วันพฤหัสบดีที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2565

เมณฑกกัณฑ์ -อเภชชวรรค - ๖. อปุญฺญปญฺโห

๖. อปุญฺญปญฺโห

. อปุญญปัญหา

ปัญหาว่าด้วยเรื่องบาป

. ‘‘ภนฺเต นาคเสน, ตุมฺเห ภณถ โย อชานนฺโต ปาณาติปาตํ กโรติ, โส พลวตรํ อปุญฺญํ ปสวตีติฯ ปุน จ ภควตา วินยปญฺญตฺติยา ภณิตํ อนาปตฺติ อชานนฺตสฺสาติฯ ยทิ, ภนฺเต นาคเสน, อชานิตฺวา ปาณาติปาตํ กโรนฺโต พลวตรํ อปุญฺญํ ปสวติ, เตน หิ อนาปตฺติ อชานนฺตสฺสาติ ยํ วจนํ, ตํ มิจฺฉาฯ ยทิ อนาปตฺติ อชานนฺตสฺส, เตน หิ อชานิตฺวา ปาณาติปาตํ กโรนฺโต พลวตรํ อปุญฺญํ ปสวตีติ ตมฺปิ วจนํ มิจฺฉาฯ อยมฺปิ อุภโต โกฏิโก ปญฺโห ทุรุตฺตโร ทุรติกฺกโม ตวานุปฺปตฺโต, โส ตยา นิพฺพาหิตพฺโพ’’ติฯ

[] มิลินฺโท ราชา พระเจ้ามิลินท์ อาห รับสั่งถามแล้ว อิติ ว่า ภนฺเต นาคเสน ข้าแต่พระนาคเสนผู้เจริญ ตุมฺเห พวกท่าน ภณถ กล่าวอยู่ อิติ ว่า โย บุคคลใด อชานนฺโต เมื่อไม่รู้ กโรติ ย่อมกระทำ ปาณาติปาตํ ซึ่งปาณาติบาต, โส บุคคลนั้น ปสวติ ย่อมได้รับ อปุญฺญํ บาป[๑] พลวตรํ มีกำลังแรงกว่า ดังนี้. อนึ่ง เอตํ วจนํ พระดำรัส นี้ อิติ ว่า อนาปตฺติ ความไม่มีแห่งอาบัติ   อชานนฺตสฺส แห่งภิกษุผู้ไม่รู้อยู่ อตฺถิ ย่อมมี[๒] ดังนี้ ภควตา อันพระผู้มีพระภาค ภณิตํ ตรัสไว้ วินยปญฺญตฺติยา ในวินัยบัญญัติ ปุน อีก ดังนี้. ภนฺเต นาคเสน ข้าแต่พระนาคเสนผู้เจริญ ยทิ ถ้าหากว่า ปุคฺคโล บุคคล อชานิตฺวา ไม่รู้แล้ว กโรนฺโต เมื่อกระทำ ปาณาติปาตํ ซึ่งปาณาติบาต ปสวติ ย่อมได้รับ อปุญฺญํ ซึ่งบาป พลวตรํ แรงกว่า, เตนหิ ถ้าเช่นนั้น ยํ วจนํ คำใด อิติ ว่า อนาปตฺติ ความไม่มีแห่งอาบัติ   อชานนฺตสฺส แห่งภิกษุผู้ไม่รู้อยู่ อตฺถิ ย่อมมี ดังนี้, ตํ วจนํ คำนั้น มิจฺฉา เป็นอันผิดไป. ยทิ ถ้าหาก อนาปตฺติ ความไม่มีแห่งอาบัติ   อชานนฺตสฺส แห่งภิกษุผู้ไม่รู้อยู่ อตฺถิ ย่อมมี ดังนี้ ภควตา อันพระผู้มีพระภาค ภณิตํ ตรัสไว้, ตมฺปิ วจนํ พระดำรัส แม้นั้น มิจฺฉา เป็นอันผิดไป. อยมฺปิ ปญฺโห ปัญหาแม้นี้ โกฏิโก มีที่สุด อุภโต โดยส่วนสอง ทุรุตฺตโร ข้ามขึ้นได้ยาก, ทุรติกฺกโม ก้าวผ่านได้อย่างยากเย็น อนุปฺปตฺโต มาถึงแล้ว ตว แก่ท่าน, โส ปญฺโห ปัญหานั้น ตยา อันท่าน นิพฺพาหิตพฺโพ = กเถตพฺโพ พึงแถลงมาเถิด ดังนี้.

