วันจันทร์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2559

มิลินทปัญหา อัทธานวรรคที่ ๒ (๕) (สุข) เวทนาปัญหา

๕. เวทนาปญฺโห
ปัญหาเกี่ยวกับสุขเวทนาเป็นกุศล อกุศล หรือ อัพยากตะ
. ราชา อาห ‘‘ภนฺเต นาคเสน, สุขา เวทนา กุสลา วา อกุสลา วา อพฺยากตา วา’’ติ?
ราชา พระเจ้ามิลินท์ อาห ตรัสถามว่า ภนฺเต นาคเสน พระคุณเจ้าพระนาคเสน สุขา เวทนา เวทนาอันเป็นสุข โหติ เป็น กุสลา วา กุศล, อกุสลา วา อกุศล, อพฺยากตา วา หรือ อัพยากตะ อิติ ดังนี้ ?.


‘‘สิยา, มหาราช, กุสลา, สิยา อกุสลา, สิยา อพฺยากตา’’ติฯ
เถโร พระนาคเสนเถระ อาห ทูลแล้วว่า มหาราช ขอถวายพระพรมหาบพิตร สุขา เวทนา เวทนาอันเป็นสุข สิยา บางอย่าง กุสลา เป็นกุสลา[๑], สิยา บางอย่าง อกุสลา เป็นอกุศล, สิยา บางอย่าง อพฺยากตา เป็นอัพยากตะ.

‘‘ยทิ, ภนฺเต, กุสลา น ทุกฺขา, ยทิ ทุกฺขา น กุสลา, กุสลํ ทุกฺขนฺติ นุปฺปชฺชตี’’ติฯ
ราชา พระราชา อาห ตรัสแล้วว่า ภนฺเต พระคุณเจ้า ยทิ ถ้าหากว่า กุสลา กุศลท. น ทุกฺขา ไม่เป็นทุกข์, ยทิ และถ้า ทุกฺขา ทุกข์ น กุสลา ไม่เป็นกุศล, (วจนํ) คำว่า กุสลํ ทุกฺขํ กุศล เป็นทุกข์ อิติ ดังนี้ น อุปปชฺชติ[๒] = น วฏฺฏติ ก็ไม่ถูก อิติ ดังนี้.[๓]

‘‘ตํ กิํ มญฺญสิ, มหาราช, อิธ ปุริสสฺส หตฺเถ ตตฺตํ อโยคุฬํ นิกฺขิเปยฺย, ทุติเย หตฺเถ สีตํ หิมปิณฺฑํ นิกฺขิเปยฺย, กิํ นุ โข, มหาราช, อุโภปิ เต ทเหยฺยุ’’นฺติ?
เถโร พระนาคเสน อาห ทูลว่า มหาราช ขอถวายพระพร ตฺวํ มหาบพิตร  มญฺญสิ จะทรงดำริ ตํ ความข้อนั้น กิํ อย่างไร?. ปุคฺคโล บุคคล นิกฺขิเปยฺย พึงวาง อโยคุฬํ ก้อนเหล็ก ตตฺตํ ร้อน อิธ หตฺเถ ไว้บนมือนี้, นิกฺขิเปยฺย พึงวาง หิมปิณฺฑํ ก้อนน้ำแข็ง สีตํ เย็น หตฺเถ ไว้บนมือ ทุติเย อีกข้างหนึ่ง ปุริสสฺส ของบุรุษ, มหาราช ขอถวายพระพร อุโภปิ เต แม้ทั้งสองอย่างนั้น ทเหยฺยุํ พึงลวกมือ กิํ นุ โข ได้หรือไม่? อิติ ดังนี้.[๔]

‘‘อาม, ภนฺเต, อุโภปิ เต ทเหยฺยุ’’นฺติฯ
ราชา พระเจ้ามิลินท์  อาห ตรัสว่า ภนฺเต พระคุณเจ้า อาม ได้ อุโภปิ เต แม้ทั้งสองสิ่ง ทเหยฺยุํ  พึงลวกมือได้ อิติ ดังนี้.

‘‘กิํ นุ โข, เต มหาราช, อุโภปิ อุณฺหา’’ติ?
เถโร พระนาคเสนเถระ อาห ทูลถามว่า มหาราช ขอถวายพระพร อุโภปิ เต  แม้ทั้งสอง  อุณฺหา โหนฺติ  เป็นของร้อน กิํ นุ โข ใช่หรือไม่?

