วันอาทิตย์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2564

บทสรุป "มิลินทปัญหา"

 

บทสรุป "มิลินทปัญหา"

ปถวิจลนปัญหา

เมณฑกวรรค

****

ปัญหานี้ปรารภข้อซักถามของพระเจ้ามิลินท์ที่มีต่อพระนาคเสนเถระ ในหัวข้อที่ว่า ในพระสูตรอื่น เช่น มหาปรินิพพานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค พระผู้มีพระภาคตรัสถึงเหตุแห่งแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ไว้ ๘ ประการด้วยกัน คือ (๑) มหาปฐพีนี้ตั้งอยู่บนน้ำ น้ำตั้งอยู่บนลม ลมตั้งอยู่บนอากาศ   สมัยที่ลมใหญ่พัด เมื่อลมใหญ่พัดอยู่ย่อมยังน้ำให้ไหว.  ครั้นน้ำไหวแล้ว จึงทำแผ่นดินให้ไหว. (๒) สมณะหรือพราหมณ์ผู้มีฤทธิ์ ยังแผ่นดินนี้ให้สะเทือนสะท้าน หวั่นไหวได้. (๓) เมื่อพระโพธิสัตว์จุติจากชั้นดุสิตหยั่งลงสู่พระครรภ์พระมารดา. (๔) เมื่อพระโพธิสัตว์ประสูติจากพระครรภ์พระมารดา. (๕) เมื่อพระตถาคตตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ. (๖) เมื่อพระตถาคตให้อนุตรธรรมจักรเป็นไป ในคราวแสดงปฐมเทศนา (๗) เมื่อพระตถาคตมีพระสติสัมปชัญญะ ทรงปลงอายุสังขาร. (๘) เมื่อพระตถาคตปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ" ดังนี้ไว้แม้ก็จริง แต่กระนั้น ในพระบาฬีจริยาปิฎกกลับมีปรากฏการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ไม่แพ้กับ ๘ ครั้งที่มาในที่นั้นเลย คือ ในคราวที่พระเวสสันดรทรงถวายมหาทาน ๕  

พระเจ้ามิลินท์ทรงถือ ว่า ๒ กรณีนี้ ขัดแย้งกัน เพราะถ้าการที่ตรัสไว้ ๘ ครั้ง  ไม่มากไม่น้อยกว่านี้   หากมีครั้งที่ ๙ ก็จะต้องตรัสไว้ด้วย แสดงให้เห็นว่า การเกิดแผ่นดินไหวมีได้เพราะเหตุ ๘ เท่านั้น การตรัสไว้ที่อื่นอีก ก็ผิด แต่ถ้าพบปรากฏการณ์นี้ในที่อื่นอย่างในคราวที่พระเวสสันดรถวายมหาทาน แสดงว่าในมหาปรินิพพานสูตรนั้นผิด. ความต่างกันนี้จะต้องมีเหตุผลในการที่ไม่นับเหตุที่ ๙ ไว้ในมหาปรินิพพานสูตรนั้น

พระนาคเสนให้เหตุผลไว้สรุปว่า การที่ตรัสไว้เพียง ๘ เหตุ เพราะเป็นเหตุที่มีประจำ มีอยู่เสมอ มีอยู่บ่อยๆ แต่เหตุที่เกิดจากการถวายมหาทานของพระเวสสันดรนั้น ไม่มีประจำ เกิดขึ้นได้เป็นบางคราว คือ เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวเท่านั้นในโลกนี้.

 

ในคำตอบนั้น แบ่งประเด็นออกเป็น ๕ คือ

๑. การไม่นับการถวายมหาทานเป็นที่ ๙ รวมอยู่ในเหตุแผ่นดินไหว ๘.

