วันศุกร์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2559

สาสนอันตรธานกถา

อันตรธานกถา
จำเดิมแต่พระผู้มีพระภาค ผู้ทรงรู้แจ้งโลก มีสายพระเนตรยาวไกล ได้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว จึงประกาศพระสัทธรรมคำสอนของพระองค์ให้แผ่ไพศาลไปทั่วพื้นที่ชมพูทวีป มีอริยสาวกทั้งที่เป็นมนุษย์และเทวดาเกิดขึ้นมากมาย พระสัทธรรมที่พระองค์ประกาศไว้เป็นดุจดังประทีบที่จุดเพื่อบอกทางในยามค่ำคืน พระศาสนารุ่งเรืองอย่างโดดเด่น.  แต่ทว่า ท่ามกลางความเจริญรุ่งเรืองแห่งพระศาสนานั้น พระองค์ผู้เป็นเจ้าของแห่งธรรม กลับตรัสว่า ใช่ว่าศาสนาของพระองค์จะตั้งอยู่ตลอดไปก็หามิได้ โดยที่แท้ ก็มีสักวันหนึ่งที่จะต้องถึงกาลที่ล่มสลายไปในที่สุด นอกจากจะมีกาลเวลาเป็นเงื่อนไขแล้ว ยังมีเหตุปัจจัยอื่นๆ อีกที่ทำให้เกิดความล่มสลายสาบสูญแห่งพระสัทธรรม.
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถึงเหตุปัจจัยภายในศาสนา ดังนี้[๑]

๑) เพราะมีมาตุคามหรือสตรีเข้ามาบวชในพระศาสนา ดังปรากฏอยู่ในพระบาฬีโคตมีสูตร อัฏฐกนิบาต อังคุตตรนิกาย ความว่า
‘‘สเจ, อานนฺท, นาลภิสฺส มาตุคาโม ตถาคตปฺปเวทิเต ธมฺมวินเย อคารสฺมา อนคาริยํ ปพฺพชฺชํ, จิรฏฺฐิติกํ, อานนฺท, พฺรหฺมจริยํ อภวิสฺส, วสฺสสหสฺสเมว สทฺธมฺโม ติฏฺเฐยฺยฯ ยโต จ โข, อานนฺท, มาตุคาโม ตถาคตปฺปเวทิเต ธมฺมวินเย อคารสฺมา อนคาริยํ ปพฺพชิโต, น ทานิ, อานนฺท, พฺรหฺมจริยํ จิรฏฺฐิติกํ ภวิสฺสติฯ ปญฺเจว ทานิ, อานนฺท, วสฺสสตานิ สทฺธมฺโม ฐสฺสติฯ
‘‘เสยฺยถาปิ, อานนฺท, ยานิ กานิจิ กุลานิ พหุตฺถิกานิ, อปฺปปุริสกานิ, ตานิ สุปฺปธํสิยานิ โหนฺติ โจเรหิ กุมฺภตฺเถนเกหิ; เอวเมวํ โข, อานนฺท, ยสฺมึ ธมฺมวินเย ลภติ มาตุคาโม อคารสฺมา อนคาริยํ ปพฺพชฺชํ, น ตํ พฺรหฺมจริยํ จิรฏฺฐิติกํ โหติฯ
‘‘(องฺ. อฏฺฐก. โคตมีสุตฺต)
อานนท์ ถ้ามาตุคามจักไม่ได้ซึ่งการออกจากเรือนเข้ามาบรรพชาในธรรมวินัยอันตถาคตประกาศแล้วไซร้, พรหมจรรย์ (ศาสนาคำสอน) จักเป็นอันตั้งอยู่สิ้นกาลยาวนาน, สัทธรรม พึงดำรงอยู่ชั่วพันปีทีเดียว. แต่เพราะเหตุที่มาตุคามออกจากการครองเรือนเข้ามาบรรพชาในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศไว้แล้ว, บัดนี้ พรหมจรรย์จักมิได้เป็นอันดำรงอยู่ยาวนานแล้ว. บัดนี้ สัทธรรมจักดำรงอยู่ชั่วห้าร้อยปีเท่านั้น นะอานนท์ !.
เปรียบเหมือนกับบ้านเรือนที่มีบุรุษน้อย มากด้วยสตรี ก็จะถูกโจรปล้นทรัพย์ เข้าปล้นได้ ฉันใด, ถ้ามีมาตุคามออกเรือนเข้ามาบรรพชาในธรรมวินัยใด ในธรรมวินัยนั้นจักตั้งอยู่ได้ไม่นานเลยทีเดียว ฯลฯ
๒) เพราะภิกษุแสดงอธรรมว่าเป็นธรรม อวินัยว่าเป็นวินัย เป็นต้นดังปรากฏอยู่ในพระบาฬีอังคุตรนิกาย เอกนิบาต ทุติยปมาทาทิวรรค ความว่า
‘‘เย เต, ภิกฺขเว, ภิกฺขู อธมฺมํ ธมฺโมติ ทีเปนฺติ เต, ภิกฺขเว, ภิกฺขู พหุชนอหิตาย ปฏิปนฺนา พหุชนอสุขาย, พหุโน ชนสฺส อนตฺถาย อหิตาย ทุกฺขาย เทวมนุสฺสานํฯ พหุญฺจ เต, ภิกฺขเว, ภิกฺขู อปุญฺญํ ปสวนฺติ, เต จิมํ สทฺธมฺมํ อนฺตรธาเปนฺตี’’ติฯ (ทุติยปมาทาทิวคฺค. เตตฺตึสติม. องฺ.เอก ข้อ ๑๓๐ สูตรที่ ๓๓ ทุติยปมาทิวคฺค)
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่าใด แสดงอธรรมว่าเป็นธรรม, ภิกษุเหล่านั้น ย่อมเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความเปล่าประโยชน์แก่ชนเป็นอันมาก, เพื่อความไม่ใช่สุขแก่ชนเป็นอันมาก, ย่อมปฏิบัติเพื่อความเสื่อมเสีย ความเปล่าประโยชน์ และความทุกข์แก่ชนเป็นอันมาก แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย. ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุเหล่านั้น ก็ย่อมประสบบาปกรรมเป็นอันมาก อีกทั้งจะกระทำให้พระสัทธรรมนี้เสื่อมสูญอีกด้วย
๓) เพราะมีสัทธรรมปฏิรูป โมฆบุรุษเกิดในพระศาสนา  และพุทธบริษัทไม่เคารพในพระศาสดา พระธรรม พระสงฆ์ ดังปรากฏอยู่ในพระบาฬีสัทธัมมัปปติรูปกสูตร กัสสปสังยุต นิทานวรรค สังยุตนิกาย ความว่า
‘‘เอวญฺเจตํ, กสฺสป, โหติ สตฺเตสุ หายมาเนสุ สทฺธมฺเม อนฺตรธายมาเน, พหุตรานิ เจว สิกฺขาปทานิ โหนฺติ อปฺปตรา จ ภิกฺขู อญฺญาย สณฺฐหนฺติฯ น ตาว, กสฺสป, สทฺธมฺมสฺส อนฺตรธานํ โหติ ยาว น สทฺธมฺมปฺปติรูปกํ โลเก อุปฺปชฺชติฯ ยโต จ โข, กสฺสป, สทฺธมฺมปฺปติรูปกํ โลเก อุปฺปชฺชติ, อถ สทฺธมฺมสฺส อนฺตรธานํ โหติ’’เปฯ ..
‘‘น โข, กสฺสป, ปถวีธาตุ สทฺธมฺมํ อนฺตรธาเปติ, น อาโปธาตุ สทฺธมฺมํ อนฺตรธาเปติ, น เตโชธาตุ สทฺธมฺมํ อนฺตรธาเปติ, น วาโยธาตุ สทฺธมฺมํ อนฺตรธาเปติ; อถ โข อิเธว เต อุปฺปชฺชนฺติ โมฆปุริสา เย อิมํ สทฺธมฺมํ อนฺตรธาเปนฺติฯ เสยฺยถาปิ, กสฺสป, นาวา อาทิเกเนว โอปิลวติ; น โข, กสฺสป, เอวํ สทฺธมฺมสฺส อนฺตรธานํ โหติฯ
‘‘ปญฺจ โขเม, กสฺสป, โอกฺกมนิยา ธมฺมา สทฺธมฺมสฺส สมฺโมสาย อนฺตรธานาย สํวตฺตนฺติฯ กตเม ปญฺจ? อิธ, กสฺสป, ภิกฺขู ภิกฺขุนิโย อุปาสกา อุปาสิกาโย สตฺถริ อคารวา วิหรนฺติ อปฺปติสฺสา, ธมฺเม อคารวา วิหรนฺติ อปฺปติสฺสา, สงฺเฆ อคารวา วิหรนฺติ อปฺปติสฺสา, สิกฺขาย อคารวา วิหรนฺติ อปฺปติสฺสา, สมาธิสฺมึ อคารวา วิหรนฺติ อปฺปติสฺสา อิเม โข, กสฺสป, ปญฺจ โอกฺกมนิยา ธมฺมา สทฺธมฺมสฺส สมฺโมสาย อนฺตรธานาย สํวตฺตนฺติฯ
กัสสปะ ข้อนั้นเป็นฉะนี้แล, กล่าวคือ เมื่อสัตว์ทั้งหลายเสื่อมถอย, เมื่อสัทธรรมใกล้อันตรธาน, สิกขาบทย่อมมีมาก,  และภิกษุทั้งหลายที่ดำรงอยู่ในพระอรหัตต์ ก็มีจำนวนน้อย. กัสสปะ ! สัทธรรมปฏิรูป (ธรรมที่คล้ายจะเป็นสัทธรรม) ยังไม่เกิดขึ้นในโลกเพียงใด, สัทธรรมแท้ก็จะไม่เป็นอันอันตรธานไปตราบเพียงนั้น. กัสสปะ ในกาลที่เกิดสัทธรรมปฏิรูปแล้ว กาลนั้นนั่นแลสัทธรรมแท้ๆจะอันตรธานไป. ฯลฯ
กัสสปะ ปถวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ หาได้ทำให้สัทธรรมอันตรธานไปไม่ แต่ทว่า โมฆบุรุษ ที่เกิดขึ้นในศาสนานี้นั่นแหละที่จะให้ทำให้สัทธรรมอันตรธาน. จงดูเรือที่อัปปาง ก็ย่อมอัปปางไปเพราะนายต้นหนเรือเป็นอุทาหรณ์เถิด กัสสปะ.
อีกประการหนึ่งนะกัสสปะ, ธรรมเป็นเหตุตกไปสู่ที่ต่ำ ๕ ประการ ย่อมเป็นไปเพื่อทำให้สัทธรรมเลอะเลือน ถึงกับอันตรธานได้ คือ ข้อที่ภิกษุ ภิกษุนี อุบาสก อุบาสิกา เป็นผู้ไม่เคารพยำเกรงในพระศาสดาอยู่, ... ไม่เคารพยำเกรงในพระธรรมอยู่ ..., ในพระสงฆ์, ... ในสิกขา ... , ในสมาธิอยู่.  กัสสปะ ธรรมเป็นเหตุตกไปสู่ที่ต่ำ ๕ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความเลือนหาย ถึงกับให้พระสัทธรรมอันตรธานได้ เหล่านี้แล.
ถึงแม้พระองค์จะได้แนะนำวิธีประพฤติปฏิบัติเพื่อป้องการล่มสลายก็ตาม โดยนัยว่า "เมื่อตถาคตได้บัญญัติครุธรรม ๘ ประการสำหรับภิกษุนีต้องประพฤติไปจนชั่วชีวิต, ภิกษุควรแสดงธรรมว่าเป็นธรรม, ภิกษุไม่พึงเป็นผู้ติดอยู่ในสัทธรรมปฏิรูป ไม่เป็นบุรุษว่างเปล่า ไม่ปรารถนากระทำคุณวิเศษอันเป็นที่พึ่งให้บังเกิดแก่ตนเอง, และละเว้นธรรมฝ่ายฉุดลงต่ำกล่าวคือการมีความเคารพในพระศาสดาเป็นต้นเหล่านั้น" ดังนี้เป็นต้น ตามนัยที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้โดยตรง และที่พระอรรถกถาจารย์ขยายความไว้.[๒]
แต่เมื่อกาลล่วงไป ปัญญาญาณของชาวโลกก็ย่อมเสื่อมถอย ความสามารถในการทำคุณวิเศษให้บังเกิดก็ลดน้อยลง แม้แต่การที่ปัจฉิมชนจะทรงพระธรรมไว้ก็เป็นไปได้ยาก. การเสื่อมสลายแห่งพระสัทธรมจงยกไว้ แม้แต่พระศาสนาโดยรวมทั้งสิ้น ก็จะถึงวันที่แตกดับไปโดยไม่มีอะไรเหลือโดยแน่แท้  ซึ่งล้วนเป็นธรรมดาของสรรพสิ่งของโลกที่จะต้องแตกดับไป.   
เกี่ยวกับเรื่องนี้ คัมภีร์อรรถกถา ได้เรียบเรียงลำดับการเสื่อมสูญของพระศาสนาไว้อย่างละเอียดชัดเจน ไว้ในหลายแห่ง. ก็โดยเหตุที่ในอรรถกถาแต่ละแห่งได้แสดงไว้ต่างๆ กัน กล่าวคือ บางแห่งแสดงเฉพาะสาสนาอันตรธาน (การอันตรธานของพระศาสนาทั้งสิ้น) บางแห่งเฉพาะติปิฎกอันตรธาน (การอันตรธานแห่งพระสัทธรรมเท่านั้น) บางแห่งมีครบทั้งสอง ดังนั้น จะใคร่นำข้อความที่ท่านกล่าวไว้ในที่นั้น มานำเสนอไว้ โดยยกจากคัมภีร์ที่กล่าวไว้อย่างละเอียดที่สุดเป็นหลัก โดยเทียบกับคัมภีร์อื่นไว้เพื่อให้ได้รับสาระครบถ้วน.  


