วันพฤหัสบดีที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

อภิธัมมาวตาร พร้อมทั้งคำอธิบายฎีกา (๓)

อภิธัมมาวตาร พร้อมทั้งคำอธิบายฎีกา (๓)
----
เนื้อความของฎีกาที่อธิบายข้อความในอภิธัมมาวตารว่า
"ชื่อว่า จิต เพราะอรรถว่า คิด (คือ รู้อารมณ์) โดยเกี่ยวกับนัยที่สงเคราะห์เอาจิตทุกดวง"
--------
คำว่า คิด ได้แก่ ย่อมรู้แจ้ง. อีกนัยหนึ่ง ชื่อว่า จิต เพราะอรรถว่า เป็นธรรมเครื่องช่วยให้สัมปยุตตธรรม ได้รู้โคจรธรรม (คืออารมณ์). คำนิยาม แบบนี้เป็นกรณะ เพราะมีการยกสัมปยุตตธรรมนั้นเป็นประธาน.
คำว่า โดยเกี่ยวกับนัยที่สงเคราะห์เอาจิตทุกดวง หมายความว่า โดยเกี่ยวกับนัยที่สงเคราะห์ (คือรวบรวมเอา) จิตทุกดวงเหล่านั้นทีเดียว เพราะหากจะกำหนดจิตโดยต่ำสุดนับตั้งแต่จักขุวิญญาณเป็นต้นแล้ว จิตทุกดวงก็มีการรู้อารมณ์เป็นสภาวะ, แต่ว่า มิใช่โดยเกี่ยวกับนัยที่ถือเอาตามที่ได้ เหมือนในวจนัตถะที่จักกล่าวต่อไป.
อนึ่ง ความที่จิตนั้นมีการได้มาซึ่งอารมณ์เป็นลักษณะ ท่านอาจารย์ได้กล่าวแล้วด้วยคำนิยาม ว่า มีการคิดอารมณ์เป็นลักษณะ ดังนี้แล้ว เพราะเหตุนั้น บัดนี้ ข้าพเจ้า (พระอาจารย์สุมังคละ) จะกล่าวถึงอาการที่เหลือมีสัมปัตติรสเป็นต้นแห่งจิตนั้น.
ก็ จิตนั้นมีความถึงก่อน เป็นรส (สัมปัตติรส ได้แก่ คุณสมบัติ). ด้วยว่า จิตเป็นธรรมชาติที่ถึงก่อน คือ ออกหน้า เพราะมีการทำอารมณ์นั้นๆ อันถึงทวารนั้น ให้แจ้งเป็นสภาวะ. (คำว่า ถึงก่อน คือ เป็นประธานในการรู้อารมณ์เหล่านั้นของสัมปยุตธรรม).
เป็นความจริงว่า บุคคลย่อมรู้รูปารมณ์ ที่จะพึงเห็นได้ทางจักขุทวาร ก็ด้วยจิตเท่านั้น ฯลฯ ย่อมรู้ธรรมารมณ์ที่พึงทราบได้ทางมโนทวาร ก็ด้วยจิตเท่านั้น.
จิตก็เปรียบได้กับคนเฝ้าเมือง (ยาม) นั่งที่สี่แยกกลางนคร พิจารณาผู้คนที่ไปมาอยู่ว่า คนนี้เป็นชาวเมือง คนนี้เป็นคนต่างถิ่น ดังนี้.
คำอุปไมยก็พึงเห็นเช่นนี้ เพราะเหตุนั้น จิตจึงมีการถึงก่อนเป็นรส เพราะอรรถว่า เป็นธรรมชาติออกหน้า โดยความว่าทำอารมณ์นั้นที่ถึงทวารให้แจ้ง.
จิตนั้น ย่อมปรากฏ คือ ถึงภาวะที่ถือเอาได้ว่าเป็นธรรมชาติเหมือนกับว่า จิตดวงที่เกิดก่อนๆ ทำจิตดวงหลังๆให้เกิดในลำดับติดต่อกัน เป็นไปอยู่ไม่ขาดสาย เหตุนั้น จิตจึงมีการสืบต่อกันเป็นปัจจุปัฏฐาน. (คือ จิต เมื่อเกิดย่อมแสดงอาการเช่นนี้ให้ปรากฏแก่ญาณของพระโยคี).
นามและรูปย่อมเป็นปทัฏฐานแก่จิตนั้น ในปัญจโวการภพ โดยกำหนดแน่นอน, แต่ในจตุโวการภพ มีเพียงนามเท่านั้น เป็นปทัฏฐานแก่จิตนั้น เหตุนั้น จิต จึงชื่อว่า มีนามรูปเป็นปทัฏฐาน. (เป็นเหตุใกล้หรือเหตุพิเศษ).
นักศึกษาพึงทราบความต่างกันแห่งอาการมีลักษณะเป็นต้น ก็โดยนัยที่ท่านจักกล่าวต่อไป.
จริงอย่างนั้น ท่านอาจารย์จักกล่าวไว้ในปริจเฉทที่ว่าด้วยรูปวิภาคข้างหน้า ว่า
“ ท่านแสดงไว้ว่า อาการที่เสมอเหมือนกันก็ดี
สภาวะก็ดี แห่งธรรมทั้งหลาย เรียกว่า ลักษณะ. กิจหรือว่า
สมบัติแห่งกิจนั้น ท่านบอกว่า รส, ผลหรือนัยที่ปรากฏ
เรียกว่า ปัจจุปัฏฐาน, ส่วนว่า สิ่งที่เป็นเหตุใกล้ให้เกิด อันใด
สิ่งนั้น ได้ชื่อว่า ปทัฏฐาน” ดังนี้.
*****

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น