กรณีนี้ สืบเนื่องมาจากเหตุ ๘ ประการนั้นเป็นเหตุประจำเกิดขึ้นได้เนืองๆ ส่วนเมื่อพระราชาเวสสันดรทรงให้มหาทาน แผ่นดินใหญ่ได้ไหวถึง ๗ ครั้งใด ข้อนี้มิได้มีอยู่เป็นประจำตลอดกาล เกิดขึ้นเป็นบางครั้งบางคราว ซึ่งพ้นไปากเหตุ ๘ อย่าง พระผู้มีพระภาคจึงไม่ทรงนับเหตุข้อนั้นรวมเข้ากับเหตุ ๘ อย่าง มีอุปมาให้เห็นได้ชัดอยู่  ๓ ประเด็น

๑.๑ คนทั้งหลายย่อมนับฝนไว้ ๓ ประเภทเท่านั้น คือ ฝนฤดูฝน ฝนฤดูหนาว ฝนปาวุสกะ ถ้าหากว่ามีฝนประเภทอื่นนอกเหนือจากฝน ๓ ประเภทที่ได้รับรู้กันแล้ว ย่อมถึงความนับว่า เป็นฝนนอกฤดูนั่นเทียว.

๑.๒ แม่น้ำ ๕๐๐ สาย ไหลมาแต่ภูเขาหิมพานต์ ขอถวายพระพร บรรดาแม่น้ำ ๕๐๐ สายเหล่านั้น เมื่อจะมีการนับจำนวนแม่น้ำกัน คนทั้งหลายย่อมนับแม่น้ำไว้เพียง ๑๐ สายเท่านั้น คือ () คงคา () ยมุนา () อจิรวดี () สรภู () มหี () สินธุ () สุรัสวดี () เวตรวดี () อีตังสา () จันทภาคา ในการนับจำนวนแม่น้ำ เขามิได้นับแม่น้ำที่เหลือด้วย เพราะเหตุไร เพราะเหตุว่า แม่น้ำเหล่านั้นมิได้มีน้ำอยู่เป็นประจำ

๑.๓ พระราชาจะทรงมีอำมาตย์อยู่ ๑๐๐ คน ก็ตาม ๒๐๐ คน ก็ตาม ๓๐๐ คน ก็ตาม เมื่อจะมีการนับจำนวนอำมาตย์เหล่านั้นกัน ย่อมนับเอาชนเพียง ๖ คนเท่านั้น คือ () เสนาบดี () ปุโรหิต () ผู้พิพากษา () ขุนคลัง () คนถือฉัตร () คนถือพระขรรค์ ชน ๖ คนนี้เท่านั้น ที่เขานับไว้ในการนับจำนวนอำมาตย์ เพราะเหตุไร เพราะเป็นผู้ประกอบด้วยพระราชคุณ ไม่นับชนที่เหลือด้วย ชนที่เหลือทุกคน ย่อมถึงความนับว่าเป็นอำมาตย์เท่านั้น.

 

๒. เหตุที่ทำให้แผ่นดินไหวอันสืบเนื่องมาจากการถวายมหาทาน.

กรณีนี้ พระนาคเสนอ้างถึงบุญญาธิการของบุคคล ๒ ประเภทแม้จะยิ่งใหญ่ ฟุ้งขจรไปในหมู่มนุษย์และเทวดาแต่ไม่อาจทำให้แผ่นดินไหวได้เหมือนอย่างบุญคือการถวายทานใหญ่ ๕ ประการนั้น ดังนี้  คือ

๒.๑ กลุ่มบุคคล ๗ ที่เป็นผู้สร้างบุญญาธิการไว้ แล้วได้ทำกรรมที่อาจเสวยผลเป็นสุขในอัตภาพนี้ คือ (๑) นายสมนช่างจัดระเบียบดอกไม้ (๒) เอกสาฎกพราหมณ์  (๓) นายปุณณะ ลูกจ้าง (๔) พระนางมัลลิกาเทวี (๕) พระนางโคปาลมาตาเทวี (๖) นางสุปิยาอุปาสิกา (๗) นางปุณณทาสี.