การอันตรธานของพระศาสนา
คัมภีร์มโนรถปูรณี อรรถกถาอังคุตตรนิกาย เอกนิบาต กล่าวถึงอันตรธานไว้ ๕ คือ ๑) อธิคมอันตรธาน มรรค ผล ปฏิสัมภิทา อภิญญา และวิชชา อันตรธาน        
๒) ปฏิบัติอันตรธาน สิกขา ๓อันตรธาน
๓) ปริยัติอันตรธาน พระไตรปิฎกพร้อมอรรถกถาอันตรธาน
๔) ลิงคอันตรธาน ภิกษุภาวะอันตรธาน
         ๕) ธาตุอันตรธาน พระบรมสารีริกธาตุอันตรธาน 
อันตรธาน ๕ ประการนั้น ท่านแบ่งออกเป็น ๒ ระดับ คือ
๑) ติปิฎกอันตรธาน[๓] การอันตรธานไปแห่งพระสัทธรรม ๓ กล่าวคือ ปริยัติสัทธรรม ปฏิเวธสัทธรรม ปฏิบัติสัทธรรม พร้อมทั้งภิกษุภาวะ[๔] (ลิงคอันตรธาน) ไปตามลำดับ. การอันตรธานของพระสัทธรรมนี้ ถือว่า พระศาสนายังไม่อันตรธานโดยสิ้นเชิง เพราะไม่สามารถมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ใหม่อุบัติขึ้น
๒) สาสนอันตรธาน[๕] กล่าวคือ การอันตรธานแห่งพระธาตุ ได้แก่ การที่พระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธองค์ที่ประดิษฐานอยู่ในภพภูมิต่างๆ เสด็จมารวมกัน ณ โพธิบัลลังก์แสดงปาฏิหารย์โดยประการต่างๆ.[๖] เมื่อพระธาตุเหล่านั้น แสดงปาฏิหารย์อย่างนี้แล้ว ได้อันตรธานไป พระศาสนาจึงชื่อว่า อันตรธานโดยสิ้นเชิง. นับแต่นี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ใหม่จะเสด็จอุบัติเกิดขึ้น.
ลำดับการอันตรธานแห่งพระศาสนา
๑) อธิคมอันตรธาน
การอันตรธานแห่งอธิคม.
คัมภีร์มโนรถปูรณี อรรถกถาอังคุตตรนิกาย เอกนิบาต กล่าวว่า
คำว่า อธิคม ในที่นี้ ได้แก่ มรรค ๔ ผล ๔ ปฏิสัมภิทา ๔ วิชชา ๓ และอภิญญา ๖[๗]. เมื่ออธิคมจะเสื่อม ย่อมเสื่อมจับแต่ปฏิสัมภิทาเป็นต้นไป.
ชั่วพันปีจับแต่กาลเสด็จปรินิพพานแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลายเท่านั้น เหล่าภิกษุ สามารถทำให้ปฏิสัมภิทาเกิดขึ้นได้.
ต่อจากพันปีนั้น เหล่าภิกษุย่อมสามารถทำอภิญญา ๖ ให้เกิดขึ้น,[๘]
ภายหลังจากกาลที่ทำอภิญญาให้เกิดนั้น[๙] เหล่าภิกษุเมื่อไม่สามารถทำให้อภิญญาเหล่านั้นเกิดขึ้น   ย่อมทำวิชชา ๓ ให้เกิดขึ้น.
ครั้นกาลผ่านไปๆ เมื่อไม่สามารถทำให้วิชชา ๓ แม้เหล่านั้นเกิดขึ้น จึงเป็นพระอรหันต์สุกขวิปัสสก.[๑๐]
โดยทำนองนี้แหละ คือ (เมื่อไม่สามารถทำให้อรหัตตมรรคเกิด) ย่อมเป็นพระอนาคามี (เมื่อไม่สามารถทำอนาคามิมรรคให้เกิด) จึงเป็นพระสกทาคามี และเมื่อไม่สามารถทำสกทาคามิมรรคให้เกิด) จึงเป็นพระโสดาบัน ด้วยประการฉะนี้. 
เมื่อคุณวิเศษเหล่านั้นยังธำรงอยู่, อธิคม จะได้ชื่อว่า อันตรธาน ก็หามิได้. แต่ต่อเมื่อพระโสดาบันรูปสุดท้ายถึงความสิ้นไปแห่งชีวิต จึงจะได้ชื่อว่า อันตรธาน.[๑๑]
คัมภีร์สุมังคลวิลาสินี อรรถกถาทีฆนิกาย กล่าวถึงอันตรธานไว้ ๓ ประการเท่านั้น[๑๒]  โดยเรียกอธิคมอันตรธานว่า ปฏิเวธอันตรธาน โดยให้คำจำกัดความคำว่า ปฏิเวธ ว่าได้แก่ การแทงตลอดสัจจะ และอธิบายความว่า
อันตรธาน มี ๓ คือ ปริยัติอันตรธาน ปฏิเวธอันตรธาน ปฏิปัตติอันตรธาน. ปริยัตติ ได้แก่ ปิฎกทั้งสาม, ปฏิเวธ ได้แก่ การแทงตลอดสัจจะ, ปฏิปัตติ ได้แก่ ข้อปฏิบัติเป็นเหตุบรรลุสัจจะ
พระศาสนา ดำรงอยู่สิ้นพันปี โดยมีพระอรหันต์ผู้บรรลุปฏิสัมภิทา
ดำรงอยู่สิ้นพันปี (ต่อไป) โดยมีพระอรหันต์ผู้บรรลุอภิญญา ๖
ดำรงอยู่สิ้นพันปี (ต่อไป) โดยมีพระอรหันต์ผู้บรรลุวิชชา ๓
ดำรงอยู่สิ้นพันปี (ต่อไป) โดยมีพระอรหันต์ ผู้เป็นสุกขวิปัสสก
ดำรงอยู่สิ้นพันปี โดยมีพระปาติโมกข์
การที่พระศาสนา จะชื่อว่า ล่มสลาย ก็นับแต่การแทงตลอดสัจจะแห่งพระอริยบุคคลรูปสุดท้าย และจับแต่การแตกทำลายแห่งศีลของภิกษุรูปสุดท้าย.[๑๓]
คัมภีร์สารัตถัปปกาสินี อรรถกถาสังยุตตนิกาย[๑๔] แสดงอันตรธานไว้เฉพาะที่เป็นพระสัทธรรม ๓ เนื่องจากเป็นพระสูตรที่กล่าวถึงความเสื่อมสลายแห่งพระสัทธรรมเป็นประเด็นสำคัญ โดยอธิบายว่า
พระสัทธรรมแม้ทั้งสาม คือ อธิคมสัทธรรม ปฏิปัตติสัทธรรม และปริยัติสัทธรรม ย่อมอันตรธานไป ดังนี้
ในคราวปฐมโพธิกาล พวกภิกษุจะเป็นพระอรหันต์ผู้บรรลุปฏิสัมภิทา,
ต่อมาจะไม่สามารถบรรลุปฏิสัมภิทา ก็จะเป็นเพียงพระอรหันต์ผู้บรรลุอภิญญา ๖,
ต่อมา ไม่สามารถบรรลุอภิญญา ก็จะบรรลุเพียงวิชชา ๓,
ต่อมาจนถึงกาลบัดนี้ จะบรรลุเพียงความสิ้นไปแห่งอาสวะเท่านั้น,
หลังจากนั้น ไม่สามารถบรรลุความสิ้นไปแห่งอาสวะ จะบรรลุเพียงพระอนาคามิผล สกทาคามิผล และพระโสดาปัตติผล ไปตามลำดับ สุดท้ายก็จะไม่อาจบรรลุโสดาปัตติผลได้.
ลำดับนั้น ในกาลใด วิปัสสนาของภิกษุเหล่านี้ ถูกอุปกิเลสเหล่านี้ทำให้หม่นหมองแล้ว (ครอบงำหรือสำคัญว่าเป็นมรรคผล) จักดำรงอยู่เพียงได้เริ่มปฏิบัติเท่านั้น, ทีนั้น อธิคมสัทธรรม ชื่อว่า จักเป็นอันอันตรธานไป.
พระบาฬีโคตมีสูตร อัฏฐกนิบาต อังคุตรนิกายว่า
อานนท์ ถ้ามาตุคามจักไม่ได้ออกจากการครองเรือนเข้ามาบรรพชาในธรรมวินัยอันตถาคตประกาศแล้วไซร้, พรหมจรรย์ (ศาสนาคำสอน) จักเป็นอันตั้งอยู่สิ้นกาลยาวนาน, สัทธรรม พึงดำรงอยู่ชั่วพันปีทีเดียว. แต่เพราะเหตุที่มาตุคามออกจากการครองเรือนเข้ามาบรรพชาในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศไว้แล้ว, บัดนี้ พรหมจรรย์จักมิได้เป็นอันดำรงอยู่ยาวนานแล้ว. บัดนี้ สัทธรรมจักดำรงอยู่ชั่วห้าร้อยปีเท่านั้น นะอานนท์ !.ฯลฯ
อานนท์ บุรุษ พึงกั้นคันบ่อน้ำป้องกันไว้เพื่อไม่ให้น้ำไหลล้นออกมา ฉันใด, ตถาคตก็จะบัญญัติครุธรรม ๘ ประการนี้ ป้องกันไว้มิให้ภิกษุนีล่วงละเมิดไปจนชั่วชีวิต ฉันนั้นเหมือนกันแล.
คัมภีร์มโนรถปูรณี อรรถกถาโคตมีสูตรนั้น อธิบายพระบาฬีไว้ดังนี้
เปรียบเหมือนว่า เมื่อบ่อน้ำบ่อใหญ่ มิได้ทำคันกั้นไว้ น้ำนิดหน่อยเท่านั้น ขังอยู่, แต่ครั้นได้กั้นไว้ก่อนนั่นเทียว ก็จะกักน้ำ แม้ที่จะอาจกักไว้ไม่ได้เพราะเหตุที่ยังไม่ได้กั้นคันไว้ ฉันใด เมื่อยังไม่เกิดเรื่องขึ้น ครุธรรมเหล่าใด ที่ตถาคตได้บัญญัติ ป้องกันไว้ก่อนทีเดียวเพื่อมิให้เกิดการล่วงละเมิด, เมื่อตถาคตมิได้บัญญัติครุธรรมเหล่านั้นไว้ พระสัทธรรมพึงดำรงอยู่ได้ ๕๐๐ ปี เพราะมีมาตุคามเข้ามาบวช. แต่เพราะตถาคตได้บัญญัติครุธรรมเหล่านั้นป้องกันไว้แล้วนั่นเทียว พระสัทธรรมจักดำรงอยู่ชั่ว ๕๐๐ ปีอื่นอีก เพราะเหตุนั้น พระสัทธรรมจักดำรงอยู่ชั่วพันปีดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ก่อนนั่นเทียว.
อนึ่ง คำว่า ชั่วพันปี นี้ พระองค์ตรัสไว้โดยมีพระขีณาสพผู้บรรลุความแตกฉานในปฏิสัมภิทา[๑๕]เท่านั้น, ก็ พระปฏิเวธสัทธรรม จักดำรงอยู่ชั่วห้าพันปีอย่างนี้คือ ปฏิเวธสัทธรรม จักดำรงอยู่ชั่วพันปีต่อจากนั้นอีก (คือจากพันปีที่ตรัสไว้โดยความมีพระขีณาสพผู้บรรลุความแตกฉานในปฏิสัมภิทานั้น) ก็โดยมีพระขีณาสพผู้เป็นสุกขวิปัสสก. ชั่วพันปี (จากนั้น) โดยมีพระอนาคามี, ชั่วพันปี (จากนั้น) โดยมีพระสกทาคามี , ชั่วพันปี (จากนั้น) โดยมีพระโสดาบัน. ถึงพระปริยัติ ก็ดำรงอยู่ชั่วห้าพันปีเช่นกัน. จริงอยู่ เมื่อปริยัติไม่มี ปฏิเวธ จะชื่อว่า มีอยู่ หามิได้, เมื่อปริยัติไม่มี ปฏิเวธ จะมีไม่ได้. ส่วนลิงค์ ถึงปริยัติจะอันตรธานไปก็ตาม ก็จักเป็นไปสิ้นกาลช้านาน.[๑๖]
แม้ในคัมภีร์สมันตปสาทิกา อรรถกถาวินยปิฎก ก็กล่าวไว้เช่นนี้เหมือนกัน. 
อนึ่ง ในฏีกาของสูตรนี้ เสนอแนะว่า "ก็เพราะ คำอธิบายในอรรถกถาทั้งปวงดังกล่าวมานี้ ต่างก็แตกต่างจากกันและกัน, ดังนั้น ขอให้เราพึงถือเอาว่า "คำอธิบายที่พระอรรถกถาจารย์แสดงไว้ ในอรรถกถานั้นๆ เป็นมติของพระภาณกาจารย์ของนิกายนั้นๆ เท่านั้น. ด้วยว่า หากจะคิดไปโดยประการอื่น  ก็จะกลายเป็นการเข้าถึงความขัดแย้งของตอนต้นกับปลายไปเสีย ฉะนี้แล".
เกี่ยวกับอธิคมหรือปฏิเวธอันตรธาน จะเห็นได้ว่ามีความแตกต่างกันบ้างในรายละเอียด คือในช่วงระยะเวลาและตัวบุคคลผู้ทรงอธิคม จึงสรุปได้ดังตารางต่อไปนี้

ความปรากฏแห่งพระอริยบุคคลตามที่แสดงในอรรถกถาต่างๆ

พระอริยะ
วิ.อ.จู., อัง.อ. อัฏฐ.
ที.ปา.อ.
อัง.อ. เอก.
สัง.นิ.อ.
ปฏิสัมภิทาปัตตะ
พันปีที่ ๑
พันปีที่ ๑
พันปีที่ ๑
ปฐมโพธิกาล
ฉฬภิญญา
-
พันปีที่ ๒
ไม่ระบุ
ไม่ระบุ
เตวิชชา
-
พันปีที่ ๓
ไม่ระบุ
ไม่ระบุ
สุกขวิปัสสก
พันปีที่ ๒
พันปีที่ ๔
ไม่ระบุ
ไม่ระบุ
อนาคามี
พันปีที่ ๓
-
ไม่ระบุ
ไม่ระบุ
สกทาคามี
พันปีที่ ๔
-
ไม่ระบุ
ไม่ระบุ
โสดาบัน
พันปีที่ ๕
-
ไม่ระบุ
ไม่ระบุ
ปาติโมกข์
-
พันปีที่ ๕
-
-

        
๑ พระอริยะบุคคลที่ยกมาแสดงไว้นี้ นำมาทั้งหมดตามอรรถกถาทุกแห่งระบุ และได้จัดเรียงไว้ตามมติของอรรถกถาทีฆนิกายเป็นต้นที่กล่าวพระอรหันตบุคคลไว้ครบ ส่วนพระอริยบุคคลเบื้องต่ำสาม เรียงตามอรรถกถาวินัยปิฎก 
๒ อรรถกถาภิกขุนีขันธกะ จูฬวรรค วินัยปิฎก และอรรถกถาโคตมีสูตร อัฏฐกนิบาต อังคุตตรนิกาย สองอรรถกถานี้มีข้อความเดียวกัน. ท่านระบุว่า พระสัทธรรม จักตั้งอยู่ครบ ๕๐๐๐ ปี. ถ้าได้บัญญัติครุธรรม ๘ ประการนี้ แต่ถ้าไม่บัญญัติไว้ เพราะมีสตรีเข้ามาบวช จึงตั้งอยู่ได้เพียง ๕๐๐ ปีเท่านั้นไม่เกินกว่านี้. โดยนัยนี้ จึงเท่ากับว่า ในพระบาฬี บอกไว้แค่เพียง ๑๐๐๐ ปี. แต่เมื่อขยายความออกไปโดยอาศัยคำว่า พันปี เป็นเหตุ จึงสามารถระบุกาลของพระศาสนาได้ครบ ๕๐๐๐ ปีโดยอาศัยพระอริยบุคคลผู้เป็นไปในแต่ละพันปีดังกล่าว.
คำว่า ศาสนาอยู่ครบพันปี ท่านอธิบายว่า ศาสนาจักดำรงอยู่ตลอดพันปี โดยความมีอยู่ของพระอรหันต์ผู้บรรลุความแตกฉานในปฏิสัมภิทาเท่านั้น. ด้วยคำว่า เท่านั้น แสดงว่า กำหนดกาลแห่งพระศาสนาในพันปีแรก ก็ด้วยพระอรหันต์ประเภทปฏิสัมภิทา. เพราะในพันปีถัดไป ท่านกำหนดกาลแห่งพระศาสนาด้วยพระอรหันต์ประเภทสุกขวิปัสสกะทีเดียว โดยเว้นพระอรหันต์ผู้ทรงคุณวิเศษอีกสองประเภทไป. โดยนัยนี้ ก็เป็นอันแสดงว่า ในพันปีแรกมีอรหันต์อยู่สามประเภท คือ ปฏิสัมภิทาปัตตะ ฉฬภิญญาและเตวิชชา  แต่ท่านแสดงไว้โดยยกปฏิสัมภิทาปัตตะ ขึ้นเป็นประธาน. อย่างไรก็ตาม เมื่อผ่านพันปีที่ ๑ ไปเข้าสู่พันปีที่สอง พระอรหันต์ประเภทปฏิสัมภิทาปัตตะ หาได้มีไม่. พระศาสนา จักดำรงอยู่ตลอดพันปีที่สอง โดยความมีอยู่แห่งพระอรหันต์สุกขวิปัสสกะ. ที่เหลือ ก็มีนัยนี้.
อรรถกถาสัมปสาทนียสูตร ปาฏิกวรรค ทีฆนิกายนี้ กล่าวโดยเอาพระอริยบุคคลมากำหนดช่วงเวลาของพระศาสนา กล่าวคือ นับแต่ที่พระศาสนาเป็นไปตั้งแต่พระพุทธองค์ยังทรงดำรงอยู่ไปจนครบถึงพันปี มีพระอรหันต์ครบถ้วนทุกประเภทโดยเริ่มแต่ผู้เป็นปฏิสัมภิทาปัตตะ.   พระศาสนาดำรงอยู่ไปโดยมีพระอรหันต์ผู้ทรงคุณวิเศษตามลำดับ. จนล่วงถึงพันปีที่ ๔ จะมีพระอรหันต์สุกขวิปัสสกเป็นอย่างสูงสุด. ภายใน ๔ พันปี นี้ พระอริยะทั้งหลายยังมีอยู่ ปฏิปทาอันนำความเป็นพระอริยะทั้งหลายยังเป็นไป. ครั้นครบพันปีที่ ๔ ต่อเมื่อพระอริยะรูปสุดท้ายปรากฏขึ้น ก็แสดงว่า ปฏิเวธถึงกาลที่ต้องล่มสลาย, ครั้นครบพันปีที่ ๕ ต่อเมื่อศีลของภิกษุรูปสุดท้ายแตกทำลาย ปฏิบัติศาสนาก็เป็นอันล่มสลาย
ความจริง ปาติโมกข์นี้ ไม่ใช่พระอริยบุคคลผู้ทรงปฏิเวธคุณก็จริง แต่ในอรรถกถาทีฆนิกายได้นำมาแสดงไว้ โดยเนื่องกับการแสดงความสิ้นสุดแห่งปฏิเวธศาสนา คือ เมื่อสี่พันปีครบถ้วน ปฏิเวธศาสนา ก็สิ้นสุด และเมื่อครบพันปีที่ ๕ ปาติโมกข์อันเป็นปฏิบัติศาสนา ก็เป็นอันสิ้นสุด.
แม้คัมภีร์สัมโมหวิโนทนี อรรถกถาญาณวิภังค์ ก็แสดงไว้เช่นเดียวกันนี้.
. ท่านอธิบายในลักษณะที่แสดงความต่อเนื่องกันว่า ช่วงพันปีแรกจากพุทธปรินิพพานมีพระขีณาสพผู้ทำปฏิสัมภิทาให้เกิดได้, ต่อจากพันปีนั้นก็ไม่สามารถทำปฏิสัมภิทาให้เกิดได้ จะทำได้ก็เพียงอภิญญา ๖ เป็นอย่างสูงให้เกิดได้. 
ที่ว่า ไม่ระบุ หมายถึง มิได้ระบุว่าเป็นพันปีถัดไปหรือไม่ คงกล่าวเพียงว่า หลังจากกาลที่ไม่สามารถทำอภิญญาให้เกิดได้ หลังจากกาลที่ไม่สามารถทำวิชชา ๓ ให้เกิดได้เป็นต้น.  และในคุณธรรมลำดับถัดไป ท่านใช้คำซ้ำกันว่า "คจฺฉนฺเต คจฺฉนฺเต กาเล เมื่อกาลผ่านไปเป็นลำดับ"  เมื่อเป็นเช่นนี้ อาจหมายถึงพันปีลำดับถัดไป โดยเทียบกับข้อความในประโยคต้นและกับอรรถกถาอื่น. ส่วนคุณที่ยกขึ้นมากล่าวพึงทราบว่า เป็นการกล่าวโดยยกธรรมที่สูงสุดมากล่าว เพราะแม้คุณที่ต่ำกว่านั้นย่อมมีได้โดยธรรมดา.
๕ ในอรรถกถานี้ กล่าวว่ามีพระอรหันต์ประเภทปฏิสัมภิทาปัตตะเฉพาะกาลที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ ข้อนี้สันนิษฐานตามฎีกาของสูตรนี้ว่า ภิกษุผู้ดำรงอยู่ในปฐมโพธิกาลนั้น จึงสามารถบำเพ็ญข้อปฏิบัติที่สมควรแก่ปฏิสัมภิทานั้น. แม้ในคุณธรรมขั้นต่อไปก็มีนัยนี้.
แต่ที่น่าสังเกตอีกประการหนึ่ง คือ ท่านไม่ได้ระบุว่า หลังจากพระศาสนาล่วงไปได้เท่าไร บอกไว้โดยกว้างๆว่า กาเล คจฺฉนฺเต เมื่อกาลผ่านไป. และมาถึงในวาระที่ท่านจะกล่าวถึงการไม่สามารถบรรลุวิชชาสามแต่สามารถบรรลุเพียงความสิ้นไปแห่งอาสวะ ก็ใช้คำว่า "อิทานิ กาเล คจฺฉนฺเต เมื่อกาลผ่านไป ณ บัดนี้" แสดงว่า ยุคที่ท่านรจนาอรรถกถาอยู่ในราว พ.ศ. ๙๐๐ ดังนั้น เมื่อถือเอาเช่นนี้ แสดงว่า หลังจากพุทธปรินิพพานได้ไม่เกิน ๑๐๐๐ ปี ก็ไม่มีพระอรหันต์ที่ทรงคุณวิเศษมากกว่าสุกขวิปัสสกเลย. ข้อนี้จึงสอดคล้องกับอรรถกถาวินยและโคตมีสูตรว่า หลังจากพันปีที่ ๑ จะมีพระอรหันต์ประเภทสุกขวิปัสสกะเป็นอย่างสูง.

