ยํ
วา ตํ วา แปลว่า อะไรก็ได้
เคยเห็นศัพท์อยู่ชุดหนึ่ง
คือ ยํ วา ตํ วา เห็นรูปแบบการเขียนคำศัพท์
ก็นึกแปลกใจว่า จะแปลว่าอย่างไรดี. ก่อนอื่น คิดแบบพื้นฐานคำศัพท์ก่อน.
ตามคำศัพท์ คือ ย = ใด ต = นั้น
วา = หรือ ดังนั้น คำนี้น่าจะมีความหมายว่า สิ่งใด หรือ หรือว่า สิ่งนั้น.
แต่มีหลักการว่า
เมื่อเห็นศัพท์อย่าเพิ่งรีบแปล ให้คำนึงถึงความเหมาะสม และ ปกรณ์ คือ บริบท
เป็นต้น เสียก่อน. เมื่อคิดได้ดังนี้ จึงค้นหาด้วยระบบคอมพิวเตอร์
ที่จะทำให้การค้นหาสะดวกยิ่งขึ้น
ผลปรากฏว่า
พบหลักฐานการใช้ว่า ท่านมิได้ใช้ตามคำศัพท์เลย.
ถ้าไม่ตรงกับศัพท์เดิมแล้วจะแปลว่าอะไรดี.
เอาเป็นว่า
สรุปให้เลยว่า คำนี้เป็นสำนวนพูด ใช้ในความหมายว่า อะไรก็ได้. แต่คำนี้หาใช่ว่า
จะแปลอย่างไรก็ได้ เหมือนคำศัพท์ไม่ แต่มีข้อกำหนดอยู่ว่า จะใช้ในกรณีใด
ก็ขึ้นอยู่กับบริบท.
คำนี้มีหลักฐานการใช้มากมายหลายแห่ง
พอประมวลบริบทตามที่ใช้อยู่ ๒ ประเภทใหญ่ คือ
๑. คำพูดเลอะเลือน
พล่อยๆ เหลวไหล ไร้สาระ
คำนี้จะใช้ในเชิงตำหนิคำพูดที่มีลักษณะเป็นคำพูดพล่อยๆ
เลื่อนลอย หาเหตุผลอะไรไม่ได้ ไม่อิงหลักการ ที่ผู้พูดสักแต่กล่าวขึ้นมา โดยทำนองว่า
นึกคำอะไรได้ ก็พูดออกไปเรื่อยเปือย. ในคัมภีร์ท่านใช้คำว่า ยํ วา ตํ วา มุขารุฬห
กำกับไว้ด้วย แปลว่า คำพูดพล่อยๆ ที่คุ้นปาก
ข้าพเจ้าเก็บที่มาของคำว่า
ยํ วา ตํ วา อันหมายถึงคำพูดชนิดนี้ พอเป็นตัวอย่างสักสองสามแห่งมาเล่าสู่กันฟัง พอเป็นแนวทางหาคำแปลตามบริบทดังต่อไปนี้.
(๑).
คำพูดพล่อยๆ หรือคำคุ้นปาก
คัมภีร์สัททนีติ
ปทมาลา ที่ถือเป็นตำราขั้นสุดยอด เก็บคำศัพท์ไว้มากมาย
ได้กล่าวถึงคำพูดชนิดนี้ไว้ เมื่อมีผู้อ้างถึงถ้อยคำของพระอรรถกถาจารย์
แต่มิได้มีการศึกษาสำเหนียกเหล่านั้นให้ดี จึงกล่าวออกมา ดูเหมือนจะเลื่อนลอย
คล้ายกับเป็นการกล่าวตู่ท่านโดยการรู้ไม่จริง.
ตุมฺเห
ปน อมาตาปิตรสํวทฺธตฺตา อาจริยกุเล จ อนิวุฏฺฐตฺตา เอตํ สุขุมตฺถมชานนฺตา ยํ วา ตํ
วา มุขารูฬฺหํ วทถฯ
ภุญฺชนตฺถํ กถนตฺถํ, มุขํ โหตีติ โน วเท;
ยํ วา ตํ วา มุขารูฬฺหํ, วจนํ ปณฺฑิโต นโรติฯ
เนื่องจากท่านไม่ได้เติบโตในสำนักของพ่อแม่และอาจารย์
จึงไม่สามารถเข้าใจอรรถที่ลึกซึ้งเช่นนี้ แสดงคำพูดที่พล่อยๆ ที่คุ้นปาก.