 

‘‘ภาสิตมฺเปตํ, มหาราช, ภควตา โย อชานนฺโต ปาณาติปาตํ กโรติ, โส พลวตรํ อปุญฺญํ ปสวตีติฯ ปุน จ วินยปญฺญตฺติยา ภควตา ภณิตํ อนาปตฺติ อชานนฺตสฺสาติฯ ตตฺถ อตฺถนฺตรํ อตฺถิฯ กตมํ อตฺถนฺตรํ? อตฺถิ, มหาราช, อาปตฺติ สญฺญาวิโมกฺขา, อตฺถิ อาปตฺติ โนสญฺญาวิโมกฺขาฯ ยายํ, มหาราช, อาปตฺติ สญฺญาวิโมกฺขา, ตํ อาปตฺติํ อารพฺภ ภควตา ภณิตํ อนาปตฺติ อชานนฺตสฺสา’’ติฯ

นาคเสนตฺเถโร พระนาคเสนเถระ อาห ทูลวิสัชนาแล้ว อิติ ว่า มหาราช มหาบพิตร เอตํ วจนํ พระพุทธดำรัสนี้ อิติ ว่า โย บุคคลใด อชานนฺโต เมื่อไม่รู้ กโรติ ย่อมกระทำ ปาณาติปาตํ ซึ่งปาณาติบาต, โส บุคคลนั้น ปสวติ ย่อมได้รับ อปุญฺญํ บาป พลวตรํ มีกำลังแรงกว่า ดังนี้ ภควตา อันพระผู้มีพระภาค ภาสิตมฺปิ ก็ทรงภาษิตไว้แล้ว (จริง), อนึ่ง เอตํ วจนํ พระดำรัส นี้ อิติ ว่า อนาปตฺติ ความไม่มีแห่งอาบัติ   อชานนฺตสฺส แห่งภิกษุผู้ไม่รู้อยู่ อตฺถิ ย่อมมี ดังนี้ ภควตา อันพระผู้มีพระภาค ภณิตํ ตรัสไว้ วินยปญฺญตฺติยา ในวินัยบัญญัติ ปุน อีก ดังนี้. ตตฺถ ในคำที่ตรัสไว้นั้น อตฺถนฺตรํ ความหมายอื่น อตฺถิ มีอยู่. อตฺถนฺตรํ ความหมายอื่น กตมํ เป็นอย่างไร. มหาราช มหาบพิตร อาปตฺติ อาบัติ สญฺญาวิโมกฺขา[๓] ชนิดสัญญาวิโมกข์  อตฺถิ มีอยู่, อาปตฺติ อาบัติ โนสญฺญาวิโมกฺขา ชนิดโนสัญญาวิโมกข์ อตฺถิ มีอยู่[๔]. มหาราช มหาบพิตร ยา อยํ อาปตฺติ อาบัติใด สญฺญาวิโมกฺขา เป็นอาบัติขนิดสัญญาวิโมกข์, วจนํ พระดำรัสนี้ อิติ ว่า อนาปตฺติ ความไม่มีแห่งอาบัติ   อชานนฺตสฺส แห่งภิกษุผู้ไม่รู้อยู่ อตฺถิ ย่อมมี ดังนี้ ภควตา อันพระผู้มีพระภาค ภณิตํ ตรัสแล้ว อารพฺภ ทรงหมายถึง ตํ อาปตฺติํ ซึ่งอาบัติ ชนิดนั้น ดังนี้[๕].

 

‘‘สาธุ, ภนฺเต นาคเสน, เอวเมตํ ตถา สมฺปฏิจฺฉามี’’ติฯ

มิลินฺโท ราชา พระเจ้ามิลินท์ อาห รับสั่งแล้ว อิติ ว่า ภนฺเต นาคเสน ข้าแต่พระนาคเสนผู้เจริญ,ยํ วจนํ คำใด ตยา อันท่าน วุตฺตํ กล่าวแล้ว ยถา โดยประการใด,  อหํ ข้าพเจ้า สมฺปฏิจฺฉามิ ยอมรับ เอตํ วจนํ ซึ่งคำนั้น ตถา โดยประการนั้น เอวํ อย่างนี้ ดังนี้.

อปุญฺญปญฺโห ฉฏฺโฐฯ

อปุญฺญปญฺโห  ปัญหาว่าด้วยเรื่องบาป

ฉฏฺโฐ ลำดับที่ ๖ นิฏฺฐิโต จบ.