ข้อสรุป
พระฏีกาจารย์กล่าวคือฏีกาโคตมีสูตร อัฏฐกนิบาต อังคุตตรนิกาย ชี้ให้เห็นว่า              อรรถกถาแต่ละแห่งกล่าวขัดแย้งกันเอง และเสนอแนะว่า การที่ท่านกล่าวขัดแย้งกันนี้ ควรทราบว่า จะเป็นเพราะท่านพระพุทธโฆษาจารย์ ผู้รจนาคัมภีร์อรรถกถาใหม่ที่ปรากฏในปัจจุบัน จะแสดงเบื้องต้นและเบื้องปลายไม่เหมือนกัน แต่เป็นเพราะท่านแสดงไปตามมติของภาณกาจารย์ (อาจารย์ผู้สวดหรือกล่าวสอน) แห่งนิกายนั้น.
อย่างไรก็ตาม พระอรหันต์ผู้ทรงปฏิสัมภิทา เป็นผู้ทรงคุณสูงสุด เป็นผู้อยู่ร่วมสมัยกับพระองค์มากที่สุด จับแต่ครั้งพระองค์ยังทรงดำรงอยู่ทีเดียว จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะเป็น              อรรถกถานิกายใดๆ ก็ตามต่างก็กล่าวไว้ตรงกันว่า อยู่ในยุคเดียวกับพระองค์ทั้งสิ้น และโดยเฉพาะอรรถกถาสังยุตตนิกายถึงกับระบุว่า ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อบรรลุปฏิสัมภิทา เหมาะสำหรับภิกษุผู้ดำรงอยู่ในครั้งพุทธกาล.
ตามหลักฐานที่กล่าวมานี้ แม้ว่า พระอรหันต์ผู้ทรงคุณพิเศษ  กล่าวคือ ปฏิสัมภิทา และอภิญญา ๖ ในปัจจุบันนี้ (พ.ศ. ๒๕๕๔) จะไม่ปรากฏแล้ว แต่กระนั้น พระอรหันต์ประเภทวิชชา ๓ และสุกขวิปัสสก ก็ยังดำรงอยู่ แม้พระอริยบุคคลเบื้องต่ำกว่านั้น ก็ยังปรากฏอยู่ จะป่วยกล่าวไปใยถึงปฏิบัติศาสนา กล่าวคือ สิกขาทั้ง ๓ อันเป็นปฏิปทาเพื่อบรรลุปฏิเวธศาสนา ย่อมปรากฏอยู่แท้ทีเดียว. ควรที่เราพุทธศาสนิก จะได้บากบั่นบำเพ็ญสิกขา ๓ อันเป็นปัจจัยใกล้ชิดเพื่อปฏิเวธนั้น ไม่ควรท้อแท้ว่า ในศาสนาพระโคตมพุทธเจ้านี้ ปฏิเวธเสื่อมสิ้นแล้ว. อนึ่ง แม้ทายก ผู้ใคร่เข้าไปใกล้พระอริยเจ้า ควรจะทำความร่าเริง บันเทิง ถึงความขวนขวายในอันที่บำเพ็ญทักขิณาทานในพระศาสนานี้สืบไป เพราะเป็นที่ประจักษ์ตามหลักฐานว่า แม้ในปัจจุบันพระอริยเจ้า ก็ยังมีอยู่นั่นเทียว.

กถาว่าด้วยอธิคมอันตรธาน จบ


๒) ปฏิบัติอันตรธาน
การอันตรธานแห่งปฏิบัติสัทธรรม
         คำว่า ปฏิปัตติ มีความหมายว่า
         ปฏิปชฺชนํ ปฏิปตฺติ, สิกฺขตฺตยสมาโยโคฯ ปฏิปชฺชิตพฺพโต วา ปฏิปตฺติ
         การปฏิบัติ ชื่อว่า ปฏิปัตติ กล่าวคือ การประพฤติไตรสิกขาให้ร่วมกัน, อีกนัยหนึ่ง พระสัทธรรมนี้เรียกว่า ปฏิปัตติ เพราะเป็นสิ่งที่ศาสนิกพึงประพฤติปฏิบัติ. เอกก.อัง. ฏี.
            ปฏิปทาติ ปฏิเวธาวหา ปุพฺพภาคปฏิปทาฯ ปฏิบัติ ได้แก่ ปฏิปทา (เหตุให้บรรลุปฏิเวธ) อันเป็นเบื้องต้น อันนำปฏิเวธมาให้ ที.ปา.ฏี.
         คัมภีร์มโนรถปูรณี อรรถกถาเอกกนิบาตกล่าวถึงปฏิปัตติอันตรธาน ว่า
            เมื่อภิกษุไม่สามารถทำฌาน วิปัสสนา มรรคและผล ให้เกิดขึ้น จะรักษาได้ก็แต่เพียงจตุปาริสุทธิศีล. ครั้นกาลล่วงไปๆ เหล่าภิกษุพากันคิดว่า พวกเราจะรักษาศีลให้บริบูรณ์, จะประกอบความเพียร, (แต่) พวกเราไม่สามารถบรรลุมรรคผลได้, การบรรลุอริยธรรมหาได้มี ในกาลบัดนี้แล้ว” ดังนี้ ก็ถึงความท้อแท้ล้าลง มากด้วยความเกียจคร้าน มิได้ตักเตือนกันและกันให้ระลึกได้ หาได้มีความเดือดร้อน (เพราะการต้องอาบัติ) ไม่[๑๗], แต่นั้นมา จึงได้เหยียบย่ำข้อวัตรปฏิบัติอันเป็นอภิสมาจาร[๑๘]. ครั้นกาลล่วงไปอีก ก็ต้องอาบัติปาจิตตีย์และถุลลัจจัย, แต่นั้น จึงต้องอาบัติหนัก. ปาราชิกเท่านั้น ที่ดำรงอยู่. เมื่อภิกษุผู้รักษาอาบัติปาราชิก ๑๐๐ หรือ ๑๐๐รูป ยังธำรงอยู่ ปฏิบัติศาสนา จะชื่อว่า ได้อันตรธานไม่[๑๙]. แต่เมื่อภิกษุรูปสุดท้ายมีศีลทำลายหรือสิ้นชีวิตไป จึงเป็นอันว่า อันตรธาน. ปฏิปัตติอันตรธาน เป็นเช่นดังว่ามานี้. 
            คัมภีร์สุมังคลวิลาสินี กล่าวถึงปฏิบัติอันตรธาน ดังนี้ว่า
อนึ่ง ถึงสองปิฎกคือพระอภิธรรมและพระสุตตันตปิฏก อันตรธานไปก็ตาม แต่เมื่อพระวินัยปิฎกยังดำรงอยู่ พระศาสนาชื่อว่า ยังดำรงอยู่. เมื่อคัมภีร์ปริวารและขันธกะ [๒๐] อันตรธานไป แต่เมื่อวิภังค์ทั้งสอง [๒๑]ยังคงดำรงอยู่ พระศาสนา ก็ยังคงดำรงอยู่. เมื่อวิภังค์ทั้งสองอันตรธาน แต่มาติกายังดำรงอยู่ ก็ยังชื่อว่า ดำรงอยู่นั่นเทียว. เมื่อมาติกา อันตรธาน แต่ปาติโมกข์ บรรพชาและอุปสมบท ยังดำรงอยู่ พระศาสนาย่อมดำรงอยู่.[๒๒] ส่วนลิงค์ (เพศ) ย่อมเป็นไปสิ้นกาลช้านาน. ก็ ผู้สืบเชื้อสายแห่งสมณะผ้าขาว (เสตวัตถสมณวงศ์) มิอาจจะธำรงศาสนาไว้ได้ นับแต่ครั้งกาลแห่งพระกัสสปพุทธเจ้าแล้ว. พระศาสนา ดำรงอยู่สิ้นพันปี โดยมีพระอรหันต์ผู้บรรลุปฏิสัมภิทา, ดำรงอยู่สิ้นพันปี (ต่อไป) โดยมีพระอรหันต์ผู้บรรลุอภิญญา ๖, ดำรงอยู่สิ้นพันปี (ต่อไป) โดยมีพระอรหันต์ผู้บรรลุวิชชา ๓, ดำรงอยู่สิ้นพันปี (ต่อไป) โดยมีพระอรหันต์ ผู้เป็นสุกขวิปัสสก, ดำรงอยู่สิ้นพันปี โดยมีพระปาติโมกข์.[๒๓] นับตั้งแต่พระอริยะรูปสุดท้ายได้แทงตลอดสัจจะ, นับตั้งแต่ภิกษุรูปสุดท้ายได้ทำลายศีล ศาสนา ชื่อว่า ย่อมเป็นอันจบสิ้นลง.[๒๔] จับแต่นั้น การอุบัติขึ้นแห่งพระพุทธเจ้าพระองค์อื่น ก็มิได้ถูกธรรมชาติใดๆ ขัดขวาง.[๒๕]
         โดยนัยของอรรถกถานี้ ปฏิปัตติอันตรธาน ก็คือการอันตรธานของปาติโมกข์ บรรพชาและอุปสมบท อันจะมีในลำดับแห่งปริยัติอันตรธาน ซึ่งต่างจากอรรถกถาเอกกนิบาตดังกล่าวข้างต้นเล็กน้อย.
         สังยุตตอรรถกถากล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า
   จริงอยู่ ในปฐมโพธิกาล (หลังการตรัสรู้ได้ไม่นาน) ภิกษุทั้งหลายบำเพ็ญข้อปฏิบัติอันเหมาะสมแก่ปฏิสัมภิทาทั้ง ๔ ให้บริบูรณ์ได้. [๒๖]
   เมื่อกาลผ่านไป เมื่อไม่สามารถบำเพ็ญข้อปฏิบัติอันควรแก่ปฏิสัมภิทา ๔ ให้บริบูรณ์ จักบำเพ็ญข้อปฏิบัติอันเหมาะสมแก่อภิญญา ๖ ให้บริบูรณ์,
   เมื่อไม่สามารถบำเพ็ญข้อปฏิบัติอันควรแก่อภิญญา ๖ ให้บริบูรณ์ จักบำเพ็ญข้อปฏิบัติอันเหมาะสมแก่วิชชา ๓.
   เมื่อไม่สามารถบำเพ็ญข้อปฏิบัติอันควรแก่วิชชา ๓ ให้บริบูรณ์ จักบำเพ็ญข้อปฏิบัติอันเหมาะสมแก่พระอรหัตตผลเท่านั้น.
   เมื่อกาลผ่านไป เมื่อไม่สามารถบำเพ็ญข้อปฏิบัติอันควรแก่พระอรหัตผลให้บริบูรณ์ ก็จักบำเพ็ญข้อปฏิบัติอันควรแก่พระอนาคามิผลให้บริบูรณ์.
   เมื่อไม่สามารถบำเพ็ญข้อปฏิบัติอันควรแก่อนาคามิผล ให้บริบูรณ์ จักบำเพ็ญข้อปฏิบัติอันเหมาะสมแก่พระสกทาคามิผลให้บริบูรณ์.
    เมื่อไม่สามารถบำเพ็ญข้อปฏิบัติอันควรแก่พระสกทาคามิผล ให้บริบูรณ์ จักบำเพ็ญข้อปฏิบัติอันเหมาะสมแก่พระโสดาปัตติผลให้บริบูรณ์.
   ก็ในกาลใด เมื่อเหล่าภิกษุไม่สามารถบำเพ็ญปฏิปทาอันควรแม้แก่พระโสดาบัตติผลให้บริบูรณ์ จักดำรงอยู่ในคุณเพียงแค่ความหมดจดแห่งศีลเท่านั้น, ในกาลนั้น ปฏิบัติสัทธรรมจักมีชื่อว่า อันตรธาน.”[๒๗]
         ในอรรถกถาอัฏฐกนิบาต อังคุตรนิกายและอรรถกถาขันธกะ วินัยปิฎก ไม่ได้กล่าวถึงปฏิบัติสัทธรรมอันตรธานไว้ แต่ในคัมภีร์สารัตถทีปนี ฏีกาพระวินัย ได้กล่าวถึงความเป็นไปของลิงค์หรือเพศภิกษุเท่านั้นที่เป็นไปสืบต่อจากที่ปริยัติอันตรธาน โดยนัยนี้ถือว่า ปฏิบัติสัทธรรมได้อันตรธานไปก่อนหน้าที่ปริยัติสัทธรรมจะอันตรธาน รายละเอียดในเรื่องนี้จะยกไปกล่าวในเรื่องของลิงคอันตรธาน.
         จากอรรถกถาทั้งสามแห่งที่ยกมาแสดงนี้ สรุปได้ดังต่อไปนี้
        
คัมภีร์
คุณธรรมสุดท้ายก่อนอันตรธาน[๒๘]
จุดที่อันตรธาน[๒๙]
เหลือ
วิ.อ.จู.,อัง.อัฏฐ.อ.
ไม่ได้แสดงไว้
ไม่ได้แสดงไว้

ที.ปา.อ.
ปาติโมกข์,บรรพชาและอุปสมบท
ศีลของภิกษุรูปสุดท้ายแตกทำลาย
เพศ
อัง. เอก.อ.
ไม่สามารถทำฌาน มรรค ผล วิปัสสนา
เกิดขึ้น รักษาได้เฉพาะปาราชิก ๔
ศีลของภิกษุรูปสุดท้ายแตกทำลาย
เพศ
สัง.นิ.อ.
เพียงรักษาศีลให้บริสุทธิ์
ไม่อาจทำปฏิปทาที่ให้เกิดโสดาปัตติมรรคคือวิปัสสนา
ศีล


