็นต้น.

๒) การปฏิเสธ หมายถึง ในระหว่างธรรมที่ใช้ปฏิเสธ ต่างฝ่ายก็เป็นอีกอย่างหนึ่งไม่เหมือนกัน เช่น

ความหนักในอสัทธรรม ถึงจะเป็นธรรมเดียวกัน แต่ก็ต่างกันโดยการปฏิเสธความหนักในอสัทธรรมอย่างอื่นโดยความโกรธเป็นต้น (คือ ในบรรดาอสัทธรรมครุตา ๔ ที่เป็นโกธครุตา ก็ปฏิเสธอสัทธรรมครุตาที่เป็นมักขครุตา เป็นต้น)

๓) การปฏิเสธ หมายถึง ความต่างกันโดยเป็นธรรมที่ใช้ปฏิเสธธรรมฝ่ายตรงข้าม  เช่น

ความหนักในอสัทธรรม  ต่างกันโดยเป็นธรรมฝ่ายปฏิเสธความหนักในสัทธรรม

ในที่นี้ยกนัยที่ ๑ มาแสดงเท่านั้น.

[๓] [คำว่า ปทตฺถุติ คัมภีร์มูลฎีกา (เล่ม ๑ หน้า ๑๑๖) อธิบายว่า ปทตฺถสฺส ปทนฺตเรน วิภาวนํ ปทตฺถุติ (การแสดงเนื้อความของบทด้วยบทอื่น ชื่อว่า ปทัตถุติ) โดยตามนัยนี้คำว่า ปทตฺถุติ มีรูปวิเคราะห์ว่า ปทตฺถสฺส ถุติ ปทตฺถุติ (ลบ อตฺถ ศัพท์เพื่อย่อคำ)]