‘‘น หิ ภนฺเต’’ติฯ
ราชา พระราชา อาห ตรัสแล้วว่า หิ ก็ อุโภปิ เต แม้ทั้งสอง น โหติ มิได้เป็น อุณฺหา ของร้อน ภนฺเต พระคุณเจ้า.

‘‘กิํ ปน เต, มหาราช, อุโภปิ สีตลา’’ติ?
เถโร พระนาคเสนเถระ อาห ทูลถามว่า มหาราช ขอถวายพระพร อุโภปิ เต แม้ทั้งสอง โหนฺติ เป็น สีตลา ของเย็น กิํ นุ โข ใช่หรือไม่?

 ‘‘น หิ ภนฺเต’’ติฯ
ราชา พระราชา อาห ตรัสแล้วว่า หิ ก็ อุโภปิ เต แม้ทั้งสองอย่างนั้น น โหติ ไม่เป็น สีตลา ของเย็น ภนฺเต พระคุณเจ้า.
‘‘อาชานาหิ นิคฺคหํ ยทิ ตตฺตํ ทหติ, น จ เต อุโภปิ อุณฺหา, เตน นุปปชฺชติฯ ยทิ สีตลํ ทหติ, น จ เต อุโภปิ สีตลา, เตน นุปปชฺชติฯ กิสฺส ปน เต, มหาราช, อุโภปิ ทหนฺติ, น จ เต อุโภปิ อุณฺหา, น จ เต อุโภปิ สีตลา? เอกํ อุณฺหํ, เอกํ สีตลํ, อุโภปิ เต ทหนฺติ, เตน นุปปชฺชตี’’ติฯ
เถโร พระนาคเสนเถระ อาห ทูลถามว่า มหาราช ขอถวายพระพร ตฺวํ มหาบพิตร อาชานาหิ จงรับรู้ นิคฺคหํ ซึ่งความผิดพลาด, ยทิ ถ้า ตตฺตํ ความร้อน ทหติ ลวกมือ, และ อุโภปิ เต แม้ทั้งสอง น โหนฺติ ไม่เป็น อุณหา ของร้อน เตน เพราะเหตุนั้น (วจนํ) คำว่า (อุโภปิ ทหนฺติ) ทั้งสองอย่าง ลวกมือได้ น อุปปชฺชติ = น วฏฺฏติ ไม่ควรจะพูด,  ยทิ ถ้า สีตลํ ความเย็น (อุภินฺนํ) ของทั้งสองสิ่ง ทหติ ลวกมือได้, และ อุโภปิ เต แม้ทั้งสองสิ่ง สีตลา น โหติ ไม่ได้เป็นของเย็น, เตน เพราะเหตุนั้น (วจนํ) คำว่า “(อุโภปิ ทหนฺติ) ทั้งสองสิ่ง ลวกมือได้” น อุปปชฺชติ = วตฺตุํ น ยุชฺชติ ไม่ควรจะพูด. ปน อนึ่ง เต อุโภปิ แม้ทั้งสองสิ่ง น โหติ ไม่เป็น อุณฺหา ของร้อน, และ เต อุโภปิ อีกทั้งสองสิ่ง สีตลา น โหติ ก็ ไม่เป็นของเย็น,  เต อุโภปิ ทั้งสองสิ่ง ทหนฺติ จะลวกมือได้  กิสฺส = เกน การเณน  เพราะเหตุไรเล่า มหาราช มหาบพิตร. เอกํ อุณหํ (ถ้า) อย่างหนึ่งร้อน, เอกํ สีตลํ อย่างหนึ่ง เย็น,  เตน เพราะเหตุนั้น (ตยา วุตฺตวจนํ) ที่มหาบพิตรตรัสว่า “อุโภปิ เต แม้ทั้งสอง ทหนฺติ ลวกมือได้” ดังนี้  น อุปปชฺชติ = น วฏฺฏติ ก็ไม่ถูก,