กถาว่าด้วยปฏิบัติอันตรธาน จบ

๓) ปริยัติอันตรธาน
การอันตรธานแห่งปริยัติ
            อรรถกถาเอกกนิบาต อังคุตรนิกาย ให้คำจำกัดความของปริยัติและกล่าวถึงปริยัติอันตรธานไว้ดังต่อไปนี้
            คำว่า ปริยัติ หมายถึง พระพุทธวจนะคือพระไตรปิฎก หรือพระบาฬีและอรรถกถา. พระบาฬีและอรรถกถานั้น ดำรงอยู่เพียงใด, ปริยัติ ชื่อว่า ยังบริบูรณ์อยู่เพียงนั้น, เมื่อกาลผ่านไป ๆ พระราชาและพระยุพราช มิได้ตั้งอยู่ในธรรม, เมื่อพระราชาและพระยุพราชไม่ตั้งอยู่ในธรรม อำมาตย์แห่งพระราชาเป็นต้น ก็ย่อมเป็นผู้ไม่ตั้งอยู่ในธรรม. ต่อมาชาวแว่นแคว้นชาวชนบทก็เป็นผู้ไม่ตั้งอยู่ในธรรมเช่นกัน. เพราะมนุษย์เหล่านั้นไม่ตั้งอยู่ในธรรม ฝน ก็มิได้ตกโดยชอบ (มิได้ตกต้องตามฤดูกาล). แต่นั้น การเพาะปลูกก็มิได้ประสบผลสำเร็จ. เมื่อการเพาะปลูกไม่สำเร็จ ทายกผู้ถวายปัจจัย ก็มิอาจจะถวายปัจจัยแก่ภิกษุสงฆ์. ภิกษุทั้งหลาย เมื่อลำบากด้วยปัจจัยทั้งหลาย ก็มิอาจจะสงเคราะห์อันเตวาสิก. เมื่อกาลผ่านไปๆ ปริยัติ ย่อมเสื่อม, ไม่มีใครทรงจำไว้โดยเกี่ยวกับอรรถ (คืออรรถกถา). ทรงจำได้เพียงพระบาฬีเท่านั้น. เมื่อกาลผ่านไปตามลำดับ ถึงพระบาฬี ก็ไม่อาจทรงไว้ได้. พระอภิธรรมปิฎก จะเสื่อมไปเป็นลำดับแรก. พระอภิธรรมปิฎกนั้น เมื่อเสื่อม ย่อมเสื่อมตั้งแต่ปกรณ์สุดท้าย.[๓๐] จริงอยู่ ปกรณ์มหาปัฏฐาน ย่อมเสื่อมเป็นลำดับแรกทีเดียว. เมื่อปัฏฐานมหาปกรณ์นั้นเสื่อมไปแล้ว ยมก, กถาวัตถุ, ปุคคลบัญญัติ ธาตุกถา วิภังค์ ธรรมสังคหะ (ธัมมสังคณี) ย่อมเสื่อม (เป็นลำดับไป).
         เมื่อพระอภิธรรมปิฎกเสื่อมไปแล้ว พระสุตตันตปิฎก  ย่อมเสื่อมจำเดิมแต่ยอดสุด. จริงอยู่ อังคุตตรนิกาย ย่อมเสื่อมก่อน.  ในอังคุตรนิกายแม้นั้น เอกาทสกนิบาตเสื่อมก่อน, แต่นั้น ทสกนิบาต จึงเสื่อม, แต่นั้น นวกนิบาต ฯลฯ เอกกนิบาต ย่อมเสื่อมเป็นลำดับไป. เมื่ออังคุตตรนิกายเสื่อมแล้ว สังยุตตนิกายย่อมเสื่อม จำเดิมแต่ยอดสุด.   จริงอยู่  มหาวรรค ย่อมเสื่อมเป็นลำดับแรก ต่อจากนั้น สฬายตนวรรค ขันธวรรค นิทานวรรค และสคาถวรรค ย่อมเสื่อมเป็นลำดับไป. เมื่อสังยุตตนิกายเสื่อมไปแล้ว มัชฌิมนิกายย่อมเสื่อมแต่สุดท้าย. จริงอยู่ อุปริปัณณาสก์ ย่อมเสื่อมก่อน, แต่นั้น มัชฌิมปัณณาสก์และมูลปัณณาสก์ย่อมเสื่อมไปตามลำดับ. เมื่อมัชฌิมนิกายเสื่อมแล้ว แต่นั้น ทีฆนิกาย ย่อมเสื่อม จับแต่สุดท้ายขึ้นมา. จริงอยู่ ปาถิกวรรคย่อมเสื่อมเป็นลำดับแรก ต่อมา มหาวรรค และ สีลขันธวรรคย่อมเสื่อมไปเป็นลำดับ อย่างนี้แหละ. เมื่อทีฆนิกายเสื่อมไป พระสุตตันตปิฎก ชื่อว่าเป็นอันเสื่อมแล้ว. ส่วนชาตกและพระวินัยปิฎกเท่านั้น ยังธำรงอยู่. ภิกษุผู้มีความละอายเท่านั้น ย่อมทรงพระวินัยปิฎกไว้. ส่วนภิกษุผู้ปรารถนาแต่ลาภ คิดว่า "เมื่อเรากล่าวพระสูตรอยู่ ชนผู้กำหนดได้ย่อมไม่มี (ไม่มีใครฟังรู้เรื่อง)" ดังนี้ ย่อมทรงเฉพาะชาตกไว้นั่นเทียว. เมื่อกาลผ่านไป ถึงชาดก ภิกษุเหล่านั้น ก็ไม่อาจทรงไว้ได้. เมื่อเป็นเช่นนี้ ในบรรดาชาดกเหล่านั้น เวสสันตรชาดก ย่อมเสื่อมเป็นลำดับแรก. ต่อจากนั้น ปุณณกชาดก (วิธุรชาดก ?) และมหานารทชาดก ย่อมเสื่อมโดยปฏิโลม (ทวนลำดับจากท้ายมาหาต้น) เพราะฉะนั้น อปัณณกชาดก ย่อมเสื่อมเป็นลำดับสุดท้าย. เมื่อชาดกเสื่อมไป พระวินัยปิฎกนั่นเทียว ที่ยังธำรงอยู่ ด้วยประการฉะนี้.
         เมื่อกาลผ่านไป แม้วินัยปิฎก ย่อมเสื่อมนับจากสุดท้าย. จริงอยู่ ปริวารย่อมเสื่อมเป็นลำดับแรก, แต่นั้น คัมภีร์ขันธกะ ภิกขุนีวิภังค์ มหาวิภังค์ย่อมเสื่อมเป็นลำดับไป เพราะเหตุนั้น ภิกษุย่อมทรงไว้แต่เพียงแต่อุโปสถขันธะเท่านั้นนั่นเอง[๓๑]. แม้ในกาลนั้น ปริยัติ ก็ยังไม่ได้ชื่อว่า เสื่อมไป. อนึ่ง แม้เพียงคาถาที่ประกอบด้วยสี่บาท ยังเป็นไปในมนุษย์ทั้งหลาย[๓๒]เพียงใด, ปริยัติยังมิได้เสื่อมไปเพียงนั้นนั่นเทียว. ในกาลใด พระราชา มีพระราชศรัทธา เลื่อมใส ทรงรับสั่งให้นำถุงบรรจุกหาปณะมูลค่า ๑๐๐๐ ตั้งในผอบทองคำ บนกระพองช้าง แล้วเที่ยวป่าวประกาศไปในพระนครว่า “ผู้ที่รู้จักคาถามี ๔ บาทซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสไว้นั้น จงรับเอากหาปนะมูลค่า ๑๐๐๐ นี้เถิด” ถึงกระนี้ ก็ยังไม่มีผู้รับเอาไว้ ทรงดำริว่า “เมื่อประกาศเพียงครั้งเดียว อาจมีผู้ได้ยินบ้าง ไม่มีผู้ได้ยินบ้าง ดังนี้ จึงทรงให้ป่าวประกาศต่อไปจนถึง ๓ ครั้ง ก็ยังไม่มีผู้รับเอา พวกราชบุรุษ จึงนำถุงบรรจุกหาปนะ ๑๐๐๐ นั้นกลับเข้าไปยังราชสกุลอีก, ในกาลนั้น ปริยัติ ย่อมเป็นอันว่า อันตรธาน. นี้ชื่อว่า ปริยัติอันตรธาน.
         ส่วนในอรรถกถาทีฆนิกาย กล่าวถึงเรื่องนี้ดังนี้ว่า
         พระปริยัติ ได้แก่ พระไตรปิฎก. บรรดาปริยัติ ปฏิบัติและปฏิเวธเหล่านั้น ปฏิเวธ และ ปฏิบัติ มีบ้าง ไม่มีบ้าง. จริงอยู่ ในกาลสมัยหนึ่ง ภิกษุผู้แทงตลอด (บรรลุ) มีอยู่จำนวนมาก, เป็นผู้ที่จะถูกชี้นิ้วแสดงว่า ภิกษุผู้นี้เป็นปุถุชน (หายากจนแทบนับได้).  ในกาลครั้งหนึ่ง ชื่อว่า ภิกษุปุถุชน ไม่ได้มีเลย ในเกาะลังกานี้. ถึงภิกษุผู้ทำปฏิบัติศาสนาให้บริบูรณ์ บางคราวก็มีมาก บางคราวก็มีน้อย. ปฏิเวธและปฏิบัติ จึงมีบ้าง ไม่มีบ้าง ด้วยประการฉะนี้. ส่วนปริยัติเป็นหลักต่อการตั้งอยู่แห่งพระศาสนา. เพราะบัณฑิตได้เล่าเรียนพระไตรปิฎกแล้ว ย่อมทำศาสนาทั้งสองให้บริบูรณ์.
เปรียบเหมือนว่า พระโพธิสัตว์ของพวกเรา ทำอภิญญา ๕ และสมาบัติ ๗ ให้เกิดขึ้นแล้วในสำนักของอาฬารดาบส จึงได้ถามวิธีบริกรรม (การจัดแจงตระเตรียมเพื่อ) เนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ. อาฬารดาบสทูลว่า “ข้าพระองค์ไม่รู้” ดังนี้. ต่อจากนั้น พระองค์จึงเสด็จไปยังสำนักของอุทกดาบส เทียงเคียงคุณวิเศษที่ทรงบรรลุแล้ว ถามวิธีบริกรรมเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ, อุทกดาบสได้ทูลบอกแล้ว. พระมหาสัตว์ทำเนวสัญญานาสัญญายตนฌานนั้นให้ถึงพร้อมแล้ว ในขณะที่อุทกดาบสทูลจบทีเดียว ฉันใด, ภิกษุผู้มีปัญญา ก็ฉันนั้น ครั้นได้เล่าเรียนพระปริยัติแล้ว ย่อมทำให้ปฏิบัติและปฏิเวธทั้งสองให้บริบูรณ์ได้. เพราะฉะนั้น ศาสนาจะเป็นดำรงอยู่ได้ ก็เพราะปริยัติตั้งอยู่. ก็ในกาลใด ปริยัตินั้นจะอันตรธาน, ในกาลนั้น อภิธรรมปิฎก จะเสื่อมสูญก่อน. ในอภิธรรมปิฎกนั้น คัมภีร์ปัฏฐาน จะอันตรธานก่อนคัมภีร์อื่นทั้งปวง. ธรรมสังคณี จะเสื่อมสูญเป็นในที่สุด ไปตามลำดับ, ครั้นอภิธรรมปิฎกนั้น อันตรธานแล้ว ปิฎกทั้งสองยังธำรงอยู่ ศาสนา ยังเป็นตั้งอยู่นั่นเทียว.
         ในปิฎกอีกสองนั้น เมื่อพระสุตตันตปิฎกจะอันตรธาน อังคุตรนิกาย ย่อมเสื่อมจำเดิมแต่เอกาทสกนิบาตไปจนถึงเอกกนิบาต. ในลำดับแห่งอังคุตรนิกายนั้น สังยุตตนิกาย ย่อมอันตรธาน จำเดิมแต่จักกเปยยาล ไปจนถึงโอฆตรณสูตร. ในลำดับแห่งสังยุตตนิกายนั้น มัชฌิมนิกาย ย่อมเสื่อมจำเดิมแต่อินทริยภาวนสูตรไปจนถึงมูลปริยายสูตร. ในลำดับแห่งมัชฌิมนิกายนั้น ทีฆนิกาย ย่อมอันตรธาน จำเดิมแต่ทสุตตรสูตรไปจนถึงพรหมชาลสูตร. คำถามซึ่งปัญหาหนึ่งบ้าง สองปัญหาบ้าง ย่อมเป็นไปเนิ่นนาน, คำถามนั้นย่อมไม่อาจทรงพระศาสนาไว้ได้ เหมือนอย่างสภิยปุจฉาและอาฬวกปุจฉา. ได้ยินว่า ปัญหาสองนั้น อันอยู่ในระหว่าง  ซึ่งเป็นไปในกาลแห่งพระกัสสปพุทธเจ้า ไม่สามารถทรงพระศาสนาไว้ได้.
            อนึ่ง ถึงเมื่อปิฎกทั้งสอง อันตรธานแล้ว ถ้าวินัยปิฎก ยังดำรงอยู่ศาสนา ย่อมดำรงอยู่. เมื่อปริวารและขันธกะ อันตรธานไปแล้ว ถ้าวิภังค์ทั้งสอง ดำรงอยู่ ศาสนาชื่อว่า ดำรงอยู่. เมื่อวิภังค์ทั้งสองอันตรธานไปแล้ว แต่ถ้ามาติกา ดำรงอยู่ ศาสนาก็ชื่อว่า ดำรงอยู่นั่นเทียว. เมื่อมาติกา อันตรธานแล้ว แต่ถ้าปาติโมกข์บรรพชาและอุปสมบทยังดำรงอยู่ ศาสนาชื่อว่า ยังดำรงอยู่. ลิงค์ (เพศภิกษุ) ย่อมเป็นไปสิ้นกาลช้านาน. ก็ วงศ์สมณะผู้นุ่งผ้าขาว ไม่สามารถทรงพระศาสนา จำเดิมแต่กาลแห่งพระกัสสปพุทธเจ้าแล้ว. พระศาสนา ดำรงอยู่สิ้นพันปี โดยมีพระอรหันต์ผู้บรรลุปฏิสัมภิทา, ดำรงอยู่สิ้นพันปี (ต่อไป) โดยมีพระอรหันต์ผู้บรรลุอภิญญา ๖, ดำรงอยู่สิ้นพันปี (ต่อไป) โดยมีพระอรหันต์ผู้บรรลุวิชชา ๓, ดำรงอยู่สิ้นพันปี (ต่อไป) โดยมีพระอรหันต์ ผู้เป็นสุกขวิปัสสก, ดำรงอยู่สิ้นพันปี โดยมีพระปาติโมกข์นับตั้งแต่พระอริยะรูปสุดท้ายได้แทงตลอดสัจจะ, นับตั้งแต่ภิกษุรูปสุดท้ายได้ทำลายศีล ศาสนา ชื่อว่า ย่อมเป็นอันจบสิ้นลง. จับแต่นั้น การอุบัติขึ้นแห่งพระพุทธเจ้าพระองค์อื่น ก็มิได้ถูกธรรมชาติใดๆ ขัดขวาง.[๓๓]
         ส่วนในอรรถกถาสังยุตนิกาย ระบุว่า ตราบเท่าที่พระพุทธวจนะคือพระไตรปิฎกยังเป็นไป ก็ไม่ควรจะกล่าวว่า ศาสนาได้อันตรธานแล้ว. ปิฎกทั้งสามจงตั้งอยู่ ก็ตาม, เมื่ออภิธรรมปิฎกอันตรธาน แม้ถ้าที่เหลืออีกสองยังตั้งอยู่ ก็ไม่ควรกล่าวว่า ศาสนา ย่อมอันตรธาน ดังนี้นั่นเทียว. เมื่ออภิธรรมปิฎกและสุตตันตปิฎกอันตรธานแล้ว ถึงจะมีวินัยปิฎกเท่านั้นที่ตั้งอยู่ก็ตาม, แม้ในวินัยปิฎกนั้น ถึงคัมภีร์ขันธกะและปริวารอันตรธานแล้ว ถ้าเหลือเพียงอุภโตวิภังค์ ศาสนา ก็ยังไม่ได้ชื่อว่า อันตรธาน. ถึงมหาวินัยอันตรธาน เหลือเพียงปาติโมกข์ทั้งสองเท่านั้นที่เป็นไป ศาสนา ก็ยังไม่อันตรธานไปนั่นเทียว.[๓๔] แต่เมื่อใดที่ปาติโมกข์ทั้งสองจักอันตรธานไป, ทีนั้น ปริยัติสัทธรรมจักเป็นอันตรธาน. เมื่อปริยัติสัทธรรมอันตรธานเสียแล้ว พระศาสนาจึงได้ชื่อว่า อันตรธาน. เพราะเมื่อปริยัติอันตรธาน ปฏิบัติชื่อว่า ย่อมอันตรธาน, เมื่อปฏิบัติอันตรธาน อธิคม ย่อมอันตรธาน. เพราะเหตุไร ?[๓๕] เพราะปริยัติเป็นปัจจัยแก่ปฏิบัติ, ปฏิบัติ เป็นปัจจัยแก่อธิคม. ปริยัติเท่านั้น เป็นหลักสำคัญแม้กว่าปฏิบัติ (ในแง่ของการดำรงอยู่ของพระศาสนา)[๓๖]
         ถาม : ในกาลแห่งพระกัสสปะสัมมาสัมพุทธเจ้า มีภิกษุผู้ไม่ยินดีแม้แต่ศีล เป็นผู้ทุศีล นามว่า กปิละ นั่งบนอาสนะจับพัดด้วยคิดว่า "จะแสดงปาติโมกข์" ดังนี้ ถามขึ้นว่า "ผู้ประพฤติในปาติโมกข์นี้ มีอยู่หรือไม่",[๓๗] ครั้งนั้น ปาติโมกข์เป็นไปแก่ภิกษุเหล่าใด, เพราะกลัวต่อพระกปิละนั้น ภิกษุเหล่านั้นจึงไม่กล่าวว่า "เราประพฤติ" ดังนี้แล้วกลับกล่าวเสียว่า "มิได้ประพฤติ". ฝ่ายพระกปิละนั้น วางพัดแล้วจึงลุกจากอาสนะหลีกไป, ในกาลนั้น พระศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สิ้นสุดแล้ว มิใช่หรือ ?[๓๘]
         ตอบ : ถึงจะสิ้นสุดแล้ว ก็จริง, แต่กระนั้น พระปริยัติ ย่อมเป็นหลักสำคัญโดยส่วนเดียวนั่นเทียว. เหมือนอย่างว่า เมื่อคันของบ่อน้ำใหญ่ยังแข็งแรงดี ไม่ควรกล่าวว่า "น้ำจักไม่ขังอยู่" เมื่อมีน้ำนั้น ดอกปทุมเป็นต้น ก็ไม่ควรกล่าวว่า "จักไม่ผลิดอก" ฉันใด, เมื่อยังมีพระพุทธวจนะคือพระไตรปิฎก อันเป็นเช่นเดียวกับคันอันแข็งแรงแห่งบ่อน้ำใหญ่ กุลบุตรผู้บำเพ็ญข้อปฏิบัติให้บริบูรณ์ ผู้เป็นเช่นเดียวกับน้ำในบ่อนั้น ก็ไม่ควรจะกล่าวว่า "ไม่มี", เมื่อกุลบุตรเหล่านั้นมีอยู่ พระอริยบุคคลมีพระโสดาบันเป็นต้น ผู้เป็นราวกับว่าดอกปทุมเป็นต้นในบ่อน้ำใหญ่ ก็ไม่ควรจะกล่าวว่า "ไม่มี" ฉันนั้น เพราะฉะนั้น ปริยัตินั่นเทียว ย่อมเป็นหลักสำคัญโดยส่วนเดียวนั่นเทียว ด้วยประการฉะนี้.
         อนึ่ง อรรถกถาอังคุตรนิกาย อัฏฐกนิบาตและอรรถกถาจูฬวรรค กล่าวปริยัติอันตรธานไว้เล็กน้อยว่า
         แม้ปริยัติธรรม ก็เหมือนกัน คือ มีอายุ ๕๐๐๐ ปี. เมื่อปริยัติไม่มี ปฏิเวธ ก็ไม่มี, เมื่อเมื่อปริยัติ ไม่ปรากฏ ปฏิเวธก็ไม่ปรากฏ. ส่วนลิงค์ เมื่อปริยัติอันตรธาน จักเป็นไปเนิ่นนาน.ข้อความที่เหลือก็เหมือนกับอรรถกถาและฏีกาของสูตรอื่นทั้งสิ้น
         เกี่ยวกับการเป็นหลักสำคัญของการตั้งอยู่แห่งพระศาสนาของปริยัติและปฏิบัตินี้ มีข้อความที่อรรถกถาและฏีกาเอกกนิบาต อังคุตรนิกายได้กล่าวไว้ว่า
            “การอันตรธานแห่งปริยัตินั่นเทียว เป็นมูลเหตุของอันตรธาน ๕ ประการ. จริงอยู่ เมื่อปริยัติอันตรธาน ปฏิบัติย่อมอันตรธาน, เมื่อปริยัติตั้งอยู่ ปฏิบัติ ย่อมตั้งอยู่. เพราะเหตุนั้นนั้นเทียว ในคราวมีภัยใหญ่ตั้งแต่ครั้งพระเจ้าจัณฑาลติสสะ ในลังกาทวีปนี้ ท้าวสักกเทวราช ทรงเนรมิตแพใหญ่ แล้วให้ไปแจ้งแก่เหล่าภิกษุว่า “ภัยใหญ่กำลังจะเกิดขึ้น, ฝนจะไม่ตกต้องตามฤดูกาล, พวกภิกษุเมื่อลำบากด้วยปัจจัยทั้งหลาย จักไม่สามารถทรงพระปริยัติไว้ได้, พระคุณเจ้าทั้งหลายควรที่จะไปฝั่งโน้นแล้วจึงรักษาชีวิตไว้ได้. ขอนิมนต์ขึ้นแพใหญ่นี้ เจ้าข้า. สำหรับพระคุณเจ้าที่ไม่มีที่นั่งบนแพนี้ ก็ขอให้เกาะท่อนไม้แล้วพยุงตัวไปเถิด, พระคุณเจ้าทั้งหมดจักปลอดภัย. ต่อมา ครั้นถึงชายฝั่งมหาสมุทรแล้ว  ภิกษุ ๖๐ รูป ได้ทำกติกากัน ดังนี้ “กิจด้วยการไปในที่นี้ของพวกเรา ย่อมไม่มี, พวกเรา อยู่ในที่นี้แล้วจักรักษาพระไตรปิฎกกันเถิด” จึงกลับจากชายฝั่งนั้นแล้ว ไปยังทักขิณมลัยชนบทแล้วเลี้ยงชีพอยู่ด้วยหัวมันและใบไม้. พวกภิกษุ เมื่อกายยังเป็นไปได้ ได้นั่งสาธยายกันแล้ว. เมื่อกายไปไม่ไหว ก็พากันเกลี่ยทรายล้อมแล้วกระทำศีรษะในที่เดียวกันแล้วพิจารณาปริยัติ (ก่อทรายกั้นบริเวณแล้วรวมตัวกันพิจารณาปริยัติ) โดยทำนองนี้ พวกภิกษุทำพระไตรปิฎกพร้อมอรรถกถาให้บริบูรณ์จนกระทั่ง ๑๒ ปี.
เมื่อภัยสงบลง ภิกษุ ๗๐๐ รูป ไม่ทำให้แม้อักขระหนึ่ง แม้บทหนึ่ง ในพระไตรปิฎกและอรรถกถาให้เสียหาย ในที่มาของพระบาฬีและอรรถกถานั้นๆ มาถึงเกาะนี้เหมือนกัน ได้เข้าไปยังมัณฑลารามวิหาร ในชนบทกัลลคาม (วัดมัณฑลาราม จังหวัดกัลลคาม). ภิกษุ ๖๐ รูปที่ยับยั้งอยู่ที่เกาะนี้ ครั้นทราบว่า พระเถระมา ก็ไปด้วยคิดว่า “ไปเยี่ยมพระเถระ” ดังนี้แล้ว จึงชำระพระไตรปิฎกกับพระเถระทั้งหลาย มิได้พบอักขระแม้ตัวหนึ่ง แม้พยัญชนะตัวหนึ่งที่จะไม่เสมอกันเลย. ณ ที่นั้น พระเถระทั้งหลายได้ตั้งหัวข้อสนทนาว่า “ปริยัติหรือว่าปฏิบัติจะเป็นมูลเหตุของพระศาสนา. พระเถระผู้ทรงธุดงค์คือห่มผ้าบังสุกุลเป็นวัตร กล่าวว่า “ปฏิบัติเป็นมูลเหตุ”. ฝ่ายพระธรรมกถึก ก็ว่า “ปริยัติสิเป็นมูลเหตุ” ที่นั้น พระเถระผู้เป็นสักขีพยาน จึงกล่าวกะพระผู้ทรงธุดงค์และพระธรรมกถึกว่า “พวกเรา มิได้กระทำ (เชื่อถือ) เพียงเพราะคำของพวกท่านทั้งสองฝ่าย ท่านจงยกพระสูตรที่พระชินเจ้าตรัสไว้มาเถิด” ฝ่ายพระเถระผู้ทรงธุดงค์กล่าวว่า “การยกพระสูตรมามิได้เป็นภาระเลย ดังนี้ แล้วยกพระสูตรนี้ว่า “อิเม จ สุภทฺท ภิกฺขู เป็นต้น ความว่า สุภัททะ! อนึ่ง  ถ้าพวกภิกษุ จะพึงอยู่โดยชอบในธรรมวินัยนี้ โลก จักมิได้ว่างเปล่าจากพระอรหันตทั้งหลายเลย” ดังนี้ และว่า “ปฏิปตฺติ มูลกํ มหาราช เป็นต้น ความว่า มหาบพิตร ! สัตถุศาสน์ มีปฏิบัติเป็นมูล มีปฏิบัติเป็นสาระ. เมื่อปฏิบัติธำรงอยู่ สัตถุศาสน์ ชื่อว่า ย่อมตั้งอยู่ (มิ.ป. ๔/๑/๗)”.  ฝ่ายพระธรรมกถึก ครั้นได้สดับพระสูตรนี้แล้ว จึงนำพระสูตรนี้มาเพื่อรับรองวาทะฝ่ายตนว่า
พระสูตร ย่อมตั้งอยู่, พระวินัย รุ่งเรืองอยู่เพียงใด ภิกษุทั้งหลาย ย่อมเห็นแสงสว่าง เหมือนพระอาทิตย์อุทัยฉะนั้น.
แต่เมื่อไม่มีพระสูตร และวินัยก็ถูกหลงลืมสิ้น ความมืดจักมีในโลก ดุจพระอาทิตย์อัสดงค์ ฉะนั้น.
เมื่อภิกษุรักษาพระสุตตันตปิฎก ปฏิบัติ ชื่อว่า เป็นอันรักษาไว้,[๓๙] นักปราชญ์ดำรงอยู่ในปฏิบัติ ย่อมไม่เสื่อมสูญจากธรรมอันเกษมจากโยคะ.
         ครั้นภิกษุฝ่ายธรรมกถึกนำพระสูตรนี้มา พระเถระผู้ทรงธุดงค์ ได้แต่นิ่งเสีย. ถ้อยคำของพระเถระฝ่ายธรรมกถึก จึงอยู่เหนือนั่นเทียว (ชนะ,หรือเชื่อถือได้). เปรียบเหมือนว่า ในภายในแห่งฝูงโคร้อยตัวพันตัว เมื่อไม่มีแม่โค ผู้สืบประเพณี วงศ์ประเพณีนั้น ย่อมไม่มีการสืบทอด ฉันใด, นี้ก็ฉันนั้น ถึงภิกษุผู้ปรารภวิปัสสนาจะมีอยู่ถึงร้อยรูปพันรูปก็ตาม แต่ถ้าปริยัติไม่มี การบรรลุอริยมรรค ก็ชื่อว่าจะมี หาได้ไม่. อนึ่ง เมื่อมีผู้ประดิษฐานอักขระบนแผ่นหินเพื่อให้รู้ที่ฝังขุมทรัพย์ (เขียนลายแทงขุมทรัพย์), ตราบเท่าที่อักขระยังธำรงอยู่ ขุมทรัพย์จะได้ชื่อว่า เสื่อมไป หามิได้ ฉันใด, นี้ก็ฉันนั้น เมื่อปริยัติยังทรงไว้ได้ ศาสนา ก็จะได้ชื่อว่า อันตรธาน ก็หามิได้ ฉะนี้แล.
         ส่วนข้อที่ในฏีกาสัมปสาทนียสูตรเห็นว่า “ด้วยคำว่า นับแต่ศีลภิกษุรูปสุดท้ายแตกทำลาย ศาสนาจึงสิ้นสุดลง” นี้ ท่านอรรถกถาจารย์ถึงจะกล่าวว่า “ปริยัติเป็นหลักสำคัญที่จะชี้ความดำรงอยู่แห่งศาสนา” ก็ตาม, แต่กระนั้น ปริยัติ ก็มีปฏิบัติเป็นเหตุ เพราะเหตุนั้น เมื่อปฏิบัติไม่มี ปริยัตินั้นก็ไม่มีที่รองรับได้ เหมือนอย่างปฏิเวธ เหมือนกัน, เพราะเหตุนั้น การที่ปฏิบัติอันตรธานไป จึงเป็นเหตุของการสิ้นสุดของพระศาสนา ดังนี้แล้ว จึงแสดงว่า ศาสนาอันตรธานนี้ ได้แก่ การสิ้นสุดของธาตุปรินิพพาน. [๔๐]
         ประเด็นเกี่ยวกับปริยัติอันตรธานนี้ กล่าวไว้ไม่ต่างกันโดยส่วนใหญ่ คงต่างกันบ้างในรายละเอียด แต่ที่น่าสังเกตคือ ทุกคัมภีร์มิได้ระบุถึงขุททกนิกาย ที่จะกล่าวถึงก็เพียงชาดกเท่านั้น ข้อนี้เป็นเพราะเหตุไร น่าสนใจใคร่ใตร่ตรองหาเหตุผลสืบต่อไป. สรุปได้ดังนี้
ที่เหมือนกันทุกแห่งคือ
๑) ปริยัติคือพระไตรปิฎกพร้อมทั้งอรรถกถา
๒) ปริยัติเป็นเกณฑ์ชี้การตั้งอยู่แห่งพระศาสนาโดยเป็นปัจจัยต่อปฏิบัติและปฏิเวธ
๓) วินัยปิฎกเสื่อมเป็นลำดับสุดท้าย
           
