วันพฤหัสบดีที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

อภิธัมมาวตารพร้อมทั้งฎีกา (๕)

อภิธัมมาวตารพร้อมทั้งฎีกา (๕)
คาถาที่ ๙ แสดงวจนัตถะของคำว่า จิต อีกนัยหนึ่ง.
******
๙. อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า จิต เพราะมีการกระทำที่วิจิตร (หรือเพราะกระทำสิ่งที่วิจิตร) อีกอย่างหนึ่ง จิต เพราะความที่ตนเองวิจิตร. วิญญูชนพึงเห็นใช้ในสมมุติว่า จิต แม้ในบัญญัติ ในวิญญาณ ในงานจิตรกรรมอันวิจิตร. ในอธิการนี้ พึงเห็นใช้ในวิญญาณ.
----
คำอธิบายจากฎีกา
อธิบายคำว่า จิต ได้แก่ ธรรมชาติที่มีการกระทำอันวิจิตร หรือ เพราะกระทำสิ่งที่วิจิตร
[คำว่า เพราะมีการกระทำที่วิจิตร ได้แก่ ธรรมชาติที่กระทำให้วิจิตร, หรือเป็นเครื่องกระทำสิ่งที่วิจิตร. หมายความว่า เพราะเป็นธรรมที่สร้างการงานต่าง ๆ มีจิตรกรรมเป็นต้นให้วิจิตร. จริงอยู่ การงานที่เป็นวิจิตรศิลป์ต่าง ๆ มีจิตรกรรมเป็นต้นใด ๆ ในโลกทั้งหมด อันบุคคลคิดแล้วด้วยจิตนั่นแล กระทำอยู่. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอเห็นลวดลายอันวิจิตรหรือไม่ ? พวกภิกษุกราบทูลว่า เห็นแล้วพระเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ลวดลายอันวิจิตรนั่นแล อันจิตนั่นเทียวคิดแล้ว” [1]ดังนี้. ความหมายของจิตอย่างนี้ ได้แก่ จิต ๓๒ดวง [2] ที่เป็นไปกับวิญญัติ.
อีกอย่างหนึ่ง กุศลและอกุศล ที่เป็นไปกับอาสวะ ชื่อว่า จิต คือ เป็นธรรมที่มีการกระทำอันวิจิตร เพราะสร้างคติเป็นต้น [3] ที่วิจิตร. หรือ ชื่อว่า จิต เพราะมีความหมายว่าเป็นเครื่องกระทำสิ่งที่วิจิตร.
ท้วงว่า สิ่งที่วิจิตรต่าง ๆ มีคติเป็นต้น อันวิจิตร ย่อมสำเร็จด้วยอำนาจกรรมมิใช่หรือ? ความข้อนี้สมดังที่พระอรรถกถาจารย์กล่าวไว้ว่า ความต่างกันแห่งคติของสัตว์ทั้งหลาย คือ สัตว์ที่ไม่มีเท้า มี ๒ เท้า มีเท้ามาก มีรูป ไม่มีรูป มีสัญญา ไม่มีสัญญา มีสัญญาก็มิใช่ไม่มีสัญญาก็มิใช่ ย่อมปรากฏเพราะอาศัยความต่างกันแห่งกรรม. ความต่างกันแห่งความอุบัติของสัตว์ทั้งหลายคือ ความสูงต่ำ เลวประณีต ไปสู่สุคติและทุคติ ย่อมปรากฏ เพราะอาศัยกรรมที่ต่างกัน. ความต่างกันในอัตภาพของสัตว์ทั้งหลาย คือ ความเป็นผู้มีผิวพรรณงามและผิวพรรณทราม ความเป็นผู้มีชาติดีและไม่ดี ความเป็นผู้มีทรวดทรงดีและไม่ดี ย่อมปรากฏเพราะอาศัยกรรมที่ต่างกัน. ความต่างกันในโลกธรรมของสัตว์ทั้งหลาย คือ ในความมีลาภเสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ นินทา สรรเสริญ สุขและทุกข์นี้ ย่อมปรากฏ เพราะกรรมที่ต่างกัน ดังนี้ [. เพราะเหตุนั้น ความที่ คติเป็นต้น เป็นธรรมวิจิตร ย่อมมีได้ เพราะอุบัติขึ้นโดยความต่างกันแห่งกรรม. อนึ่ง เจตนาที่เป็นเจตสิกธรรมก็ดี กรรมบถมีอภิชฌาเป็นต้น ก็ดี ท่านเรียกว่า กรรม, หาเรียกจิตว่า เป็นกรรมไม่. ฉะนั้น จิตจะทำคติเป็นต้นให้วิจิตรได้อย่างไร ?
ข้าพเจ้าจะขอกล่าวดังนี้. แม้ความที่คติเป็นต้นวิจิตร อันกรรมนั้นให้เกิดแล้ว ก็เป็นอันจิตนั้นนั่นแหละกระทำ เพราะกรรมเป็นธรรมชาติที่อาศัยจิต. เปรียบเหมือน ผู้ที่แพ้ทหารของพระราชา ก็ได้ชื่อว่า ถูกพระราชาฝ่ายศัตรูชนะ แล้ว ฉะนั้น.
--------------------------------------------
[1] คัททูลสูตรที่ ๒ ปุปผวรรค ขันธวารวรรค สังยุตตนิกาย (ล. ๒๗ น. ๓๔๓)
[2] ได้แก่ มโนทวาราวัชชนจิต ๑ กามชวนะ ๒๙ อภิญญาจิต ๒ รวม ๓๒ ดวงที่ทำให้การพูด (วจีวิญญัติ) , อิริยาบถใหญ่และอิริยาบถย่อย(กายวิญญัติ) เกิดขึ้นได้.
[3] นอกจากจิตเหล่านี้จะสร้างคติให้วิจิตรแล้ว ยังสร้าง กำเนิด, ภพ, ภูมิ, สัตตาวาสเป็นต้นให้วิจิตร อีกด้วย.
***********

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น