๒.๒ กลุ่มบุคคล ๔ ที่ทำแต่สุจริตไม่ทำทุจริตติดต่อมาเนิ่นนาน แล้วเป็นผู้ไปภพดาวดึงส์ด้วยสรีระร่างกายที่ยังเป็นของมนุษย์นั่นเทียว ในครั้งอดีตกาล คือ () พระเจ้าคุตติลคันธัพพราชา () พระเจ้าสาธีนราชา () พระเจ้านิมิราชา () พระเจ้ามันธาตุ

กลุ่มบุคคลทั้ง ๒ นี้ไม่ว่าจะเป็นอดีตหรือปัจจุบัน แม้พระนาคเสนเองก็ไม่ได้ยินได้ฟังมาก่อนเช่นเดียวกับพระเจ้ามิลินท์ ต่างจากกรณีของพระเวสสันดร

อนึ่ง การที่แผ่นดินใหญ่หวั่นไหว เพราะความเพียรเพียงเท่านั้น เพราะความพยายามเพียงเท่านั้น เช่นเดียวกับการทำบุญญาธิการ แต่แผ่นดินใหญ่ หากเพียบหนักด้วยคุณธรรม เพียบหนักด้วยคุณที่พึงกระทำด้วยจิตที่สะอาดโดยประการทั้งปวงแล้ว ก็ไม่อาจที่จะทรงตัวอยู่ได้ ย่อมสั่น ย่อมไหว ย่อมคลอนแคลนไป.   มีอุปมาพอให้เห็นปรากฏการณ์นั้นอยู่ ๒ แนวทาง คือ

ก. เกวียนที่บรรทุกของหนักเกินไป ดุมก็ดี กงก็ดี ย่อมฉีกอ้าออก เพลาก็ย่อมหักไป

ข. ท้องฟ้า ที่ถูกกระแสลมแรงจัด บดบัง เพียบหนักด้วยลม และเมฆฝนที่หนาแน่น  ย่อมบรรลือเสียง ย่อมเปล่งเสียงดังครืน ๆ สนั่นไปเพราะถูกลมแรงจัดตีกระหน่ำ

กรณีนี้เป็นของพระเวสสันดรเท่านั้น ซึ่งครั้นทรงกระทำบุญญาธิการคือทรงบริจาคมหาทาน ๕ ประการนั้นแล้ว แผ่นดินใหญ่อดทนไม่ได้ ต้องสั่นไหว ดังกล่าวมานั้น.

 

๓. คำพรรณนาคุณของพระเวสสันดรจากพระนาคเสน

พระนาคเสนพรรณนาคุณของพระเวสสันดรผู้ทรงประพฤติคล้อยตามธรรม ผู้ทรงมีธรรมเป็นพระเศียรนั้น เป็นอเนกปริยาย ดังนี้

๓.๑. พระทัยมิได้เป็นไปด้วยอำนาจแห่งกิเลสคือราคะ โทสะ โมหะ มานะ มิจฉาทิฏฐิ มิจฉาวิตก อรติ แต่อย่างใดเลย ทว่า ย่อมเป็นไปมากด้วยอำนาจแห่งทาน ทรงตั้งพระทัยเฉพาะจะให้ทานเป็นประจำสม่ำเสมอว่า คนผู้จะขอ ซึ่งยังไม่มา ไฉนจะพึงมาในสำนักของเราได้หนอ ทั้งคนผู้จะขอซึ่งมาถึงแล้ว ไฉนจะได้ตามที่ต้องการจนพอใจเล่า

๓.๒. พระหฤทัยเป็นธรรมชาติที่ตั้งอยู่เป็นประจำสม่ำเสมอในฐานะ ๑๐ คือ () ในความฝึก () ในความสม่ำเสมอ () ในความอดกลั้น () ในความสำรวม () ในความยับยั้งชั่งใจ () ในความกำหนดแน่นอน () ในความไม่โกรธ () ในความไม่เบียดเบียน () ในสัจจะ (๑๐) ในความเป็นธรรมชาติสะอาด

