วันอังคารที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

๗. นมกฺการฎีกา อธิบายคำว่า สนฺตํ ในคาถา ๑


นมักกการปาฐะ
บทนมัสการพระพุทธเจ้า
.
          สุคตํ สุคตํ เสฏฺฐํ,           กุสลํกุสลํ ชหํ;
            อมตํ อมตํ สนฺตํ,           อสมํ อสมํ ททํฯ
          สรณํ สรณํ โลกํ           อรณํ อรณํ กรํ;
          อภยํ อภยํ ฐานํ           นายกํ นายกํ นเมฯ
            ขอถวายนมัสการ พระสุคตพุทธเจ้า ผู้ตรัสพระดำรัสไม่ผิดพลาด  ทรงประเสริฐยิ่ง กำจัดทั้งกุศลและอกุศลเสียได้ ผู้เป็นอมตะ ทรงมีนิพพานอันอมตะ ทรงสงบระงับ หาผู้เสมอมิได้  ทรงประทานโลกุตรธรรมที่ไม่เสมอกับโลกิยธรรม ทรงเป็นที่พึ่งของโลก รู้แจ้งโลก ปราศจากกิเลสแล้ว เป็นผู้สร้างความปราศจากกิเลส  ทรงปราศจากภัย นำมวลประชาไปสู่สถานที่ปราศจากภัย ทรงเป็นโลกนายกฯ

******************* 

บัดนี้ จะได้อธิบายคำว่า สนฺตํ พระสุคตพุทธเจ้า ทรงสงบระงับตามที่พระฎีกาจารย์ได้พรรณนาสืบไป
คำว่า สนฺตํ ผู้ทรงสงบแล้ว เป็นอย่างไร

สนฺตนฺติ สพฺพกิเลสทรเถหิ จ วฏฺฏทุกฺเขหิ จ สุวูปสนฺตํฯ โส หิ พุทฺโธ สพฺพกิเลสทรถวฏฺฏทุกฺเขหิ สมิตฺถ วูปสมิตฺถาติ สนฺโตติ วุจฺจติฯ สมุธาตุ อุปสเม ตฯ ธาตฺวนฺตสฺส โลปํ ตปจฺจยสฺสนฺโตอาเทสํ กตฺวา ปทสิทฺธิ เวทิตพฺพาฯ สํสารวฏฺเฏ ทรถการกานํ กิเลสานํ โพธิมณฺเฑ อรหตฺตมคฺคญาเณน สมุจฺฉินฺทิตตฺตา สีติภูโต สนฺตกายจิตฺโตติ วุตฺตํ โหติ, ตํ สนฺตํฯ
พระสุคตพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า สนฺต ทรงสงบระงับ เหตุที่ทรงสงบระงับดีแล้วจากความเร่าร้อนคือกิเลสทั้งมวล และจากทุกข์ในวัฏฏะ. แท้ที่จริง พระพุทธองค์ ทรงสงบแล้ว ทรงระงับยิ่งแล้ว จากความร้อนรุ่มเพราะกิเลสทและวัฏฏทุกข์ทั้งมวล ฉะนั้น จึงทรงพระนามว่า สนฺต ผู้ทรงสงบระงับแล้ว. คำนี้ สำเร็จรูปมาจากรากศัพท์คือ สมุ ในความหมายว่า สงบ และลง ตปัจจัย. มีการลบอักษรท้าย สมุ และแปลง ต เป็น อนฺต ฉะนั้น จึงได้รูปว่า สนฺต. คำนี้หมายความว่า พระองค์ทรงมีจิตและพระวรกายที่สงบ คือ เย็น เหตุที่ทรงละกิเลสที่สร้างความเร่าร้อนในสังสารวัฏฏ ด้วยอรหัตตมรรคญาณ ที่โพธิมณฑล.
ขอถวายนมัสการ พระสุคตพุทธเจ้า ผู้ทรงสงบระงับแล้ว.

***************


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น