‘‘นาหํ ปฏิพโล ตยา วาทินา สทฺธิํ สลฺลปิตุํ, สาธุ อตฺถํ ชปฺเปหี’’ติฯ
ราชา พระเจ้ามิลินท์ อาห ตรัสว่า อหํ โยม น ปฏิพโล ไม่สามารถ สลฺลปิตุํ จะโต้ตอบ สทฺธิํ กับ ตยา พระคุณเจ้า วาทินา = ยุตฺตมตฺถคมฺภีรวิจิตฺตปฏิภานวาทินา ผู้มีวาทะประกอบด้วยปฏิภาณวิจิตรลึกซึ้งในอรรถที่ถูกต้องได้, สาธุ = ยาจามิ โยมขออาราธนา[๕]ตฺวํ ขอพระคุณเจ้า ชปฺเปหิ จงแถลง อตฺถํ ความหมายเถิด”

ตโต เถโร อภิธมฺมสํยุตฺตาย กถาย ราชานํ มิลินฺทํ สญฺญาเปสิ
‘‘ฉยิมานิ, มหาราช, เคหนิสฺสิตานิ โสมนสฺสานิ, ฉ เนกฺขมฺมนิสฺสิตานิ โสมนสฺสานิ, ฉ เคหนิสฺสิตานิ โทมนสฺสานิ, ฉ เนกฺขมฺมนิสฺสิตานิ โทมนสฺสานิ, ฉ เคหนิสฺสิตา อุเปกฺขา, ฉ เนกฺขมฺมนิสฺสิตา อุเปกฺขาติ, อิมานิ ฉ ฉกฺกานิ, อตีตาปิ ฉตฺติํสวิธา เวทนา, อนาคตาปิ ฉตฺติํสวิธา เวทนา, ปจฺจุปฺปนฺนาปิ ฉตฺติํสวิธา เวทนา, ตเทกชฺฌํ อภิสญฺญุหิตฺวา อภิสมฺปิณฺเฑตฺวา อฏฺฐสตํ เวทนา โหนฺตี’’ติฯ
ตโต ทีนั้น เถโร พระนาคเสน ราชา ทำให้พระราชา มิลินฺทํ พระนามว่ามิลินท์ สญฺญาเปสิ  ทรงรู้ความหมาย กถาย ด้วยข้อความ อภิธมฺมสํยุตฺตาย ที่ประกอบด้วยพระอภิธรรม ว่า  มหาราช มหาบพิตร ฉกฺกานิ หมวด ๖ ของเวทนา อิมานิ เหล่านี้ อิติ คือ
โสมนสฺสานิ โสมนัสเวทนา เคหนิสฺสิตานิ ที่อาศัยกามคุณอันเปรียบเสมือนบ้านเรือน[๖]  อิมานิ เหล่านี้, โสมนสฺสานิ โสมนัสเวทนา เนกฺขมฺมนิสฺสิตานิ ที่อาศัยเนกขัมมะ[๗]
โทมนสฺสานิ โทมนัสเวทนา เคหนิสฺสิตานิ ที่อาศัยกามคุณอันเปรียบเสมือนบ้านเรือน  อิมานิ เหล่านี้, โทมนสฺสานิ โทมนัสเวทนา เนกฺขมฺมนิสฺสิตานิ ที่อาศัยเนกขัมมะ
อุเปกฺขา อุเบกขาเวทนา เคหนิสฺสิตานิ ที่อาศัยกามคุณอันเปรียบเสมือนบ้านเรือน  ฉ ๖, อุเปกฺขา อุเบกขาเวทนา เนกฺขมฺมนิสฺสิตานิ ที่อาศัยเนกขัมมะ [๘]
ฉตฺติํสวิธา เวทนา เวทนา ๓๖ ประการ ดังกล่าว อตีตาปิ ที่เป็นอดีต โหนฺติ ก็มี, ฉตฺติํสวิธา เวทนา เวทนา ๓๖ ประการ อนาคตาปิ ที่เป็นอนาคตก็มี, ฉตฺติํสวิธา เวทนา เวทนา ๓๖ ประการ ปจฺจุปฺปนฺนาปิ ที่เป็นปัจจุบันก็มี, เวทนา เวทนา โหนฺติ มี อฏฺฐสตํ ๑๐๘ อภิสญฺญูหิตฺวา เพราะรวบรวม อภิสงฺขิปิตฺวา เพราะย่อ ตเทกชฺฌํ = ตา  เวทนาเหล่านั้น เอกชฺฌํ ให้เป็นอย่างเดียว[๙].

