วันอังคารที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

๖. นมกฺการฎีกา อธิบายคำว่า อมตํ อมตํ ในคาถา ๑

นมักกการปาฐะ
บทนมัสการพระพุทธเจ้า
.
          สุคตํ สุคตํ เสฏฺฐํ,           กุสลํกุสลํ ชหํ;
            อมตํ อมตํ สนฺตํ,           อสมํ อสมํ ททํฯ
          สรณํ สรณํ โลกํ,            อรณํ อรณํ กรํ;
          อภยํ อภยํ ฐานํ,            นายกํ นายกํ นเมฯ
            ขอถวายนมัสการ พระสุคตพุทธเจ้า ผู้ตรัสพระดำรัสไม่ผิดพลาด  ทรงประเสริฐยิ่ง กำจัดทั้งกุศลและอกุศลเสียได้ ผู้เป็นอมตะ ทรงมีนิพพานอันอมตะ ทรงสงบระงับ หาผู้เสมอมิได้  ทรงประทานโลกุตรธรรมที่ไม่เสมอกับโลกิยธรรม ทรงเป็นที่พึ่งของโลก รู้แจ้งโลก ปราศจากกิเลสแล้ว เป็นผู้สร้างความปราศจากกิเลส  ทรงปราศจากภัย นำมวลประชาไปสู่สถานที่ปราศจากภัย ทรงเป็นโลกนายกฯ

*******************
  
อธิบายคำว่า อมตํ อมตํ
เมื่อคราวที่แล้วได้ถึงคำศัพท์ว่า กุสลํกุสลํ ชหํ ที่แปลว่า ทรงละกุศลและอกุศลเสียได้ ตามที่คัมภีร์ฎีกาได้พรรณนาไว้. บัดนี้จะได้อธิบายศัพท์ว่า อมตํ อมตํ สองศัพท์นี้มีที่มาอย่างไร. คัมภีร์ฎีกาพรรณนาไว้ ดังต่อไปนี้

อมตนฺติ มรณวิรหิตํฯ โส ชิโน หิ น มโต อมโต, มรณธมฺมสฺส นิพฺพตฺตกานํ กิเลสานํ อรหตฺตมคฺเคน สมุจฺฉินฺทิตตฺตา ปุน มรณโต วิรหิโตติ วา อมโตฯ อถ วา นิพฺพาเน อารมฺมณกรณวเสน อธิคเต นตฺถิ มตํ มรณํ ยสฺส ชินสฺสาติ อมโตติ วุจฺจติฯ ชิเนน หิ ขนฺธมจฺจุมารํ อชิโตปิ กิเลสมารํ ชยิตฺวา เตสํ อวสฺสํ ชิยมานตฺตา ผลูปจาเรน อมโตติ วุจฺจตีติ เวทิตพฺพํฯ
พระสุคตพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า อมตะ  ผู้ปราศจากความตาย. แท้ที่จริง พระชินเจ้า ทรงเป็นอมตะ คือ ไม่ตาย. อีกนัยหนึ่ง ทรงปราศจากความตายอีก เพราะกิเลสที่ทำให้เกิดของสัตว์ที่มีการตายเป็นธรรมดา ทรงละได้เด็ดขาดแล้วด้วยอรหัตตมรรค ฉะนั้น จึงทรงพระนามว่า อมตะ ผู้ปราศจากความตายอีก. อีกนัยหนึ่ง เมื่อทรงบรรลุพระนิพพานโดยเกี่ยวกับการทำให้เป็นอารมณ์ พระชินเจ้าก็ไม่ทรงมีความตาย ฉะนั้น จึงทรงพระนามว่า อมตะ ผู้ทรงไม่มีความตาย. แท้ที่จริง พระชินเจ้าแม้ทรงชนะมารคือกิเลส แต่มิได้ทรงชนะมารคือขันธ์และมารคือความตาย ก็ยังเป็นผู้ชนะมารทั้งสามนั้นอย่างแน่นอน ฉะนั้น จึงทรงพระนามว่า อมตะ ผู้ไม่มีความตาย โดยการยกเอาผล (ความตาย) มากล่าวแทนเหตุ (กิเลส).

ปุน อมตนฺติ อมตนิพฺพานสมนฺนาคตํฯ นตฺถิ มตํ มรณํ เอตฺถาติ อมตํ, นิพฺพานํฯ ตํ ปน สนฺติลกฺขณํ, อจฺจุตรสํ, อนิมิตฺตปจฺจุปฏฺฐานํ, นิสฺสรณปจฺจุปฏฺฐานํ วา, นิพฺพานสฺส ปน ปทฏฺฐานํ น ลพฺภติฯ วุตฺตญฺหิ มิลินฺทปญฺเห นาคเสนตฺเถเรน ‘‘น เกนจิ การเณน นิพฺพานํ อุปฺปชฺชตี’’ติฯ ตํ อสฺส อตฺถีติ อมโต, ชิโนฯ สทฺธาทิโต ณาติ สุตฺเตน อสฺสถฺยตฺเถ ณปจฺจโยฯ สทฺโธ ปญฺโญติอาทีสุ วิยฯ อสฺส ชินสฺส จตุมคฺคญาเณน สจฺฉิกตํ อมตํ นิพฺพานํ อตฺถีติ อตฺโถ, ตํ อมตํฯ
คำว่า อมตํ อีกคำหนึ่ง หมายถึง พระองค์ผู้ประกอบด้วยพระนิพพานอันชื่อว่า อมตะ คำนี้จึงแปลว่า ทรงมีอมตนิพพาน. นิพพานนั้น มีลักษณะเป็นธรรมสงบ, มีความไม่เคลื่อนเป็นผล, มีความไม่มีนิมิตคือกิเลสเป็นผลปรากฏ, อีกนัยหนึ่ง มีการสลัดออกเป็นผลปรากฏ.  แต่เหตุใกล้ของพระนิพพานไม่มี. ข้อนี้พ้องกับข้อความในมิลินทปัญหา ซึ่งพระนาคเสนเถระ ได้ทูลวิสัชชนาถวายพระเจ้ามิลินทน์ว่า พระนิพพาน ย่อมไม่เกิด ขึ้นด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง.” พระชินเจ้านั้น ทรงพระนามว่า อมตะ มีนิพานอันอมตะ. คำนี้ เป็นศัพท์จำพวกตัทธิต ชนิดอัสสัตถิตัทธิต บ่งความหมายว่า ผู้มีสิ่งนั้น สำเร็จรูปมาจาก อมต และ ณปัจจัย ในความหมายว่า มีสิ่งนั้น ตามข้อกำหนดของสูตรไวยากรณ์ว่า สทฺธาทิโต ณ ลง ณปัจจัย ท้ายศัพท์มีสทฺธา เป็นต้น. ตัวอย่างเช่น สทฺโธ ปญฺโญ ผู้มีศรัทธา ผู้มีปัญญา ดังนี้เป็นต้น. ในกรณีนี้ พระชินเจ้า ทรงมีนิพพานชื่อว่าอมตะ ที่ทรงกระทำให้แจ้งแล้วด้วยมรรคญาณทั้ง ๔.
ขอถวายนมัสการ พระสุคตพุทธเจ้า ผู้ทรงเป็นอมตะ และ ทรงมีอมตนิพพาน.

***************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น