๓.๓. ทรงเลิกละการแสวงหากาม ทรงระงับการแสวงหาภพ ทรงถึงความขวนขวายในการแสวงหาพรหมจรรย์เท่านั้น

๓.๔. ทรงเลิกละการรักษาตนเอง ทรงถึงความขวนขวายในการรักษาสัตว์ทั้งปวง พระหฤทัยเป็นไปมากอย่างนี้ว่า สัตว์เหล่านี้จะพึงเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน เป็นผู้ไม่มีโรค เป็นผู้มีทรัพย์ มีอายุยืนได้ไฉนหนอ ดังนี้ แต่อย่างเดียว

๓.๕. เมื่อจะทรงให้ทาน ก็มิได้ทรงให้ทานนั้น เพราะทรงเห็นแก่ภพสมบัติ, ทรัพย์, การให้ตอบแทน, การทูต, อายุ, วรรณะ, ความสุข, กำลัง, ยศ, บุตร, ธิดา แต่ทว่า ทรงเห็นแก่พระสัพพัญญุตญาณ เพราะเหตุแห่งรัตนะคือพระสัพพัญญุตญาณ

๓.๖. ชนะความโกรธ ด้วยความไม่โกรธ, ชนะความไม่ดี ด้วยความดี, ชนะความตระหนี่ ด้วยทาน, ทรงชนะคำพูดเหลาะแหละ ด้วยคำสัตย์ และทรงชนะอกุศลทั้งปวง ด้วยกุศล.

 

๔. การถวายมหาทานเป็นของยิ่งใหญ่มีเพียงครั้งเดียวล้ำกว่าการถวายทานอย่างอื่น

แม้อสทิสทานที่พระเจ้าโกศลกระทำไว้ก็ยังไม่ยิ่งใหญ่เหมือนมหาบริจาค ๕ ของพระเวสสันดร บนแผ่นดินมีทานอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ ซึ่งแม้ว่าเป็นอสทิสทาน อันยอดเยี่ยม มหาทานของพระราชาเวสสันดร ย่อมกล่าวได้ว่าเป็นเลิศเกินล้ำทานทั้งหมดนั้น เปรียบเหมือนกับบนแผ่นดินมีแก้วมณีอยู่มากมายหลายอย่าง เช่น แก้วไพฑูรย์ แก้วบุษราคำ แก้วทับทิม เป็นต้น แต่แก้วมณีของพระเจ้าจักรพรรดิ ที่ส่องสว่างไปตลอดระยะทาง ๑ โยชน์ โดยรอบ กล่าวได้ว่าเป็นเลิศ เกินล้ำแก้วมณีทั้งหมดเหล่านั้น.

 

๕. อาการที่แผ่นดินใหญ่หวั่นไหวเพราะวิริยะอันมีกำลัง อันเป็นผลหลั่งไหลแห่งทาน

๕.๑ พายุใหญ่ใต้แผ่นดินก็พัดไหว ย่อมค่อย ๆ หมุนตัวเป็นเกลียว ๆ เคลื่อนไปทีละหน่อย พัดลงเบื้องต่ำ พัดขึ้นเบื้องบน ทำให้ต้นไม้ทั้งหลายมีใบขาดล้มครืนไป

๕.๒ ก้อนเมฆหนา ๆ แล่นไปบนท้องฟ้า

๕.๓ ลมหอบฝุ่นพัดไปรุนแรง ลมพัดขยี้ท้องฟ้า เกิดเป็นควันฟุ้งไปทันที เปล่งเสียงดังน่ากลัว