 



[๑] อปุญฺญ มีวิเคราะห์ว่า น ปุญฺญํ อปุญฺญํ ธรรมชาติที่เป็นตรงข้ามกับบุญ ชื่อว่า บาป. น มีอรรถวิรุทฺธ ตรงข้าม เหมือนคำว่า อกุสล. ในที่นี้แปลโดยโวหารัตถนัย.

[๒] นิสสยะล้านนา อธิบายเป็น อนาปตฺติ = อาปตฺติโทโส  โทษคืออาบัติ อชานนฺตสฺส แห่งภิกษุผู้ไม่รู้อยู่ น = นตฺถิ ย่อมไม่มี.

[๓] คำว่า สัญญาวิโมกขา อาบัติประเภทสัญญาวิโมกข์ ได้แก่ สจิตตกาบัติ อาบัติที่มีจิตคิดล่วง. อาบัติ เพราะแม้รู้อยู่ว่าเป็นอาบัติ ก็มีจิตคิดล่วง หากไม่รู้ ไม่มีจิตคิดล่วง ก็ไม่เป็นอาบัติ. ชื่อว่าสัญญาวิโมกข์ เพราะมีการพ้นได้ด้วยสัญญา คือ ความสำคัญว่า เป็นอาบัติหรือไม่เป็นอาบัตินั่นแหละ อจิตตกาบัติ อาบัติที่ไม่มีจิตคิดล่วง คือ แม้ไม่รู้ ไม่มีจิตคิดล่วง ก็เป็นอาบัติ ชื่อว่าโนสัญญาวิโมกข์ (ไม่ใช่สัญญาวิโมกข์). สัญญาวิโมกข์ มาจากคำบาลีว่า สญฺญาวิโมกฺขํ (สิกฺขาปทํ) สิกขาบทที่มีความพ้นจากอาบัติด้วยความไม่มีแห่งสัญญาคือความหมายใจจะล่วงละเมิด.  ตัดบทเป็น สญฺญา = วีติกฺกมสญฺญา ความหมายใจจะล่วงละเมิด + อภาว ไม่มี + วิโมกฺข ความพ้น. เมื่อประกอบเป็นบทแล้วได้รูปเป็น สญฺญาวิโมกฺข โดยลบบทว่า อภาว ไป มีวิเคราะห์เป็นมัชเฌโลปพหุพพีหิสมาสว่า สฺญาย อภาเวน วิโมกฺโข อสฺสาติ สฺญาวิโมกฺขํ สิกขาบทที่ ชื่อว่า สัญญาวิโมกข์ เพราะมีความพ้นได้ด้วยไม่มีสัญญาคือความคิดล่วงละเมิด. อีกนัยหนึ่ง สญฺญาย = วีติกฺกมสญฺญาย อภาโว สญฺญา  ความไม่มีแห่งสัญญาคือความหมายจะล่วงละเมิดสิกขาบท ชื่อว่า สญฺญา. สญฺญาย =วีติกฺกมสญฺญาย วิโมกฺโข เอตายาติ สญฺญาวิโมกฺขา. ความพ้นเสียจากอาบัตินี้ เพราะไม่มีความสำคัญหมายว่าจะก้าวล่วงสิกขาบท เหตุนั้น อาบัตินี้ ชื่อว่า สัญญา นัยนี้ ตัดบทเป็น สญฺญา = สญฺญาภาว + วิโมกฺข + เอตาย เป็นอัญญบท และมี อาปตฺติ เป็นอัญญปทัตถะ เป็นสมาสชนิด ปัญจมีพหุพพีหิสมาสโดยมีอุตฺตรปทโลปฉัฏฐีตัปปุริสสมาสเป็นท้อง. บทว่า สญฺญา เป็น อุตฺตรปทโลปฉัฏฐีตัปปุริสสมาส ฉัฏฐีตัปปุริสสมาสที่ลบบทหลังคือ อภาว.  แทนที่จะกล่าวว่า สญฺญาภาโว แต่ก็กล่าวว่า สญฺญา เพียงบทเดียว เหมือนคำว่า รูปภโว ชื่อว่า รูป.

[๔] สัญญาวิโมกข์และโนสัญญาวิโมกข์ทั้งสองนี้เป็นชื่อของสิกขาบทที่เกิดจากการจัดประเภทเพราะการหลุดพ้นด้วยไม่มีและมีเจตนาจะล่วงละเมิด.