คัมภีร์
ข้อแตกต่างกันและสรุปเนื้อความ
จุดที่อันตรธาน
วิ.อ.จู.,อัง.อัฏฐ.อ.
กล่าวเพียงสั้นๆ โดยฏีกาเป็นผู้กล่าวอธิบายโดยซ้ำกับมติของอรรถกถาอื่นๆ
เป็นไป ๕๐๐๐ ปี
ที.ปา.อ.
ปริยัติเป็นเกณฑ์ชี้การตั้งอยู่แห่งศาสนาโดยแสดงการเป็นไปเป็นบางคราวของปฏิเวธและปฏิบัติ และเมื่อศึกษาปริยัติแล้วจึงสามารถบำเพ็ญปฏิบัติและแทงตลอดปฏิเวธได้ ส่วนมติฏีกาถือว่า แม้ปฏิบัติอันตรธานเป็นเหตุพิเศษอีกส่วนหนึ่งของศาสนาอันตรธาน จึงสรุปได้ว่า ทั้งปริยัติและปฏิบัติ ก็เป็นเหตุร่วมกันอย่างแยกไม่ออก.
มาติกา กล่าวคือสิกขาบทพระบาฬีอันเป็นส่วนหนึ่งของปาติโมกข์.
อัง. เอก.อ.
มติฏีกาว่า ปริยัติที่เป็นไปมนุษย์เท่านั้น ชื่อว่า อันตรธาน ส่วนที่ตั้งขึ้นและเป็นไปในเทวโลกยังคงอยู่ เช่น อาฬวกปัญหาสูตร. ในตอนท้ายกล่าวย้ำความสำคัญของปริยัติเหนือการปฏิบัติโดยอุปมาด้วยลายแทงขุมทรัพย์
ไม่มีผู้รู้จักพุทธวจนะแม้เพียง๑ คาถา
สัง.นิ.อ.
ย้ำความสำคัญของปริยัติโดยชี้ว่า เป็นปัจจัยแก่ปฏิบัติและปฏิเวธโดยลำดับ ยกคันกั้นน้ำเป็นอุปมา.
ปาติโมกข์ทั้งสองไม่มีผู้ศึกษาและปฏิบัติ



กถาว่าด้วยปริยัติอันตรธาน จ

๔) ลิงคอันตรธาน
การอันตรธานแห่งเพศภิกษุ
         ครั้นภายหลังจากปริยัติสัทธรรมเลือนหายไปจนกระทั่งมิได้มีใครรู้จักแม้เพียงคาถาหนึ่งของพระผู้มีพระภาคแล้ว ตราบใดที่พระปาฏิโมกข์เป็นไป ตราบนั้นชื่อว่า ศาสนายังไม่ถึงกาลที่ล่มลง. แม้ปาฏิโมกข์ยังเป็นไปก็ตาม แต่เมื่อใกล้จะถึงกาลอวสานของศาสนานั้น จะมีอุบัติการณ์เสมือนหนึ่งเป็นนิมิตหมายให้คาดได้ว่า แต่นี้ศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใกล้จะถึงเวลาสิ้นสุดลงแล้ว ในอรรถกถาอังคุตรนิกาย เอกกนิบาต[๔๑] ได้พรรณนาว่า
         ครั้นจำเนียรกาล[๔๒]ไป กริยาอาการที่ถือบาตรจีวร คู้เค้าเหยียดออก เหลียวซ้ายแลขวา ของภิกษุ หาได้เป็นที่น่าดูเลื่อมใสไม่. เหล่าภิกษุวางบาตรที่ปลายแขน[๔๓]เหมือนพวกสมณะนิครณ์ใส่หม้อน้ำเต้าที่ปลายมือ เที่ยวถือเอาไป. แม้ด้วยเหตุการณ์เพียงนี้ ยังไม่ถือว่าศาสนาสิ้นไปทีเดียว.
            แต่ทว่า ครั้นจำเนียรกาลต่อไป เหล่าภิกษุปล่อยบาตรจากปลายแขนแล้วหิ้วไปด้วยมือหรือด้วยสาแหรก. ไม่ย้อมจีวรให้เหมาะสมแก่สารูป แต่ย้อมสีงา[๔๔].
            ครั้นกาลผ่านไปอีก แม้การย้อมจีวร แม้การฉีกผ้าเย็บทำเป็นขันฑ์ แม้การเจาะรังดุมก็ไม่มี ทำเพียงพินทุแล้วใช้สอย.  ต่อมากลับเลิกเจาะรังดุม   ไม่ทำพินทุเสียอีก.   ต่อมา   ไม่ทำทั้ง  ๒  อย่าง    เพียงแต่ตัดชายผ้าเที่ยวไปเหมือนพวกปริพาชก   
         ครั้นกาลต่อไปอีก เหล่าภิกษุก็คิดว่า  การกระทำเช่นนี้ จะมีประโยชน์อะไรแก่พวกเรา ดังนี้แล้ว จึงผูกผ้ากาสายะชิ้นเล็กๆ เข้าที่มือหรือที่คอ หรือขอดไว้ที่ผม[๔๕] เลี้ยงดูภรรยา   เที่ยวหว่านไถ เลี้ยงชีพ.  
         ในกาลนั้น    ชนเมื่อให้ทักขิณา ย่อมให้แก่ชนเหล่านั้นอุทิศสงฆ์.  พระผู้มีพระภาคเจ้า     ทรงหมายเอาข้อนี้  จึงตรัสว่า  
         "อานนท์ ! ในอนาคตกาล จักมีโคตรภูบุคคล[๔๖] ผู้มีผ้ากาสายพันคอ เป็นผู้ทุศีล มีธรรมอันลามก   ชนทั้งหลายให้ทาน  ในคนผู้ทุศีล  มีธรรมอันลามกเหล่านั้น  อุทิศสงฆ์  อานนท์ ! ในกาลนั้น   เรากล่าวว่า  ทักษิณาไปแล้วในสงฆ์[๔๗]  มีผลนับไม่ได้ประมาณไม่ได้.  
         แต่นั้น  เมื่อกาลล่วงไป ๆ  ชนเหล่านั้นคิดว่า  นี้เป็นสิ่งที่ทำให้พวกเราเนิ่นช้า. ประโยชน์อะไรของพวกเรา ด้วยสิ่งที่เป็นเครื่องเนิ่นช้านี้" ดังนี้ จึงทิ้งท่อนผ้าโยนไปเสียในป่า.  ในกาลนั้น  เพศชื่อว่าหายไป. ได้ยินว่า     การห่มผ้าขาวเที่ยวไปเป็นจารีตของคนเหล่านั้น    มาแต่ครั้งพระกัสสปทศพล ดังว่านี้  ชื่อว่า  การอันตรธานไปแห่งเพศ."

ลำดับ
สรุปเนื้อความ
ครั้นปริยัติอันตรธานเหลือเพียงปาติโมกข์ ภิกษุมีอากัปปกิริยาที่ไม่น่าเลื่อมใส
วางบาตรที่เหนือต้นแขน เหมือนพวกสมณนิครณ์
หิ้วบาตรไปบ้าง, ใช้เชือกหรือสาแหรกร้อยแล้วหิ้วไปบ้าง
ย้อมจีวรสีซีดๆคล้ายกับงา ซึ่งไม่ตรงกับสารุปป์ คือ ภาวะที่เหมาะแก่ความเป็นภิกษุ
จีวรก็ไม่ย้อม เหลือแต่การฉีกผ้า การเย็บจีวรก็ทำผิดพุทธบัญญัติ คือ ไม่มีรังดุม ทำเพียงเครื่องหมายพอบอกให้รู้นี่จีวร
เลิกเย็บจีวรและทำกัปปะพินทุ เพียงแต่ตัดชายผ้าเที่ยวไป
ทิ้งผ้า ทำจีวรเป็นผ้าเพียงผืนเล็กๆ ผูกที่มือบ้าง คล้องคอบ้าง ม้วนไว้ที่ผม บ้าง
มีภรรยา ประกอบอาชีพดุจฆราวาส จุดนี้ พระพุทธองค์ตรัสเรียกว่า โคตรภูสงฆ์ เพราะมีเพียงชื่อเท่านั้น หรือ เพราะได้ทำลายโคตรแห่งสมณะเสียหมดสิ้น
ทิ้งผ้าที่เคยคล้องคอไว้เป็นต้น เพราะไม่เห็นประโยชน์อีกต่อไปนี้เป็นเพศอันตรธาน