๕.๔ เมื่อลมเหล่านั้นกำเริบขึ้น น้ำก็ย่อมค่อยกระเพื่อมไหว

๕.๕. เมื่อน้ำกระเพื่อมไหว พวกปลาและเต่าทั้งหลายก็พล่านไป เกิดลูกคลื่นซ้อนกันเป็นชั้น ๆ พวกสัตว์น้ำทั้งหลายพากันสะดุ้งกลัว

๕.๖ กระแสคลื่นถาโถมติดเนื่องเป็นคู่ ๆ เสียงคลื่นคำรามไป ปล่อยฟองฟอดมีเสียงน่ากลัว เกิดเป็นฝ้าฟองน้ำขึ้น

๕.๗ มหาสมุทรมีระดับน้ำสูงยิ่ง น้ำไหลบ่าไปทางทิศใหญ่ทิศน้อย สายน้ำไหลบ่ายหล้าไปเบื้องบน และทวนกระแส

๕.๘ พวกอสูร ครุฑ นาค ยักษ์ทั้งหลาย พากันสะดุ้งกลัว เที่ยวถามกันว่า เกิดอะไรขึ้นหนอ ทะเลเกิดเป็นวิปริตไปได้อย่างไรหนอ ดังนี้ มีจิตขลาดกลัว เที่ยวแสวงหาหนทางจะหนีไป

๕.๙  เมื่อสายชลเกิดกำเริบปั่นป่วนขึ้นแล้ว แผ่นดินใหญ่พร้อมทั้งท้องฟ้าพร้อมทั้งทะเลก็ไหว

๕.๑๐ ภูเขาสิเนรุก็หมุนตัว หินยอดเขาก็บิดงอชี้ไปผิดทาง

๕.๑๑ สัตว์ทั้งหลาย คือ งู พังพอน แมว สุกร เนื้อ นก ทั้งหลาย พากันมีจิตวิปริต

๕.๑๒ พวกยักษ์ที่มีศักดิ์น้อยพากันร้องไห้ พวกยักษ์ที่มีศักดิ์ใหญ่กลับพากันหัวเราะบนแผ่นดินใหญ่ที่กำลังไหว

๕.๑๓ สรุปตอนท้ายว่า เมื่อพายุใหญ่เกิดกำเริบขึ้น น้ำก็กระเพื่อมไหว เมื่อน้ำกระเพื่อมไหว แผ่นดินใหญ่ก็ไหว ฉันนั้นเหมือนกัน ในเวลานั้น ของ ๓ อย่างเหล่านี้ คือ () พายุใหญ่ () น้ำ () แผ่นดินใหญ่ เป็นราวกะว่ามีใจเป็นอันเดียวกัน.

อาการของแผ่นดินไหวเปรียบได้กับข้าวที่ต้มไว้ในหม้อเดือดพล่าน

"เมื่อยกกระทะใหญ่ที่มีข้าวสารแช่น้ำเต็มขึ้นวางบนเตาไฟ ไฟที่ลุกโพลงอยู่เบื้องล่าง ย่อมทำกระทะให้ร้อนขึ้นก่อนเป็นอันดับแรก กระทะที่ร้อน ย่อมทำน้ำให้ร้อน น้ำที่ร้อนย่อมทำข้าวสารให้ร้อน ข้าวสารที่ร้อน ย่อมนูนขึ้น ย่อมบุ๋มลง เกิดเป็นฟองขึ้นมา เป็นแผ่นฟองน้ำ

