วันพฤหัสบดีที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2559

กาลงฺกต แปลได้หลายอย่าง

กาลงฺกต ศัพท์นี้ มีคำแปลตามนัยของอรรถกถาต่างๆ ดังนี้
๑. ผู้ถึงกาละ (กาล ความตาย + คต ถึง) แปลง ค เป็น ก. วิเคราะห์เป็นทุติยาตัปปุริสสมาส ชนิดไม่ลบวิภัตติ ว่า
กาเลติ สตฺเต เขเปตีติ กาโล, มรณํ. ตํ กโต ปตฺโตติ กาลงฺกโต,
ความตาย เรียกว่า กาล เพราะเป็นธรรมชาติทำให้สัตว์หมดสิ้นไป. ผู้ถึงกาละคือความตายนั้น ชื่อว่า กาลงฺกต.
๒. ผู้ถูกความตายให้เสื่อมสูญไป (กาล ความตาย + กต สิ้นไป) วิเคราะห์เป็นตติยาตัปปุริสสมาส
กาเลน วา มจฺจุนา กโต นฏฺโฐ อทสฺสนํ คโตติ กาลงฺกโต, มโตติ อตฺโถ
อีกนัยหนึ่ง บุคคลผู้ถูกความตายที่เรียกว่า กาละ ให้สิ้นไป คือ ให้ฉิบหาย ได้แก่ ถึงความไม่ปรากฏ ชื่อว่า กาลงฺกต ความหมายคือ คนตายแล้ว.
(ทั้งสองนัยนี้มาในอุุทานอฏฺฐกถา ๑๐๕)
๓. ผู้มีเวลาที่มีชีวิตอันทำแล้ว (กต ทำแล้ว+ กาล ระยะเวลาที่มีชีวิต) ลง นิคคหิตอาคม วิเคราะห์เป็นพหุุพพีหิสมาสว่า
ข. กาลงฺคตนฺติ กตกาลํ, ยตฺตกํ เตน กาลํ ชีวิตพฺพํ, ตํ สพฺพํ กตฺวา, นิฏฺฐเปตฺวา มตนฺติ อตฺโถ. (ที.อ.๒/๔๗)
กตกาลนฺติ ปริยาปิตชีวนกาลํ. (ที.ฎี.๒/๔๖)
ผู้มีกาลอันทำแล้ว ชื่อว่า กาลงฺคต. หมายความว่า กาลที่เขาพึงเป็นอยู่มีเพียงใด, กระทำกาลนั้นจนครบแล้ว, หมายถึง ยังกาลนั้นให้ถึงที่สุดแล้วก็ตาย.
รวมความว่า กาลงฺกต แปลโดยโวหารว่า ผู้ตายแล้ว แปลตามคำศัพท์ว่า มีกาละอันทำแล้ว หรือ ถึงแล้วซึ่งกาละ หรือ อันกาละคือความตายทำให้พินาศแล้ว.
กาลศัพท์นอกจากจะใช้ในความหมายว่า เวลาแล้ว ยังหมายถึง ความตาย ดังอภิธานนัปปทีปิกา คาถาที่ ๔๐๔ กล่าวถึง กาล ศัพท์ ที่หมายถึงความตายไว้ ๑๐ บท คือ มรณ, กาลกิริยา, ปลย, มจฺจุ, อจฺจย, นิธน, นาส, กาล, อนฺต, จวน. 
อภิธานฯฎีกา อธิบายความหมายของคำว่า กาล ที่หมายถึง ความตาย.
๑). กาลสฺส กฺริยตฺตา กาโล.
ชื่อว่า กาละ เพราะถูกความตายกระทำให้พินาศ (กาล + ณ ปัจจัย ตัทธิต)
๒) อตฺตภาวสฺส อนฺตํ กโรตีติ วา กาโล. อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า กาละ เพราะกระทำซึ่งที่สุดแห่งอัตตภาพ. (กร ธาตุ ในอรรถว่า ทำ + ณ ปัจจัย).
คัมภีร์อภิธานสูจิ กล่าวไว้ว่า
๓) กลยติ วา เตสํ เตสํ สตฺตานํ ชีวิตํ เขเปติ สมุจฺเฉทวเสน นาเสตีติ กาโล. เตนาหุ อฏฺฐกถาจริยา กาโลติ มจฺจุ, กาลยติ สตฺตานํ ชีวิตํ นาเสตีติ กาโล. กาเลน มจฺจุนา กโต นาสิโตติ กาลกโตติ

อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า กาละ เพราะยังชีวิตของสัตว์นั้น ๆ ให้หมดไป หรือ เพราะให้พินาศไป เกี่ยวกับการเข้าไปตัดขาดด้วยดี (กล ธาตุ ในอรรถว่า สิ้นไป +  ณ ปัจจัย ในภาวสาธนะ.)  ดังพระอรรถกถาจารย์กล่าวว่า ความตาย ชื่อว่า กาละ เพราะทำชีวิตของสัตว์ทั้งหลายให้สิ้น คือ พินาศไป. (ดังนั้น คำว่า กาลกต จึงมีความหมายว่า) ผู้อันกาละให้สิ้นไป เพราะถูกกาละคือความตาย ทำให้สิ้นแล้ว คือ ให้ฉิบหายเสียแล้ว. 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น