กถาว่าด้วยลิงค์อันตรธาน จบ

๕) ธาตุอันตรธาน.
การอันตรธานแห่งพระสรีรธาตุ
ครั้นลิงค์อันตรธาน เหลือเพียงสมณผ้าขาว ซึ่งเป็นไปอยู่ตลอดกาลช้านาน ดังที่พรรณนามานั้น ครั้นสมณผ้าขาวเหล่านั้น แม้เป็นไปอยู่จำเนียรกาลเนิ่นนาน ถึงแม้ไม่อาจรักษาวงศ์ของพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ พระธรรมคำสอนอันเคยมีมาจับแต่อธิคมหรือปฏิเวธ ปฏิบัติ ปริยัติ จนกระทั่งปาติโมกข์ และแม้ลิงค์คือความเป็นภิกษุคือการทรงผ้ากาสวะและบาตรเป็นเครื่องกำหนดหมาย ได้สูญสิ้นไปหมดแล้ว ก็ตาม.  แต่กระนั้น ศาสนาก็ยังดำรงอยู่ เพราะยังไม่มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ใหม่อุบัติขึ้น เนื่องจากยังมีสิ่งหนึ่งที่ยังคงเป็นประดุจว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทรงดำรงอยู่ นั่นคือ พระบรมสารีริกธาตุที่ประดิษฐานอยู่ตามที่ต่างๆ ครั้นพระธาตุเหล่านี้อันตรธานแล้ว ศาสนาชื่อว่าอันตรธานอย่างสิ้นเชิง สูญสิ้นไปอย่างแน่แท้  เป็นการเปิดโอกาสให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ใหม่ได้อุบัติขึ้นในโลก เพื่อนำสัตว์ให้ข้ามพ้นจากทุกข์น่าสะพึงกลัวในสังสารวัฏฏ์สืบไป
จะขอนำข้อความในคัมภีร์อรรถกถาสุมังคลวิลาสินี ที่พรรณนาเรื่องนี้ไว้ โดยเชื่อมโยงกับการที่พระพุทธเจ้าไม่อุบัติพร้อมกันถึงสองพระองค์ในเวลาเดียวกัน ไม่ก่อนไม่หลัง โดยต้องรอให้เกิดอุบัติการณ์สาสนอันตรธานในจุดสุดท้ายกล่าวคือ ธาตุอันตรธานเสียก่อน. และข้อความในอรรถกถาอังคุตรนิกาย เอกกนิบาต ที่พรรณนาเหตุการณ์ตอนที่ธาตุจะอันตรธานอย่างละเอียด
ก็สาสนาอันตรธาน ได้แก่ ธาตุปรินิพพานนั่นเอง. จริงอย่างนั้น การปรินิพพานมี ๓ คือ กิเลสปรินิพพาน ขันธปรินิพพานและธาตุปรินิพพาน บรรดาปรินิพพาน ๓ นั้น การปรินิพพานของธาตุจัดเป็นจุดสำคัญที่นับเป็นวาระสุดท้ายในพุทธุปาทกาลของพระสัมมา-สัมพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งๆ.
คัมภีร์อรรถกถาสัมปสาทนียสูตร ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค พรรณนาไว้ ความว่า
ปรินิพพานมี ๓ อย่างคือ กิเลสปรินิพพาน๑ ขันธปรินิพพาน ๑ ธาตุปรินิพพาน  ๑.  ในปรินิพพานทั้ง  ๓  อย่างนั้น  การดับรอบแห่งกิเลสได้มีแล้วที่โพธิบัลลังก์   การดับรอบแห่งขันธ์ได้มีที่เมืองกุสินารา   การดับแห่งธาตุจักมีในอนาคต.  ได้ยินว่า  ในเวลาที่ศาสนาเสื่อมสูญลง  พระธาตุทั้งหลายก็จักไปรวมกันอยู่ในมหาเจดีย์ ในเกาะตามพปัณณิทวีปนี้   ต่อจากมหาเจดีย์ ก็จักไปรวมกันอยู่ที่ราชายตนเจดีย์ในนาคทวีป.  ต่อแต่นั้น  ก็จักไปสู่มหาโพธิบัลลังก์.   พระธาตุทั้งหลายจากภพแห่งนาคก็ดี  จากพรหมโลกก็ดี  จักไปสู่มหาโพธิบัลลังก์ทีเดียว.  พระธาตุแม้มีประมาณเท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาด  ก็จักไม่อันตรธานไปเลย.   พระธาตุทั้งหมดก็จะรวมกันเป็นกองอยู่ในมหาโพธิบัลลังก์ รวมกันอยู่แน่น ดุจดังกองทองคำ เปล่งฉัพพัณณรังสีออกมา. พระธาตุเหล่านั้นจักแผ่ไปตลอดหมื่นโลกธาตุ. ต่อแต่นั้น   เทวดาในหมื่นจักรวาลก็ประชุมพร้อมกันแล้ว  กล่าวกันว่า พระศาสดาย่อมปรินิพพานไปในวันนี้ ศาสนาก็ย่อมทรุดโทรมไปในวันนี้ นี้เป็นการได้เห็นครั้งสุดท้ายของเราทั้งหลาย ในบัดนี้  ดังนี้แล้ว จักพากันทำความหวั่นไหวสังเวช[๔๘]ยิ่งกว่าวันที่พระทศพลปรินิพพาน. เว้นพระอนาคามีและพระขีณาสพเสีย ภิกษุที่เหลือ ก็จักไม่สามารถดำรงอยู่ได้โดยภาวะของตน.            ในบรรดาธาตุทั้งหลาย  เตโชธาตุ ก็จักลุกพุ่งขึ้นไปจนถึงพรหมโลก  ถึงพระธาตุแม้เท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาดจะมีอยู่ ก็จักลุกเป็นเปลวอยู่นั่นเอง. เมื่อธาตุทั้งหลายถึงความหมดแล้ว  เตโชธาตุก็จักดับหายไป.[๔๙] เมื่อพระธาตุทั้งหลายได้แสดงอานุภาพอันใหญ่หลวงอย่างนี้แล้วหายไป ศาสนาก็เป็นอันชื่อว่าอันตรธานไป. ศาสนายังไม่อันตรธานอย่างนี้ตราบใด  ศาสนาจัดว่ายังไม่สุดท้ายตราบนั้น. ข้อที่พระศาสดาพึงเกิดขึ้นไม่ก่อนไม่หลังอย่างนี้ย่อมเป็นฐานะที่จะมีไม่ได้.
         ถาม : เพราะเหตุไร พระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมไม่ทรงอุบัติขึ้น  ไม่ก่อนไม่หลัง?           ตอบ   :  เพราะความเป็นสิ่งที่ไม่น่าอัศจรรย์. 
         ความจริง พระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นมนุษย์ผู้อัศจรรย์.เหมือนอย่างที่พระองค์ตรัสไว้ว่า  ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้เป็นเอก  เมื่อจะอุบัติขึ้นในโลกย่อมอุบัติขึ้นเป็นมนุษย์อัศจรรย์   บุคคลเป็นเอกอย่างไร  คือ  พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า.   ก็ถ้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายพึงเสด็จอุบัติขึ้นคราวเดียวกัน  ๒  พระองค์บ้าง  ๔  พระองค์บ้าง  ๘  พระองค์บ้าง  ๑๖  พระองค์บ้างไซร้  พระพุทธเจ้าทั้งหลายก็พึงเป็นผู้ที่ไม่น่าอัศจรรย์.  แม้พระเจดีย์สองแห่งในวัดเดียวกัน  ลาภสักการะก็ไม่มาก  ทั้งภิกษุทั้งหลายก็ไม่น่าอัศจรรย์  เพราะข้อที่มีอยู่มาก  ฉันใด  แม้พระพุทธเจ้าทั้งหลาย  ก็พึงเป็นเช่นนั้น  เพราะฉะนั้น  พระพุทธเจ้าทั้งหลาย  จึงไม่ทรงเสด็จอุบัติขึ้นอย่างนี้. อนึ่ง  พระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่ทรงอุบัติขึ้นพร้อมกัน  ก็เพราะความที่เทศนาไม่แตกต่างกัน.  จริงอยู่  พระพุทธเจ้าองค์หนึ่งทรงแสดงธรรมแตกต่างกันมี สติปัฏฐานเป็นต้นอันใด  พระธรรมนั้นนั่นแหละพระพุทธเจ้าพระองค์อื่นซึ่งทรงอุบัติขึ้นแล้วก็พึงแสดง  ฉะนั้น  พระพุทธเจ้าก็จะเป็นผู้ไม่น่าอัศจรรย์.แต่เมื่อพระพุทธเจ้าองค์เดียวแสดงธรรม  แม้พระเทศนาก็เป็นของที่น่าอัศจรรย์.  อนึ่ง  พระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่ทรงอุบัติขึ้นพร้อมกัน  เพราะไม่มีการวิวาทกัน.  ความจริง  เมื่อพระพุทธเจ้าเป็นอันมากเสด็จอุบัติขึ้น  ภิกษุทั้งหลายพึงวิวาทกันว่า  พระพุทธเจ้าของเราทั้งหลายน่าเลื่อมใส  พระพุทธเจ้าของพวกเรามีพระสุรเสียงไพเราะ  มีลาภ  และมีบุญ ดังนี้  เหมือนอันเตวาสิกของอาจารย์มากองค์.  เพราะฉะนั้น  พระพุทธเจ้าทั้งหลายจึงไม่ทรงอุบัติขึ้นอย่างนี้.[๕๐]
สรุปว่า คัมภีร์นี้อธิบายเรื่องศาสนาอันตรธานไว้ โดยอาศัยการปรินิพพานหรือการอันตรธานของพระพุทธเจ้าพระองค์เดิม เป็นเหตุให้การปรากฏขึ้นของพระพุทธเจ้าพระองค์ใหม่ได้เสด็จอุบัติขึ้น.
อนึ่ง แม้ในอรรถกถาเอกกนิบาตก็กล่าวว่า
ชื่อว่า  อันตรธานไปแห่งธาตุ พึงทราบอย่างนี้ :- ปรินิพพานมี ๓  คือกิเลสปรินิพพาน การปรินิพพานแห่งกิเลส, ขันธปรินิพพานการปรินิพพานแห่งขันธ์, ธาตุปรินิพพาน การปรินิพพานแห่งธาตุ. บรรดาปรินิพพาน  ๓  อย่างนั้น  กิเลสปรินิพพาน  ได้มีที่โพธิบัลลังก์.ขันธปรินิพพาน  ได้มีที่กรุงกุสินารา.   ธาตุปรินิพพาน  จักมีในอนาคต.  จักมีอย่างไร?    คือครั้งนั้น   ธาตุทั้งหลายที่ไม่ได้รับสักการะและสัมมานะในที่นั้นๆ   ก็ไปสู่ที่ๆ มีสักการะ และสัมมานะ ด้วยกำลังอธิษฐานของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย. เมื่อกาลล่วงไป สักการะและสัมมานะก็ไม่มีในที่ทั้งปวง. เวลาพระศาสนาเสื่อมลง พระธาตุทั้งหลายในตามพปัณณิทวีปนี้                  จักประชุมกันแล้วไปสู่มหาเจดีย์จากมหาเจดีย์   ไปสู่นาคเจดีย์   แต่นั้นจักไปสู่โพธิบัลลังก์.    พระธาตุทั้งหลายจากนาคพิภพบ้าง จากเทวโลกบ้าง จากพรหมโลกบ้าง จักไปสู่โพธิบัลลังก์แห่งเดียว. พระธาตุแม้ประมาณเท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาดจักไม่หายไปในระหว่าง. พระธาตุทั้งหมดจักประชุมกันที่ มหาโพธิมัณฑสถานแล้วรวมเป็นพระพุทธรูป แสดงพุทธสรีระประทับนั่งขัดสมาธิ ณ โพธิมัณฑสถาน.   มหาปุริสลักษณะ ๓๒ อนุพยัญชนะ ๘๐ พระรัศมีประมาณวาหนึ่ง ทั้งหมดครบบริบูรณ์ทีเดียว.  แต่นั้นจักการทำปาฏิหาริย์แสดงเหมือนในวันแสดงยมกปาฏิหาริย์.   ในกาลนั้น  ชื่อว่า  สัตว์ผู้เป็นมนุษย์ ไม่มีไปในที่นั้น. ก็เทวดาในหมื่นจักรวาฬ ประชุมกันทั้งหมด พากันครวญคร่ำรำพันว่า  วันนี้พระทสพลจะปรินิพพาน จำเดิมแต่บัดนี้ไป จักมีแต่ความมืด. ลำดับนั้น เตโชธาตุลุกโพลงขึ้นจากพระสรีรธาตุทำให้พระสรีระนั้นถึงความหาบัญญัติมิได้. เปลวไฟที่โพลงขึ้นจากพระสรีรธาตุ พลุ่งขึ้นจนถึงพรหมโลก.  ถ้าพระธาตุแม้สักเท่าเมล็ดพรรณผักกาดยังมีอยู่  ก็จักมีเปลวเพลิงอันหนึ่งติดอยู่ทีเดียว.  เมื่อพระธาตุหมดสิ้นไป เปลวเพลิงก็จักขาดหายไป. พระธาตุทั้งหลายแสดงอานุภาพใหญ่อย่างนี้แล้ว            ก็อันตรธานไป. ในกาลนั้น หมู่เทพกระทำสักการะด้วยของหอมดอกไม้และดนตรีทิพย์เป็นต้น เหมือนในวันที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายปรินิพพาน กระทำปทักษิณ ๓ ครั้ง  ถวายบังคมแล้ว กราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า พวกข้าพระองค์ จักได้เห็นพระพุทธเจ้าผู้เสด็จอุบัติขึ้นในอนาคต ดังนี้แล้วก็กลับไปที่อยู่ของตนๆ นี้  ชื่อว่า อันตรธานแห่งพระธาตุ.

จากอรรถกถาสองแห่งนี้ สรุปเหตุการณ์ตอนธาตุปรินิพพานได้ดังนี้

ลำดับ
สรุปเนื้อความ
คัมภีร์
ครั้นเพศภิกษุอันตรธานแล้ว อากัปปกิริยาของเหล่าภิกษุไม่น่าเลื่อมใส
ที.อ.
พระธาตุจะไม่ได้รับสักการะและสัมมานะในที่ทั้งปวง.
อัง.อ.
พระธาตุประชุมกันแล้วไปสู่มหาเจดีย์เป็นต้นแล้วจักไปสู่โพธิบัลลังก์รวมตัวกันเป็นพระพุทธรูปแสดงพุทธสรีระประกอบด้วยมหาปุริสลักษณะเป็นต้นประทับนั่งขัดสมาธิ
แต่นั้นจักการทำปาฏิหาริย์แสดงเหมือนในวันแสดงยมกปาฏิหาริย์.  
เตโชธาตุลุกโพลงขึ้นจากพระสรีรธาตุ เผาผลาญพระสรีรธาตุจนหมดสิ้น.
พระธาตุทั้งหลายแสดงอานุภาพใหญ่อย่างนี้แล้ว ก็อันตรธานไป.
หมู่เทพกระทำสักการะด้วยของหอมดอกไม้และดนตรีทิพย์เป็นต้น เหมือนในวันที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายปรินิพพาน กระทำปทักษิณ ๓ ครั้ง  ถวายบังคมแล้ว กราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า พวกข้าพระองค์ จักได้เห็นพระพุทธเจ้าผู้เสด็จอุบัติขึ้นในอนาคต ดังนี้แล้วก็กลับไปที่อยู่ของตนๆ นี้  ชื่อว่า อันตรธานแห่งพระธาตุ.

เมื่อพระสรีรธาตุอันตรธานแล้ว เป็นอันว่า ศาสนาย่อมเสื่อมสูญหมด ต่อแต่นั้น  โลกก็จะว่างจากศาสนาไปอีกนาน

กถาว่าด้วยธาตุอันตรธาน จบ

จากหลักฐานที่ยกมาแสดงเรื่องอันตรธาน ๕ นั้น จะพบว่า บางแห่งแสดงเพียง ๓ บางแห่งแสดงครบทั้ง ๕ แม้ในที่บางแห่งที่แสดงครบ ก็มีรายละเอียดมากน้อยต่างกัน ทั้งนี้ พึงทราบว่า เป็นเพราะมติของพระอรรถกถาจารย์ในอรรถกถาแห่งนั้นๆ

คัมภีร์
อันตรธาน
ข้อแตกต่างกันและสรุปเนื้อความ
อัง. เอก.อ.
อันตรธาน ๕
มีการแสดงอธรรมว่าเป็นธรรม, อวินัยว่าเป็นวินัย เป็นเหตุให้พระสัทธรรมเสื่อมหายอันตรธาน ดังนั้น การที่พระพุทธศาสนาจะอันตรธานไปโดยสิ้นเชิง ก็เพราะมีปริยัติอันตรธานเป็นมูลเหตุ
ที.ปา.อ.
อภิ.วิ. อ.

อันตรธาน ๕
ต่างจาก อัง.เอก.อ. คือ
ลิงคอันตรธาน ถูกแสดงไว้โดยยกปาติโมกข์เป็นประธาน
ปรารภเหตุผลที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่เกิดพร้อมกันสองพระองค์ในสมัยเดียวกัน เมื่อพระองค์ใหม่จะอุบัติ ก็ต้องรอให้พระศาสนาของพระองค์เก่าเสื่อมอันตรธานหมดสิ้นโดยสิ้นเชิงเสียก่อน ดังนั้น จึงแสดงอันตรธานไว้ ๒ ระดับ  คือ ระดับสัทธรรมศาสนาและพระพุทธศาสนาโดยสัญญลักษณ์คือเพศภิกษุ และพระสรีรธาตุ.
วิ.อ.จู.,อัง.อัฏฐ.อ.
อันตรธาน ๓ แต่ยกอธิคมอันตรธานเป็นประธาน ส่วนปฏิบัติอันตรธานและปริยัติอันตรธานสงเคราะห์อยู่ในปาติโมกข์ที่อันตรธาน
ปรารภการที่พระศาสนามีสตรีมาบวช จะทำให้ศาสนาตั้งอยู่เพียง ๕๐๐ ปีเป็นอย่างมาก แต่ทรงบัญญัติครุธรรมไว้เพื่อให้ภิกษุนีปฏิบัติ พระศาสนาจึงดำรงอยู่ตลอด ๑๐๐๐ ปี. และอรรถกถาถือเอาว่า ที่ตรัสไว้พันปีก็กำหนดโดยช่วงเวลาแห่งพระอริยบุคคลระดับต่างๆ. ในฏีกาแสดงว่าข้อที่ต่างกันเป็นมติของนิกายภาณกาจารย์นั้นๆ.
สัง.นิ.อ.
อันตรธาน ๓ ข้างต้น
ปรารภข้อปริวิตกแห่งพระมหากัสสปะว่า เหตุใดในสมัยนี้สิกขาบทมีมากแต่พระอรหันต์มีน้อย จึงแสดงสัทธรรมอันตรธานโดยโยงเข้ากับสาเหตุ ๓ ประการใหญ่ๆ คือ มีสัทธรรมปฏิรูป, มีโมฆบุรุษ ไม่บำเพ็ญกิจในพระศาสนา, และบริษัทขาดความเคารพยำเกรงในพระศาสดาเป็นต้น
ม.อุ.อ.
อันตรธาน ๕ 
แสดงอฐานะ ธรรมไม่ใช่เหตุ ไว้หลายประการ ซึ่งการที่พระพุทธเจ้าสองพระองค์เกิดขึ้นพร้อมกัน ก็จัดเป็น อฐานะประการหนึ่ง. โดยอธิบายเหมือนในที. ปา อ.