ขอถวายพระพร พระราชาเวสสันดร ทรงบริจาคทานที่บริจาคกันได้ยากในโลก เมื่อพระราชาเวสสันดรนั้น ทรงบริจาคทานที่บริจาคกันได้ยากนั้นอยู่ พายุใหญ่ใต้แผ่นดินไม่อาจจะทรงตัวอยู่ได้ จึงได้เคลื่อนไหว เพราะผลที่หลั่งไหลจากสภาวะแห่งทาน เมื่อพายุใหญ่เกิดกำเริบขึ้น น้ำก็กระเพื่อมไหว เมื่อน้ำกระเพื่อมไหว แผ่นดินใหญ่ก็ไหว ฉันนั้นเหมือนกัน ในเวลานั้น ของ ๓ อย่างเหล่านี้ คือ () พายุใหญ่ () น้ำ () แผ่นดินใหญ่ เป็นราวกะว่ามีใจเป็นอันเดียวกัน ด้วยวิริยะอันไพบูลย์ มีกำลัง ซึ่งเป็นผลที่หลั่งไหลมาแต่มหาทาน ตามประการดังกล่าวมานี้ ขอถวายพระพร อานุภาพแห่งทานของบุคคลอื่น เหมือนอย่างอานุภาพแห่งมหาทานของพระราชาเวสสันดรนี้ หามีไม่.

***

ในตอนท้ายของปัญหานี้ พระเจ้ามิลินท์ยอมรับทั้งเหตุผลและอุปมาที่ช่วยส่องให้ปัญหานี้กระจ่าง หายค้างคาใจของพุทธศาสนิกชนทั้งหลายและสรรเสริญพระนาคเสนด้วยพระดำรัสว่า

"ข้อที่พระตถาคตซึ่งยังเป็นพระโพธิสัตว์อยู่ หาชาวโลกเสมอมิได้ ทรงมีขันติ  อย่างนี้ ทรงมีพระทัยคิดอย่างนี้ ทรงมีพระทัยน้อมไปอย่างนี้ ทรงมีพระประสงค์อย่างนี้ ใด นั้นจัดว่าเป็นข้อน่าอัศจรรย์สำหรับบุคคลผู้เป็นพระพุทธเจ้าทั้งหลาย จัดว่าเป็นข้อน่าประหลาดสำหรับบุคคลผู้เป็นพระพุทธเจ้าทั้งหลาย พระคุณเจ้านาคเสน ท่านได้ชี้ให้เห็นความบากบั่นของพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย ทั้งได้ส่องให้เห็นพระบารมีของพระชินวรพระพุทธเจ้าชัดเจนยิ่งขึ้นอีก ทั้งท่านได้แสดงความเป็นบุคคลผู้ประเสริฐสุดในโลกพร้อมทั้งเทวดาแห่งพระตถาคตผู้ทรงประพฤติแต่ข้อที่ควรประพฤติเท่านั้น ดีจริง พระคุณเจ้านาคเสน ที่ท่านได้ยกย่องพระศาสนาของพระชินวรพุทธเจ้า ที่ท่านได้ส่องพระบารมีของพระชินวรพุทธเจ้า เงื่อนปมคือวาทะของพวกเดียรถีย์ถูกท่านทำลายเสียได้แล้ว พงรกคือปรวาทะ ถูกทำลายเสียได้แล้ว ท่านได้ทำปัญหาที่ลึกซึ้งให้ตื้นเขินได้แล้ว ท่านได้ทำข้อที่ยุ่งเหยิง ให้หมดยุ่งเหยิง ท่านเป็นเครื่องขจัดปัดเป่าลัทธิของพวกชินบุตรทั้งหลายโดยชอบ"

หมายเหตุ คำว่า ขนติ ในที่นี้ คือ ความคิดเห็น, ความพอใจ, อัธยาศัย เพราะท่านกล่าวถึงความที่จิตน้อมไปโดยมากในการให้ทานของพระเวสสันดร จะเห็นได้ว่า คำศัพท์มี เอวํจิตฺโต เอวํอธิมุตฺติ เอวํอธิปฺปาโย ต่อจากนี้ไปเป็นไวพจน์ของขนฺติ ศัพท์นั้น แต่ในที่ทั่วไปมีความหมายว่า อดทน.

 

*****

บทสรุป "มิลินทปัญหา"

ปถวิจลนปัญหา

เมณฑกวรรค

จบ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น