(มีคำแนะนำว่า)
นรชนผู้เป็นบัณฑิตจะไม่พูดพล่อยๆ
อย่างคุ้นปาก เพราะสักแต่คิดว่า ปาก (ของเรา) นี้มีไว้เพื่อพูดและกิน
(สัททนีติ
ปทมาลา แปล หน้า ๓๒๗ วินิจฉัย มาตุคาม โอรธ และทาร ศัพท์)
---
(๒). พูดเพ้อเจ้อเหลวไหลไปเรื่อยเปื่อย แบบคนเมาสุรา
คัมภีร์อรรถกถาชาดก อธิบายถึงคนแบบนี้ว่า
อุทีเรสีติ ยถา สุรํ ปวิตฺวา นาติมตฺโต ปุริโส
ยํ วา ตํ วา ปลปติ, เอวํ ปลปสีติ
อตฺโถฯ
คำว่า อุเรสิ
ความว่า พระองค์ พูดพร่ำเพ้อ เหมือนคนดื่มสุราแล้วแต่ไม่เมามายจนเกินไป บ่นเพ้อถึงเรื่องโน้น
เรื่องนี้ ต่างๆ นานา. (หํสชาตกฏฺฐกถา ๒/๑๑๘)
(๓). พูดมั่วๆ
ผิดๆ ถูกๆ เลอะเลือน
คัมภีร์วิภังคอรรถกถา
จตุกกนิทเทส กล่าวถึงผู้ถึงโมหาคติจะพูดคำมั่วๆ ได้
โย
ปน มนฺทตฺตา โมมูหตฺตา ยํ วา ตํ วา วตฺวา อสฺสามิกํ สามิกํ กโรติ – อยํ โมหาคติํ คจฺฉติ นามฯ
ผู้ใด
พูดมั่วๆ แล้วทำผู้ไม่ใช่เจ้าของให้เจ้าของได้ เหตุที่ตนปัญญาอ่อน ไม่รู้จริง
นี้ชื่อว่า ผู้ถึงโมหาคติ. ลำเอียงเพราะหลง. (๔.)
จตุกฺกนิทฺเทสวณฺณนา ๙๓๙.)
คัมภีร์อรรถกถาชาดก
เรื่อง มหาชนกชาดก ที่พระมหาชนกตรัสเตือนนางเทพธิดามณิเมขลาว่า
อย่าได้กล่าวตำหนิการทำความเพียรชนิดมองไม่เห็นจุดหมายว่า
ตฺวํ ยํ วา ตํ วา นิรตฺถกํ วทสิ
แม่เทพธิดา
ท่านได้กล่าวคำพูดพล่อยๆ ไร้ประโยชน์ไปเลย. (มหาชนกอรรถกถา)
---
๒ เบ็ดเตล็ด, ไม่เจาะจง, อะไรก็ได้
ในกรณีนี้
จะไม่ใช่คำพูด แต่หมายถึงสิ่งของทั่วไป ที่ไม่ได้เจาะจง ตามข้อกำหนดกฏเกณฑ์อย่างตายตัว
ตรงกับคำว่า ยํ กิญฺจิ อย่างใดอย่างหนึ่ง นั่นเอง กรณีนี้มีมาก เช่น
‘อวเสสา สตฺตา ยํ วา ตํ วา
ลภนฺติ, อหํ ปน สุกตํ ปณีตํ จีวราทิปจฺจยํ ลภามี’ติ มชฺชนวเสน อุปฺปนฺโน มาโน สกฺการมโท นามฯ
มานะที่เกิดขึั้น
เนื่องด้วยความมัวเมา ว่า สัตว์ที่เหลือ จะได้อะไรก็ช่าง,
แต่เราจะต้องได้ปัจจัยมีจีวรเป็นต้นที่จัดทำอย่างดี ปณีต ดังนี้แล ชื่อว่า
สักการมทะ บุคคลผู้เมาในสักการะ. (วิภังคอรรถกถา เอกกนิทเทสวัณณนา ๘๔๓-๘๔๔.)
ทิฏฺฐิคติโก
หิ อุมฺมตฺตโก วิย ยํ วา ตํ วา คณฺหาติฯ (วิภังคอรรถกถา 958)
คนที่มีความเห็นผิด
จะถือเอาความคิดเห็นอย่างใดอย่างหนึ่ง เหมือนอย่างคนบ้า.
ยํ
วา ตํ วาติ จีวรํ วา อญฺเญ วา ปิณฺฑปาตาทิเกติ ยํ วา ตํ วาติฯ (ปาจิ.โย.762)
คำว่า
ยํ วา ตํ วา คือ จีวร ก็ดี ปัจจัยอย่างอื่นๆ มีบิณฑบาตเป็นต้น ฉะนั้น
จึงชื่อว่า ยํ วา ตํ วา ปัจจัย๔ อย่างใดอย่างหนึ่ง อะไรก็ได้ (ปาจิ.โย.762)
สเจ
อนิยมํ กตฺวา ยํ วา ตํ วา คณฺหาติ, อถ ยาทิสํ ลภติ,
ตาทิสํ ทาตพฺพํฯ
ถ้าว่า
ไม่เจาะจงแล้วรับเอาสิ่งใดๆ มา, ทีนั้น
ถ้าได้ปัจจัยอย่างไร ก็ควรสละปัจจัยเช่นนั้น.(2472-3 วิ.วินิ.ฎี)
---
สรุปได้ว่า คำว่า
ยํ วา ตํ วา ถ้าใช้กับคำพูด หมายถึง คำพูดพล่อยๆ เป็นต้น ที่ไม่สามารถระบุความหมาย
หาประโยชน์อันใดมิได้ ถ้าใช้กับวัตถุสิ่งของ ให้หมายถึง อะไรก็ได้
ที่ไม่กำหนดตายตัวลงไป ตรงกับคำว่า ยํ กิญฺจิ. นอกจากนี้ ยังสามารถประกอบเป็นวิภัตติอื่น ที่เคยได้พบเห็นอยู่หลายแห่ง เช่น โย วา โส วา, เยน วา เตน วา และยังมีที่ลงปัจจัยเป็น ยถา วา ตถา วา ซึ่งก็ล้วนแต่มีความหมายที่เหมือนกัน.
..
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น