สาสนอันตรธานกถา จบ





[๑] ในที่นี้อาศัยนัยที่พระฏีกาจารย์นำเสนอในฏีกาโคตมีสูตร ที่กล่าวถึงคำอธิบายลำดับการอันตรธานของพระสัทธรรม.
[๒] ความโดยละเอียดเหล่านี้ ควรศึกษาเพิ่มเติมในพระบาฬีที่มาพร้อมทั้งอรรถกถาเหล่านั้น.
[๓] เหตุที่ปริยัติเป็นประมาณของการตั้งอยู่หรือเสื่อมไปของศาสนา ดังนั้นในที่นี้จึงยกพระปริยัติศาสนา กล่าวคือ พระพุทธวจนะอันเป็นพระไตรปิฏกมาเป็นประธาน ตามอรรถกถาทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค สัมปสาทนียสูตร.
[๔] ในคัมภีร์มโนรถปูรณี อรรถกถาอังคุตรนิกาย แยกออกเป็นอันตรธานอีกประเภทหนึ่งเรียกว่า ลิงคอันตรธาน ส่วนอรรถกถาทีฆนิกาย เมื่อจะกล่าวถึงการอันตรธานแห่งลิงค์นี้ ก็กล่าวไว้ว่า ปาติโมกข์อันตรธาน กล่าวคือ เมื่อยังมีปาติโมกข์ ศาสนายังตั้งอยู่. ส่วนลิงค์ เป็นไปช้านาน. หมายความว่า หลังจากพันปีที่สี่ ก็เข้าสู่ยุคที่ตั้งอยู่เฉพาะปาติโมกข์ จนถึงยุคพันปีที่ ๕ หมดไป แม้ปาติโมกข์ก็ไม่มีใครถือ จึงเรียกว่า ยุคที่เพศภิกษุเสื่อมสิ้นไป เหลือแต่พวกที่ถือผ้าขาวนุ่งห่ม ไม่ห่มผ้ากาสายะแล้ว จัดเป็นลิงคอันตรธานดังที่ท่านกล่าวไว้ในอรรถกถามโนรถปูรณีนั้น. ท่านเรียกบุคคลผู้ปฏิญาณตนว่าเป็นสมณะแต่ห่มผ้าขาวนี้ว่า  เสตวตฺถสมณะ โดยเทียบกับศาสนาของพระกัสสปพุทธเจ้าว่า ยังไม่สามารถรักษาวงศ์ของพระกัสสปพุทธเจ้าได้เลย. แม้ในฏีกาทีฆนิกายนี้รวมเข้าไว้ในปฏิปัตติสัทธรรม เพราะถือว่า ศีลเป็นส่วนหนึ่งของสิกขา ๓ อันเป็นปฏิบัติศาสนานั่นเอง.
[๕] เหตุที่พระธาตุอันตรธาน เป็นประมาณแห่งการอันตรธานโดยสิ้นเชิงของพระศาสนา ท่านจึงตั้งหัวข้อว่า สาสนาอันตรธาน โดยอาศัยการอันตรธานแห่งพระธาตุเป็นเครื่องกำหนด โดยนัยเดียวกัยติปิฎกอันตรธาน.
[๖] ตามที่กล่าวไว้ในอรรถกถานี้ว่า เปล่งพระฉัพพัณณรังษี ส่องแสงสว่างไปทั่วหมื่นโลกธาตุ. ต่อแต่นั้น พระธาตุที่มารวมตัวกันนั้นจะเกิดเตโชธาตุ (ไฟ) ลุกโพลงขึ้นไปจนถึงพรหมโลก. พระธาตุที่มีขนาดเล็กเท่าเมล็ดผักกาด จะไม่หล่นไปแม้สักชิ้น และแต่ละองค์จะมีเปลวไฟเกิดขึ้น, เมื่อพระธาตุทำปาฏิหารย์เสร็จแล้ว ก็จะแตกจากกัน. ในฏีกาอธิบายว่า เป็นไปตามการอธิษฐานของพระพุทธองค์ทั้งสิ้น.แต่ในอังคุตรอัฏฐกถา กล่าวไว้โดยพิสดารกว่านี้มาก.
[๗] วิชชา ๓ คือ บุพเพนิวาสนานุสติญาณ, ทิพพจักขุญาณ, อาสวักขยญาณ.      ส่วนอภิญญา ๖ ได้แก่ อิทธิวิธญาณ, ทิพโสตญาณ, เจโตปริยญาณ, ปุพเพนิวาสานุสติญาณ, ทิพพจักขุญาณ, อาสวักขยญาณ. ในฏีกาของสูตรนี้กล่าวเพียงมรรคและผล ได้แก่ อธิคม โดยเว้นพระนิพพาน เพราะนิพพานไม่มีการอันตรธาน.  และไม่ได้กล่าวถึงปฏิสัมภิทาเป็นต้นไว้เหมือนในอรรถกถา. อนึ่ง แม้วิชชา ข้อที่ ๓ และ อภิญญา ข้อที่ ๖ คือ อาสวักขยญาณ ท่านระบุไว้ด้วยมรรคแล้ว แต่ท่านกล่าวถึงความข้อนี้ไว้อีก โดยเป็นวิชชาและอภิญญาสามัญซึงไม่ได้จำแนกออกเป็นโลกียะและโลกุตตระ. เมื่อเป็นเช่นนี้ อาจสื่อความหมายได้ว่า ปฏิสัมภิทาเป็นต้นนี้สงเคราะห์อยู่ในมรรคและผล ด้วยเหตุนี้ ในฏีกาจะกล่าวเพียงมรรคและผลเท่านั้นว่าเป็นอธิคม.
[๘] ฏีกาอธิบาย หลังจากพันปีนั้น สามารถทำอภิญญา ๖ ให้เกิดได้, ไม่สามารถทำปฏิสัมภิทาให้เกิดได้.
[๙] เพิ่มตามนัยของฏีกา ตโตติ อภิญฺญากาลโต ปจฺฉาฯ ตาติ อภิญฺญาโยฯ
[๑๐] ฏีกาอธิบายว่า พระอริยบุคคล ผู้บรรลุผลอันเลิศ โดยดำรงอยู่ในวิปัสสนา (กัมมัฏฐาน) อย่างเดียว โดยไม่มีความเยื่อใยในฌาน ในตอนแรกเจริญภาวนา ชื่อว่า สุกขวิปัสสกะ. แต่ในขณะบรรลุมรรค ไม่อาจกล่าวได้ว่า “ไม่มีความเยื่อใยในฌาน” ทั้งนี้ เพราะมีพระบาฬีว่า “สมถวิปสฺสนํ ยุคนทฺธํ ภาเวติ ย่อมเจริญธรรมที่ประกอบคู่กัน คือ สมถะและวิปัสสนา” (อํ.จตุ.๑๗๐)
[๑๑] ฏีกาอธิบายว่า  คำว่า รูปสุดท้าย ได้แก่ พระโสดาบันรูปสุดท้ายของพระอริยบุคคลทั้งปวง. คำนี้ หมายความว่า ถึงอริยธรรม จะมีอันไม่เสื่อมเป็นธรรมดา ก็ตาม, แต่กระนั้น ภายหลังแต่การสิ้นชีวิตแห่งพระโสดาบัน ธรรมที่จะบรรลุ ชื่อว่า ย่อมไม่เกิดขึ้น,  เมื่อปัจจัยแห่งการบรรลุไม่พร้อม ในช่วงกาลที่เหล่าภิกษุไม่สามารถทำคุณวิเศษเบื้องสูงให้เกิดขึ้น จึงชื่อว่า ไม่มีอธิคมเกิดขึ้นนั่นเอง. คำนี้ พึงทราบว่า ท่านกล่าวไว้ด้วยความมีในมนุษย์โลกแห่งอธิคมนั้น.
[๑๒] ที.ปา.อ.๓/๑๔๑. อรรถกถานี้ อธิบายเรื่องอันตรธานนี้ไว้ เพื่อสนับสนุนเหตุผลที่พระสารีบุตรได้กล่าวสรรเสริญพระผู้มีพระภาคว่า เป็นไปไม่ได้ที่ในโลกธาตุเดียวกันจะมีพระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าบังเกิดขึ้นพร้อมกัน ไม่ก่อน ไม่หลัง ถึงสองพระองค์.  โดยยกประเด็นว่า แม้ว่าศาสนา ๓ ประเภทคือ ปฏิเวธ ปฏิบัติ ปริยัติ ศาสนา จนกระทั่งโคตรภูสงฆ์ผู้ดำรงอยู่เพียงแต่เพศบรรพชิตรูปสุดท้ายทำลายศีลของตนไป สูญสิ้น ถ้าตราบใดที่พระธาตุยังไม่อันตรธาน  ในช่วงเวลาที่พระธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นี้ยังดำรงอยู่ พระพุทธเจ้าอีกพระองค์หนึ่ง ก็ยังไม่เสด็จอุบัติขึ้น. ดูรายละเอียดเรื่องนี้ในธาตุอันตรธาน.
[๑๓] อรรถกถานี้ กล่าวข้อความนี้สรุปความหลังจากกล่าวปริยัติกล่าวคือพระไตรปิฎกอันตรธานจบแล้ว. ข้อที่น่าสังเกตอีกประการหนึ่ง ในอรรถกถานี้เพิ่มปาติโมกข์เข้าไว้ในการกำหนดอายุพระศาสนา โดยเรียงไว้ในลำดับต่อจากการอันตรธานแห่งพระขีณาสพ จึงทำให้ทราบได้ว่า พันปีที่สี่เป็นต้นไป อาจมีอริยบุคคลต่ำกว่าพระอรหันต์ไปจนถึงภิกษุผู้รับเอาเพียงพระปาติโมกข์มาปฏิบัติ เกิดได้เท่านั้น. 
            ส่วนข้อความว่า การที่พระศาสนา จะชื่อว่า ล่มสลาย ก็นับแต่การแทงตลอดสัจจะแห่งพระอริยบุคคลรูปสุดท้าย และจับแต่การแตกทำลายแห่งศีลของภิกษุรูปสุดท้าย นี้ในฏีกาอธิบายว่า  “ท่านจับเอาปฏิเวธและศีล(กล่าวคือปฏิบัติ)มากล่าวพร้อมกันว่า หลังจากนั้นศาสนา ชื่อว่า เสื่อมสูญไปหมดสิ้น นั่นก็คือ ปฏิเวธศาสนาจะสิ้นสุดไป หลังจากการแทงตลอดสัจจะแห่งพระอริยะรูปสุดท้าย, ปฏิบัติศาสนาสิ้นสุดไปเมื่อศีลแตกทำลายไปของภิกษุรูปสุดท้าย”
            พึงทราบว่า ปาติโมกข์นี้ คาบเกี่ยวระหว่างปริยัติศาสนาและปฏิบัติศาสนา ในข้อนี้ถือเอาความเพิ่มขึ้นอีกได้ว่า ครั้นปฏิเวธศาสนาหมดไปตั้งแต่พันปีที่ ๔ ตราบใดที่ยังถือปาติโมกข์ปฏิบัติอยู่ แม้ปริยัติศาสนาที่จับเอาพระปาติโมกข์เป็นลำดับสุดท้ายและปฏิบัติศาสนา ซึ่งถือปาติโมกข์เป็นศีลสิกขา อันเป็นข้อปฏิบัติ ยังเป็นไป ศาสนายังไม่ถึงกับเป็นอันตรธาน แต่เมื่อศีลของภิกษุรูปสุดท้ายแตกทำลายสิ้น ถือว่า สัทธรรม ๓ อันตรธานภายในพันปีที่ ๕. ก็เมื่อกาลใกล้จะครบพันปีที่ ๕ นี้  คงเหลือแต่ลิงค์หรือเพศภิกษุที่แทบจะไม่เหลือความเป็นภิกษุ ดังที่เรียกว่า โคตรภูสงฆ์บ้าง  เท่านั้นที่เป็นไปตลอดกาลนาน ซึ่งท่านได้สาธกเสตวัตถสมณะ สมณะผู้นุ่งผ้าขาว ผู้เป็นไปตั้งแต่พระกัสสปพุทธเจ้า ที่ไม่อาจธำรงศาสนาไว้ได้.  ก็ลิงค์หรือเพศภิกษุที่เรียกว่า เสตวัตถสมณะนี้ จะเป็นไปจนกระทั่งศาสนาอันตรธาน ดังจะกล่าวในเรื่องอันตรธานที่เหลือมีปฏิบัติอันตรธานสืบต่อไป.
[๑๔] อรรถกถาสัทธัมมัปปติรูปกสูตร นิทานวรรค ๑๕๖. เนื่องจากในพระบาฬีนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสสัทธรรมปฏิรูป (สิ่งที่เหมือนหรือแทนพระสัทธรรม) ว่า เป็นเหตุให้พระสัทธรรมเลือนหาย เหมือนทองเหลืองเป็นเหตุให้ทองคำแท้อันตรธานไป เพราะบุคคลไม่ใช้สอยทองคำแท้ แต่หันมาใช้ทองเหลืองซึ่งมีส่วนคล้ายทองคำแท้แทน.  ในอรรถกถาท่านจึงแสดงสัทธัมมปฏิรูปไว้ ๒ ประการ  คือ
            อธิคมสัทธรรมปฏิรูป (บาฬีเป็นปติรูป ในที่นี้เขียนอนุโลมตามภาษาไทย) ได้แก่ วิปัสสนูปกิเลส ๑๐ ประการมีโอภาส แสงสว่างเป็นต้น.  วิปัสสนุปปกิเลสนี้ คือธรรมที่ทำให้วิปัสสนาญาณหม่นหมอง นำความเป็นผู้มีสำคัญว่าเป็นผู้บรรลุในอธิคมคือมรรคผลที่ตนมิได้บรรลุว่าเป็นอธิคม. อนึ่ง เพราะเหตุที่อุปกิเลสแห่งวิปัสสนาเป็นอธิคมสัทธรรมปฏิรูป จึงสื่อให้รู้ว่า อุปกิเลสดังกล่าวเป็นปฏิปัตติสัทธรรมปฏิรูป. 
            ปริยัตติสัทธรรมปฏิรูป ได้แก่ การกล่าวคำพูดอันผิดไปจากพระพุทธวจนะ ในอพุทธวจนะนั้น คำพูดอันขัดแย้งกันเองย่อมปรากฏ, และมิได้แสดงการนำกิเลสออกเลย โดยที่แท้เป็นปัจจัยแห่งการเกิดกิเลสโดยแท้.
[๑๕] คำนี้ ในฎีกากล่าวว่า ท่านได้รวมไปถึงภิกษุผู้ได้ฌานด้วย เพราะเหตุที่สมบัติทั้งปวงย่อมเกิดแก่ ผู้ได้ฌานเท่านั้น.
[๑๖] จากบาฬีและอรรถกถาดังกล่าวมานี้พอสรุปได้ใจความสั้นๆว่า "เพราะมีมาตุคามเข้ามาบวชเป็นภิกษุนี จึงเป็นเหตุให้พระสัทธรรมดำรงอยู่ไม่นาน หมายถึง พระสัทธรรมดำรงอยู่ได้เพียง ๕๐๐ ปี แต่ถ้าได้บัญญัติครุธรรมสำหรับภิกษุนีจะต้องประพฤติไปจนตลอดชีวิต พระสัทธรรมจึงดำรงอยู่ต่อไปอีก ๕๐๐ ปี โดยทำนองนี้พระผู้มีพระภาคตรัสอายุของ พระสัทธรรมว่ามีอยู่ได้เพียง ๑๐๐๐ ปีเท่านั้น โดยพระองค์เอง. ที่ว่า ชั่วพันปีนั้น หมายถึง ช่วงกาลที่พระสัทธรรมเป็นไปโดยมีพระขีณาสพประเภทปฏิสัมภิทาปัตตะ. ความจริง ศาสนาจักดำรงอยู่ได้ ๕๐๐๐ ปีโดยแบ่งออกเป็นช่วงๆ คือ พันปีที่ ๑ มีพระขีณาสพปฏิสัมภิทาปัตตะ, ที่ ๒ มีพระขีณาสพสุกขวิปัสสก. ปีที่ ๓ มีพระอนาคามี ปีที่ ๔ มีพระสกทาคามี ปีที่ ๕ มีพระโสดาบัน. นี้เป็นกาลที่พระศาสนาดำรงอยู่ด้วยปฏิเวธสัทธรรมในอายุพระศาสนา ๕๐๐๐ ปี. ส่วนพระปริยัติสัทธรรม ท่านกล่าวว่า มีอายุ ๕๐๐๐ ปีเหมือนกัน ดังจะกล่าวต่อไปข้างหน้า. ที่น่าสังเกต คือ ในอรรถกานี้ท่านไม่ได้กล่าวถึงปฏิปัตติสัทธรรมอันตรธาน ซึ่งในฏีกาสารัตถทีปนี ได้พูดถึงโดยทำนองว่า เมื่อกล่าวถึงปริยัติ แม้ปฏิบัติ เป็นอันกล่าวถึง ซึ่งจะขอยกไปกล่าวในปฏิปัตติสัทธรรมอันตรธานข้างหน้าเช่นกัน.
[๑๗]  ฏีกาว่า ถึงจะรู้ว่า มีโทษในพวกภิกษุด้วยกัน ก็หาได้ตักเตือนให้ระลึกได้ไม่, มิได้ทำให้ความเดือดร้อนใจเกิดขึ้นไม่. แต่บางแห่งมีปาฐะว่า อสกฺกจฺจจาริโน โหนฺติ ความก็ว่า มิได้เป็นผู้เคารพ ในสิกขาบทบัญญัติ เพราะตนเป็นผู้หละหลวม(ในสิกขาบทบัญญัติ)
[๑๘] บาลีว่า ขุททานุขุททก ซึ่งในที่นี้หมายถึง วัตรและข้อธรรมเนียมปฏิบัติ ที่เรียกว่า อภิสมาจาริกวัตร. โทษในการล่วงละเมิดมีเพียงทุกกฏและทุพภาสิต. มิได้หมายถึง สิกขาบทเล็กน้อย มีสังฆาทิเสสเป็นต้น เพราะในวรรคต่อไปท่านกล่าวถึงการล่วงละเมิดอาบัติปาจิตตีย์ซึ่งจัดว่ามีโทษน้อยที่สุดในบรรดาสิกขาบทที่เป็นส่วนของอาทิพรหมจริยกศีล กล่าวคือสิกขาบทบัญญัติที่มาในพระปาติโมกข์อันเป็นส่วนเบื้องต้นของพรหมจรรย์. อย่างไรก็ตาม   ในอาคตสถานอื่น คำว่า ขุททานุขุททก หมายถึง อาบัติทั้งปวงที่นอกจากปาราชิก ๔.
[๑๙] คำนี้ท่านกล่าวไว้โดยภิกษุจำนวนมากเข้าไว้. ความจริง ภิกษุมาตรว่าจะมีจำนวนเพียงไม่กี่รูปก็ดี หรือจะมีเพียงรูปเดียวเท่านั้นก็ดี ที่ยังไม่ต้องอาบัติที่สุด ปฏิบัติศาสนา ก็จะได้ชื่อว่า อันตรธานไป ก็หาไม่.
[๒๐] ปัจจุบัน เรียกว่า มหาวรรคและจูฬวรรค ซึ่งแสดงวัตรต่างๆและสิกขาบทย่อยๆ ซึ่งท่านแบ่งออกเป็นกลุ่มๆ เรียกว่า ขันธกะ เช่น กฐินขันธกะ เป็นต้น.
[๒๑] ปัจจุบัน เรียกว่า มหาวิภังค์ ที่แสดงสิกขาบทที่มาในพระปาติโมกข์ซึ่งประกอบด้วยภิกขุวิภังค์และภิกขุนีวิภังค์.