สัญญาวิโมกข์ คือ ประเภทสิกขาบท หากภิกษุไม่มีจิตจะล่วงละเมิดซึ่งจะพ้นจากการต้องอาบัติ (อาบัติ คือ ความผิดฐานล่วงละเมิดสิกขาบทนั้นๆ).  แยกคำภายในศัพท์นี้เป็น  ๓ ส่วนใหญ่ๆ คือ สัญญา + อภาวะ +  วิโมกข์.  สัญญา หมายถึง ความหมายใจ, ความจงใจ หรือมีความคิด แต่คำว่า สัญญา ในที่นี้เป็นคำที่กร่อนมาจาก วีติกกมนสัญญา คือ ความคิดจะล่วงละเมิดสิกขาบทบัญญัติ. วิโมกข์ หมายถึง ความพ้นไป. คำว่า วิโมกข์ โดยทั่วไปอาจหมายถึง ความพ้นจากกิเลสได้ แต่ในที่นี้เจาะจงเอาความพ้นไปจากการต้องอาบัติเหตุที่ล่วงละเมิดสิกขาบท. อภาวะ  หมายถึง ความไม่มี. คำว่า ไม่มี ประกอบด้วยวิภัตติที่มีความหมายว่า เพราะ คือ เพราะไม่มีความหมายใจ. อนึ่ง คำว่า อภาวะ นี้จะไม่แสดงไว้ในคำศัพท์ เพื่อย่อคำให้สั้นลง ตามกระบวนการทางไวยากรณ์. เมื่อรวมสามคำนี้เข้าด้วยกัน คำว่า สัญญาวิโมกข์ มีความหมายว่า สิกขาบทที่มีความพ้นไปไม่ต้องอาบัติ เพราะไม่มีความคิดจะล่วงละเมิด คือเป็น สิกขาบทชนิดที่ไม่ต้องอาบัติ หากไม่มีความคิดจะล่วงละเมิดนั่นเอง เช่น ในปฐมปาราชิกสิกขาบทว่า เป็นสัญญาวิโมกข์  เพราะพ้นด้วยไม่มีกามสัญญา  ซึ่งปฏิสังยุตด้วยเมถุนจริงอยู่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า  ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้ไม่รู้สึกไม่ยินดี. (หมายความว่า ภิกษุที่พ้นไปจากอาบัติ คือ จะไม่เป็นผู้ต้องอาบัตินี้ หากไม่มีความสำคัญว่าจะเสพเมถุน) และในทุติยปาราชิกสิกขาบทว่าเป็นสัญญาวิโมกข์   เพราะพ้นด้วยไม่มีสำคัญว่า เราจะถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ (โดยทำนองเดียวกัน หากไม่มีความสำคัญหรือตั้งใจว่า จะถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ ก็จะพ้นไปจากความเป็นผู้ต้องอาบัติข้อนี้) ...

โนสัญญาวิโมกข์ คือ สิกขาบทนอกจากสัญญาวิโมกข์ กล่าวคือ สิกขาบทชนิดที่แม้ไม่มีความคิดจะล่วงละเมิด และไม่รู้ก็ต้องอาบัติ เช่น ในสุราปานสิกขาบทที่ ๑ แห่งสุราปานวรรค ปาจิตติยกัณฑ์ แสดงไว้ว่า เป็นปาจิตตีย์  ในเพราะดื่มสุราและเมรัย. (วิ.มหาวิ.๒/๕๗๖) และในอรรถกถาแห่งสิกขาบทนี้ อธิบายว่า สิกขาบทนี้เป็นโนสัญญาวิโมกข์ และอจิตตกะ เพราะแม้ไม่รู้ว่า เป็นสุรา และไม่มีจิตคิดล่วงละเมิดสิกขาบท กระทั่งสงสัยว่าจะเป็นสุราหรือไม่ หากดื่มเข้าไปก็เป็นอาบัติ ดังนั้น ไม่ว่าจะตั้งใจก็ตาม ไม่ตั้งใจก็ตาม สงสัยอยู่ก็ตาม หากดื่มเป็นอาบัติทั้งสิ้น แต่ถ้าไม่ใช่น้ำเมา ด้วย หากตั้งใจดื่ม ก็ไม่เป็นอาบัติ  ดังที่ในพระบาฬีนั้น แสดงว่า น้ำเมา  ภิกษุสำคัญว่าน้ำเมา  ดื่ม  ต้องอาบัติปาจิตตีย์.  น้ำเมา ภิกษุสงสัย  ดื่ม  ต้องอาบัติปาจิตตีย์.  น้ำเมา  ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่น้ำเมา  ดื่ม  ต้องอาบัติปาจิตตีย์. ไม่ใช่น้ำเมา  ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่น้ำเมา  ดื่ม  ไม่ต้องอาบัติ.