[๒๒]ฏีกาของสูตรนี้อธิบายว่า "เมื่อมาติกาคือสิกขาบทพระบาฬีซึ่งเป็นไปโดยนัยว่า โย ปน ภิกฺขู เมถุนํ ธมฺมํ ปฏิเสเวยฺย  เป็นต้น (หมายความว่า มาติกา ได้แก่ ตัวสิกขาบทนั่นเอง ท่านเรียกว่า มาติกา เพราะเป็นใจความสำคัญของสิกขาบทพระบัญญัติ ดุจเดียวกับ มาติกาพระอภิธรรมมีกุสลา ธมฺมา เป็นต้น. มาติกาในพระวินัย แยกเป็น ๒ คือ ภิกษุมาติกาและภิกษุนีมาติกา ) เมื่อปาติโมกข์ กล่าวคือ นิทานุทเทส , บรรพชาและอุปสมบทยังดำรงอยู่ ศาสนาก็ชี่อว่ายังดำรงอยู่. (ความจริง ถึงมาติกา หมายถึง ปาติโมกข์นั่นเอง ก็ตาม แต่กระนั้น คำว่า ปาติโมกข์ในที้นี้ คือ นิทานุทเทสเท่านั้น ความจริง พระปาติโมกข์ประกอบไปด้วยอุทเทส ๕ คือ ๑) นิทานุทเทส ซึ่งเป็นสิ่งที่แสดงขึ้นเป็นปุพพกิจก่อนสวด    อุทเทสอื่น ๒) ปาราชิกกุทเทส ๓) สังฆาทิเสสุทเทส ๔) อนิยตุทเทส ๕) วิตถารุทเทส คือ รายละเอียดนั่นแหละเรียกว่าอุทเทสที่ยกขึ้นมาแสดง แต่ในที่นี้ เมื่อมาติกากล่าวคือุทเทสทั้ง ๔ อันตรธาน แต่ถ้ายังเหลือนิทานนุทเทส ก็ชื่อว่า ศาสนายังไม่อันตรธาน.)  อีกนัยหนึ่ง เมื่อปาติโมกข์ยังธำรงอยู่ นั่นเทียว บรรพชาและอุปสมบท ย่อมธำรงอยู่ ฉันใด,เมื่อบรรพชาและอุปสมบททั้งสองธำรงอยู่ ปาติโมกข์ ย่อมธำรงอยู่ฉันนั้น เพราะเมื่อทั้งสองนี้ ไม่มี ปาติโมกข์ก็ไม่มี. เพราะเหตุนั้น ทั้งสามประการนี้ ชื่อว่า เป็นเหตุให้พระศาสนาดำรงอยู่. เพราะฉะนั้น ท่านจึงว่า เมื่อปาติโมกข์, บรรพชาและอุปสมบทดำรงอยู่ ศาสนาชื่อว่า ดำรงอยู่. อีกนัยหนึ่ง ปาติโมกข์มีอุปสัมปทาเป็นที่อาศัย เพราะผู้ที่ไม่ได้อุปสมบทก็หาได้ต้องการไม่, ส่วนอุปสมบท ก็มีบรรพชาเป็นที่อาศัย เพราะเหตุนั้น เมื่อปาติโมกข์มีอยู่ ก็ดี เมื่อบรรพชาและอุปสมบทมีขึ้น เพราะการมีปาติโมกข์นั้น  ก็ดี ศาสนาชื่อว่า ดำรงอยู่.
[๒๓] จริงอยู่ คำว่า ปาติโมกข์ มี ๒ คือ โอวาทปาติโมกข์ ได้แก่ คาถาทั้งหลายเริ่มด้วย คำวา ขนฺตี ปรมํ ตโต ตีติกฺขา และอาณาปาติโมกข์ ได้แก่ พระบาฬีที่เป็นสิกขาบทบัญญัติที่ทรงตั้งเป็นพุทธอาณา. ในที่นี้ ได้แก่ อาณาปาติโมกข์.
[๒๔] คำว่า จบสิ้นลง หมายความว่า หลังจากพระปาติโมกข์สิ้นสุดลง ศาสนาชื่อว่า พินาศไป โดยกล่าวถึงความทำลายสองประการคือแห่งการแทงตลอดและศีลของภิกษุรูปสุดท้ายพร้อมกัน กล่าวคือ ปฏิเวธศาสนา พินาศ หลังจากการแทงตลอดแห่งภิกษุรูปสุดท้าย, ปฏิบัติศาสนาเป็นอันพินาศไป หลังจากการทำลายแห่งศีลของภิกษุรูปสุดท้าย. 
[๒๕] หมายถึง หลังจากนี้ไป สามารถมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ใหม่เกิดขึ้นได้. โดยนัยนี้ ปฏิบัติอันตรธาน เป็นปรากฏการณ์ที่กำหนดความสิ้นสุดของคำสอนของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งทีเดียว ตามที่ฏีกาของสูตรนี้กล่าวไว้ ดังนี้ว่า "เพราะศาสนาสิ้นสุดลง โดยการอันตรธานแห่งปฏิบัติ ความเกิดขึ้น การได้การหยั่งลง ย่อมมีแก่พระพุทธเจ้าพระองค์อื่น.  ถึงท่านจะกล่าวว่า ปริยัติจะเป็นข้อกำหนดแห่งการตั้งอยู่ของศาสนาก็ตาม แต่อย่างไรก็ตาม ปริยัติ มีปฏิบัติเป็นเหตุ (เหมือนกัน) ดังนั้น เมื่อปฏิบัติไม่มี ปริยัติ จะไม่เป็นอันตั้งอยู่ เหมือนอย่างปฏิเวธ เช่นกัน เพราะฉะนั้น ปฏิบัติอันตรธาน ก็เป็นเหตุการณ์พิเศษสำหรับการล่มสลายของพระศาสนา".
[๒๖] ในฏีกาอธิบายว่า ปฏิปทาของภิกษุผู้เป็นไปอยู่ในช่วงปฐมโพธิกาลนั่นเอง เป็นอันเหมาะสมต่อปฏิสัมภิทา ที่จะเป็นเหตุนำมาซึ่งความเป็นผู้บรรลุปฏิสัมภิทาได้ เพราะเว้นจากการตั้งตนไว้ถูกต้องและมีบุญอันทำไว้แล้วนั้น คุณเช่นนั้นย่อมไม่มี. (หมายความว่า บุญเก่าอันเป็นมูล ส่งผลมาให้เป็นบุคคลผู้เป็นไปอยู่ในช่วงปฐมโพธิกาล และการปฏิบัติตนอย่างเหมาะสม ย่อมมีผลโดยตรงต่อการบรรลุปฏิสัมภิทา-สมภพ)
[๒๗] ด้วยคำนี้ เป็นอันแสดงว่า ปฏิบัติสัทธรรมเท่านั้นเป็นปฏิปทาเบื้องต้นอันใกล้ชิดกับอริยมรรค. โดยนัยนี้ ถือเอาว่า เพียงแค่ศีลอันหมดจดไม่สามารถดำรงปฏิปัตติศาสนาให้อยู่ได้ ครั้นปฏิปทาที่มากกว่าศีลกล่าวคือการเจริญวิปัสสนากรรมฐานหมดไป ปฏิบัติสัทธรรมชื่อว่า อันตรธาน.
[๒๘] หมายถึง คุณธรรมอย่างมากที่ภิกษุพึงได้รับก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุการณ์ปฏิบัติอันตรธาน.
[๒๙] หมายถึง จุดที่เป็นปฏิบัติอันตรธาน เช่น ศีลแตกทำลาย หรือ วิปัสสนาไม่เกิด ก็เรียกว่าปฏิบัติอันตรธาน.
[๓๐] ในฏีกาอธิบายว่า อุปริโต ปฏฺฅาย คือ นับจากสูงสุด โดยนัยนี้ พึงทราบเป็นการกล่าวโดยรุกขารูฬหนัย นัยเหมือนการขึ้นต้นไม้ คัมภีร์ปัฏฐาน ถือว่า อยู่ข้างบนสุด เพราะยังขึ้นไปไม่ถึง เหมือนกับยอดไม้ที่ยังปีนขึ้นไม่ถึง แม้ที่เหลือก็มีนัยนี้.
[๓๑] ในฏีการะบุว่า ได้แก่ วินยมาติกาหรือพระบาฬีปาติโมกข์อุทเทส ที่กล่าวไว้ในตอนปฏิปัตติอันตรธานนั่นเอง (ข้อ ๒๑)
[๓๒] ในฏีการะบุว่า เฉพาะที่เป็นไปในมนุษย์เท่านั้น จึงจัดเป็นปริยัติอันตรธาน ส่วน ที่เป็นไปในเทวดาไม่จัดเป็นสำคัญในที่นี้. ที่ว่า ปริยัติในเทวดาทั้งหลาย ได้แก่ พระสูตรเช่น อาฬวกปัญหาเป็นต้น. เกี่ยวกับอาฬวกปัญหานี้ เป็นพระสูตรที่พระผู้มีพระภาคเสด็จไปในวิมานของอาฬวกยักษ์ ตรัสตอบปัญหาที่อาฬวกยักษ์ทูลถาม ดังนั้นจึงเป็น พระปริยัติที่เป็นไปในเทวโลก.
[๓๓] ในฏีกาเห็นว่า ด้วยคำว่า นับแต่ศีลภิกษุรูปสุดท้ายแตกทำลาย ศาสนาจึงสิ้นสุดลงนี้ ท่านอรรถกถาจารย์ถึงจะกล่าวว่า “ปริยัติเป็นหลักสำคัญที่จะชี้ความดำรงอยู่แห่งศาสนา” ก็ตาม, แต่กระนั้น ปริยัติ ก็มีปฏิบัติเป็นเหตุ เพราะเหตุนั้น เมื่อปฏิบัติไม่มี ปริยัตินั้นก็ไม่มีที่รองรับได้ เหมือนอย่างปฏิเวธ เหมือนกัน, เพราะเหตุนั้น การที่ปฏิบัติอันตรธานไป จึงเป็นเหตุของการสิ้นสุดของพระศาสนา ดังนี้แล้ว จึงแสดงว่า ศาสนาอันตรธานนี้ ได้แก่ การสิ้นสุดของธาตุปรินิพพาน.
[๓๔] ฏีกาอธิบายว่า อนนฺตรหิตเมว อธิสีลสิกฺขายํ ฅิตสฺส อิตรสิกฺขาทฺวยสมุฏฺฅาปิตโตฯ พระศาสนาย่อมไม่อันตรธานนั่นเทียว เพราะปริยัติสัทธรรมซึ่งดำรงอยู่ในอธิศีลสิกขาเป็นพื้นฐานของสิกขาที่เหลือทั้งสองนอกนี้.
[๓๕] ฏีกาอธิบายว่า กึ การณาติ เกน การเณน, อญฺญสฺมึ ธมฺเม อนฺตรหิเต อญฺญตรสฺส ธมฺมสฺส อนนฺตรธานํ วุจฺจตีติ       อธิปฺปาโยฯ "การที่กล่าวว่า ธรรมอย่างหนึ่งไม่อันตรธาน ในเมื่อธรรมอีกอย่างหนึ่งอันตรธาน ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร ? (หมายความว่า ขณะที่ปฏิบัติและปฏิเวธ อันตรธาน แต่ปริยัติกลับยังไม่อันตรธาน ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร ? ท่านจึงได้วิสัชชนาว่า เพราะปริยัติเป็นปัจจัยต่อการปฏิบัติ เป็นต้นไว้. อย่างไรก็ตาม นี้แปลตามปาฐะที่ปรากฏในคัมภีร์. บทว่า อนนฺตรธานํ ถ้าเป็น อนฺตรธานํ ก็จะได้ความไปอีกอย่างหนึ่งว่า เมื่อธรรมอย่างหนึ่งอันตรธาน เหตุไร ท่านจึงกล่าวการอันตรธานของธรรมอีกอย่างหนึ่ง - สมภพ)
[๓๖] คือว่า ปริยัติเป็นปัจจัยแก่ปฏิบัติ เพราะได้แสดงลำดับแห่งการปฏิบัติ โดยหมดสิ้นไม่เหลือ. ปฏิบัติเป็นปัจจัยแก่อธิคม เพราะ (ปฏิบัติ) เป็นการแทงตลอด (บรรลุ) วิเสสลักขณะ.
[๓๗] คำนี้ พระกปิละนั้นถามถึงภิกษุผู้ดำรงอยู่ โดยไม่ทำให้ศีลกำเริบ มีหรือไม่
[๓๘] ฏีกา อธิบายไว้มีความว่า ท่านตั้งปัญหานี้ขึ้นเมื่อด้วยประสงค์ว่า ถึงปริยัติจะเป็นไปอยู่ กล่าวคือ มีปาติโมกข์อยู่ก็ตาม แต่เหตุการณ์นี้ถือว่า ศาสนา เป็นอันสิ้นสุดลงแล้วมิใช่หรือ
[๓๙]ฏีกาอธิบายว่า คำนี้ ถือว่า เป็นข้อความที่ทำให้พระเถระผู้ทรงธุดงค์ต้องจนด้วยปฏิภาณ.
[๔๐] ในข้อนี้ พึงเห็นว่า ท่านกล่าวความที่ปฏิบัติเป็นปัจจัยของปริยัติ โดยการนำผลของการปฏิบัติมาเรียบเรียงเป็นแนวทางให้ผู้ฟังภายหลังได้รับเป็นข้อปฏิบัติ จะเห็นได้ว่า ท่านกล่าวว่า ปริยัติ ก็เป็นพื้นฐานของปฏิบัติ เพราะเป็นที่แสดงลำดับการปฏิบัตินั่นเอง.  พึงทราบว่า ท่านกล่าวโดยความเป็นที่พึ่งรองรับซึ่งกันและกัน. อีกประการหนึ่ง อรรถกถาสัมปสาทนียสูตรนั้น กล่าวอันตรธานในแง่ของการปฏิบัติ แต่มิได้ปฏิเสธว่า ปริยัติมิได้เป็นเหตุ แต่ปฏิบัติก็เป็นเหตุพิเศษอีกส่วนหนึ่งเช่นกัน. (สมภพ)
[๔๑] เพราะคัมภีร์อื่นที่กล่าวถึงลิงคอันตรธาน ก็กล่าวเพียงเล็กน้อย และซ้ำกับในที่นี้ เช่น คัมภีร์อรรถกถาทีฆนิกาย คัมภีร์ฏีกาวินัยสารัตถทีปนี ส่วนคัมภีร์อื่นๆ คือ อรรถกถาสังยุตนิกาย มิได้กล่าวไว้เลย ดังนั้น ในที่นี้จะยกมาแต่ในอรรถกถาอังคุตรนิกาย เอกกนิบาตเพียงแห่งเดียว เพราะให้รายละเอียดครอบคลุมคัมภีร์อื่น.
[๔๒] จำเนียรกาล กาลผ่านไปเนิ่นนาน
[๔๓] อย่างไรกัน? ในสารัตถสังคหะแปลว่า วางบาตรไว้เหนือต้นแขน. พิจารณาดูแล้ว เหมือนจะเป็นการใช้ข้อพับหนีบบาตรเที่ยวไปกระมัง
[๔๔] บาลีใช้ศัพท์ว่า โอฏฺฅฏฺฅิวณฺณํ ในฏีกาตัดบทเป็น โอฏฺฅานํ อฏฺฅิวณฺณํ  แปลตามศัพท์ว่า สีแห่งกระดูกในปาก กล่าวคือ งา, กล่าวกันว่า พวกภิกษุเหล่านั้นย้อมเพียง ๑ หรือ สองครั้ง ให้มีสีเหมือนงาจึงนุ่งห่ม. หมายถึง ไม่ใคร่จะเต็มใจย้อมจีวรนัก ครั้นจะย้อมก็เพียงครั้งสองครั้งเท่านั้นจึงมีสีซีดๆ ตุ่นๆ.
[๔๕] หมายถึง ใช้ท่อนผ้ากาสาวะนั้นผูกให้ติดที่ผม.
[๔๖]"โคตรภูบุคคล" คำนี้เป็นชื่อเรียก ภิกษุสงฆ์ผู้เป็นสมณะเพียงชื่อเท่านั้น หาได้มีความเป็นภิกษุหลงเหลืออยู่ไม่. ในฏีกาให้คำอธิบายว่า ภิกฺขุโคตฺตสฺส อภิภวนโต วินาสนโต โคตฺรภุโน ภิกษุที่ครอบงำคือทำลายโคตรแห่งภิกษุ เรียกว่า โคตรภู โคตฺร + ภู = อภิภวน วินาสน.
            อีกนัยหนึ่ง โคตฺตํ วุจฺจติ สาธารณํ นามํ, มตฺตสทฺโท ลุตฺตนิทฺทิฏฺโฐ, ตสฺมา ‘‘สมณา’’ติ โคตฺตมตฺตํ อนุภวนฺติ ธาเรนฺตีติ โคตฺรภุโน, นามมตฺตสมณาติ อตฺโถฯ
            ภิกษุที่มีเพียงชื่อเท่านั้น เพราะทรงไว้แต่เพียงโคตรเท่านั้น. ในคำว่า โคตรภูนี้ มาจาก โคตร + มตฺต เพียง + ภู = ธาเรนฺติ ทรงไว้. ในบรรดาบทเหล่านั้น  ชื่อที่เป็นสาธารณะเรียกว่า โคตร (หมายความว่า เป็นคำที่มิได้ใช้เฉพาะบุคคลคนเดียว แต่ใช้เรียกรวมๆกัน เช่น กัสสปโคตร กัจจายนโคตร เป็นต้น ตรงกับคำว่า นามสกุล ในปัจจุบัน) ส่วนคำว่า เป็นเพียง หรือ มตฺต ท่านไม่แสดงไว้ หรือแสดงไว้โดยการลบไป. เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า โคตรภู เพราะทรงไว้เพียงแต่โคตรอันเป็นชื่อที่ทั่วไปว่า "สมณะ". (หมายถึงเป็นสมณะก็เพียงชื่อ ไม่มีสิ่งอื่นที่แสดงความเป็นภิกษุเลย.)
[๔๗] คำว่า เป็นไปในสงฆ์ หมายความว่า เป็นทักษิณาที่เขาถวายเจาะจงถึงสงฆ์.
[๔๘] ในฏีกา อธิบายคำนี้ว่า ปริเทวนการุฃฺฃ หมายถึง การทำความหวั่นไหวคือคร่ำครวญเศร้าโศก. อนึ่ง คำว่า กรุณา มาจาก กร ในการทำ วิเคราะห์ตามที่ปรากฏในคัมภีร์ทั่วไปว่า ปรทุกฺเข สติ สาธูนํ หทยกมฺปนํ กโรตีติ กรุณา. ชื่อว่า กรุณา เพราะเมื่อความทุกข์ของผู้อื่นมีอยู่ ย่อมทำความหวั่นไหวในหัวใจแก่คนดีท้งหลาย.  ส่วนคำว่า การุฃฺฃ มาจาก กรุณา + ณฺย ปัจจัย ภาวตัทธิต โดยทั่วไปจึงแปลว่า ความกรุณา ซึ่งได้แก่ ความสงสาร.  ในที่นี้ คิดว่า ไม่น่าใช่ความสงสาร น่าจะมีความหมายว่า ทำความหวั่นไหวในหัวใจ หมายถึง เกิดจิตที่หวั่นไหว. ความข้อนี้ พ้องกับในฏีกาที่อธิบายว่า ปริเทวนการุฃฺฃ ความหวั่นไหวคือปริเทวนาการ คร่ำครวญ. ในที่นี้แปลตามนัยของฎีกา
[๔๙] ฏีกา อธิบายว่า เหตุการณ์ที่ปรากฏในช่วงนี้ทั้งสิ้นกล่าวคือ การที่พระธาตุซึ่งกระจัดกระจายประดิษฐานอยู่ในชมพูทวีป บ้าง  ในทวีปอื่น (อุตตรกุรุทวีปเป็นต้น) ในเทวโลก นาคพิภพ พรหมโลก บ้าง เสด็จมาประชุมกันเป็นอันเดียวกัน ณ สถานที่คือมหาโพธิบัลลังก์ ก็ดี, การเปล่งพระรัศมี, การที่เตโชธาตุลุกโพลงขึ้นที่พระธาตุนั้น, และการที่มีเปลวไฟติดเป็นอันเดียวกัน นี้ ล้วนแต่เป็นไปด้วยอำนาจการอธิฏฐานของพระศาสดาทั้งสิ้นทีเดียว.

[๕๐]เกี่ยวกับเรื่องเหตุผลที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ทรงอุบัติเกิดขึ้นพร้อมกัน. คัมภีร์มิลินทปัญหาได้แสดงไว้โดยพิสดารแล้ว พึงตรวจดู ในที่นั้นได้ที่ ๕. อนุมานปญฺโห ๑. พุทฺธวคฺโค ๑. ทฺวินฺนํ พุทฺธานํ อนุปฺปชฺชมานปญฺโห.

*******

ขออนุโมทนา 

สมภพ สงวนพานิช


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น