สัญญาวิโมกข์เป็นสจิตตกะ, โนสัญญาวิโมกข์เป็นอจิตตกะ. สัญญาวิโมกข์ มีส่วนสัมพันธ์กับสิกขาบทชนิดที่มีความตั้งใจจะล่วงละเมิดจะมีความผิด ที่เรียกว่า สจิตตกะ สิกขาบทที่จะต้องอาบัติหากมีที่มีความคิดจะล่วงละเมิดโดยตรง เพราะฉะนั้น อาจกล่าวได้ว่า สิกขาบทประเภทสัญญาวิโมกข์ ก็คือ สิกขาบทประเภทสจิตตกะ. สิกขาบทโนสัญญาวิโมกข์ ก็มีส่วนสัมพันธ์กับสิกขาบทชนิดอจิตตกะนั่นเอง เพราะฉะนั้น โนสัญญาวิโมกข์สิกขาบท ก็ได้แก่ อจิตตกะสิกขาบท. ดังพระบาฬีปริวารอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างสัญญาวิโมกข์กับสจิตตกะเป็นต้นไว้ว่า อาบัติเป็นสัญญาวิโมกข์ มีอยู่, อาบัติมิใช่สัญญาวิโมกข์มีอยู่ (วิ.ปริวาร.๘/๙๔๓). อาบัติเป็นสจิตตกะ   เป็นสัญญาวิโมกข์  อาบัติเป็นอจิตตกะ  เป็นโนสัญญาวิโมกข์. (อรรถกถาวินัยปิฎก ปริวาร   ๑๐๐๖). และในอรรถกถาวินัยปิฏก มหาวิภังค์ อธิบายว่า แม้บรรดาสิกขาบทเหล่านั้น  สิกขาบทที่เป็นสัญญาวิโมกข์ก็มี ที่เป็นโนสัญญาวิโมกข์ก็มี. ในสิกขาบทที่เป็นสัญญาวิโมกข์และโนสัญญาวิโมกข์เหล่านั้น  สิกขาบทใด ได้องค์คือจิตด้วย. สิกขาบทนั้น เป็นสัญญาวิโมกข์,นอกนี้  เป็นโนสัญญาวิโมกข์. (อรรถกถาวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ๑/๗๘).

[๕] เรื่องนี้สรุปได้ว่า ประเด็นที่ว่าคนฆ่าสัตว์ โดยไม่รู้ว่าเป็นบาป ย่อมได้บาปมากนั้น หมายความว่า คนที่ไม่รู้ว่าอะไรเป็นบุญ อะไรเป็นบาปนั้น ย่อมไม่มีความละอายหรือความกลัวต่อบาป จึงยินดีในบาปแล้วทำบาปอย่างเต็มที่ ก็ย่อมจะได้บาปอย่างเต็มที่เปรียบเหมือนคนไม่รู้ว่าถ่านมีไฟร้อน จึงจับถ่านร้อนเต็มมือย่อมจะถูกไฟไหม้มากกว่า ส่วนคนที่รู้ว่าเป็นถ่านร้อน เขาจะจับถ่านด้วยความระมัดระวัง ให้เป็นอันตรายแก่มือน้อยที่สุด. ส่วนในเรื่องเกี่ยวกับวินัยบัญญัติ ที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับสิกขาบทที่มีอาบัตินั้น ทรงแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ (๑) สัญญาวิโมกข์ หมายถึง สิกขาบทที่ไม่มีอาบัติ (ความผิด) หากภิกษุล่วงละเมิดโดยไม่รู้ตัว ( สัญญา = ความรู้สึกตัว + วิโมกข์ = พ้น ) ดังนั้น ที่ตรัสว่า ภิกษุกระทำกรรมชั่ว โดยไม่รู้ตัว ไม่ต้องอาบัตินั้น ทรงหมายถึง อาบัติประเภทสัญญาวิโมกข์ ) (๒) คือ โนสัญญาวิโมกข์ ได้แก่ สิกขาบทที่ยังมีอาบัติที่แม้ไม่รู้ตัวขณะที่กระทำ เช่น การดื่มสุรา แม้ไม่รู้ว่าเป็นสุรา ดื่มเข้าไปก็ต้องอาบัติ เพราะฉะนั้น กรณีทั้ง ๒ จึงมีจุดมุ่งหมายต่างกัน กรณีแรกใช้กับคนทั่วไป กรณีหลังใช้กับพระวินัยของพระภิกษุเท่านั้น.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น