‘‘กลฺโลสิ, ภนฺเต นาคเสนา’’ติฯ
ภนฺเต นาคเสน ข้าแต่พระคุณเจ้าพระนาคเสน ตฺวํ พระคุณเจ้า กลฺโล เป็นผู้สามารถ อสิ ย่อมเป็น ดังนี้.

------


คำอธิบาย
คำถามของพระเจ้ามิลินท์ที่ว่า กุสลํ ทุกฺขนฺติ น อุปปชฺชติ ไว้ พระอรรถกถาจารย์อธิบายความไว้ว่า
พระเจ้ามิลินท์ ถามพระนาคเสนว่า กุศลย่อมไม่ควรต่อคำพูดว่า “เราเป็นทุกข์”, ทุกข์ ก็ไม่ควรต่อคำพูดว่า “เราเป็นกุศล”. แท้ที่จริง ทุกข์ เป็นของร้อน เปรียบเหมือนกับก้อนเหล็กร้อน, กุศล เป็นของเย็น เปรียบเหมือนก้อนน้ำแข็งเย็น (บางเล่มแปลว่า ก้อนหิมะ).
เมื่อพระนาคเสนตั้งปัญหาว่า มหาบพิตร ทั้งสองสิ่งนั้นลวกมือได้หรือไม่ ฉะนี้แล้ว พระเจ้ามิลินท์ เคยสดับมาว่า ชื่อของความเย็นและร้อน คือ เตโชธาตุ ฉะนั้น จึงทรงสำคัญผิด จากญาณเป็นเครื่องรู้คุณสมบัติแห่งธาตุทั้งหลาย ได้ทรงให้คำตอบที่ผิดพลาดว่า “ทั้งสองสิ่งลวกมือได้” ทรงหมายถึงภาวะที่ก้อนน้ำแข็งเย็นสามารถกัดกร่อนของแข็งจนผุพังได้ ดังนั้น พระนาคเสนย้อนถามพระเจ้ามิลินท์ว่า ตํ กิํ มญฺญสิ มหาราช .... อุโภปิ เต ทเหยฺยุํ มหาบพิตรทรงดำริอย่างไรในเรื่องที่อาตมภาพจะทูลถาม, ถ้าเอาก้อนเหล็กร้อนบนมือของบุรุษคนหนึ่ง และเอาก้อนน้ำแข็งเย็นวางบนมืออีกข้างหนึ่ง ทั้งก้อนเหล็กร้อนและก้อนน้ำแข็งเย็น จะลวกมือได้ไหม? 
อธิบายว่า ก้อนเหล็กร้อนและก้อนน้ำแข็งเย็น จะลวกมือ เนื่องด้วยความร้อน ได้ไหม.
พระเจ้ามิลินท์ตอบว่า ทั้งสองนั้นจะลวกมือได้สิ พระคุณเจ้า.
คำนี้แหละเป็นคำตอบที่ผิดพลาด พระนาคเสนจะยกเอาข้อนี้มาเป็นคำกล่าวข่ม (กล่าวข่ม เป็นสำนวนเฉพาะการซักไซร้ในทางคัมภีร์ ความหมาย คือ ชี้ให้เห็นข้อผิดพลาดของคำตอบนั้น)ว่า ขอมหาบพิตร จงยอมรับคำกล่าวข่มนั้นเสีย
๔. ในคำกล่าวข่มที่ว่า ถ้าว่า ความร้อนย่อมลวกมือ, ในขณะที่ทั้งสองก็ไม่ใช่ของร้อนทั้งหมด ฉะนั้น ที่ว่ามานั้น ก็ผิด ความว่า เพราะฉะนั้น ความร้อน ก็ไม่ควรจะถูกกล่าวว่า “เราเป็นของเย็น”,

ถ้าความเย็น ย่อมลวกมือเอา ในขณะที่ทั้งสองก็ไม่ใช่ของเย็นทั้งหมด ฉะนั้น ที่ว่ามานั้น ก็ผิด ความว่า เพราะฉะนั้น ความเย็นไม่ควรจะถูกกล่าวว่า “เราเป็นของร้อน”,

มหาบพิตร ตามที่มหาบพิตรดำริว่า แม้ทั้งสอง ที่อย่างหนึ่งเป็นของร้อน อีกอย่างหนึ่งเป็นของเย็น ลวกมือได้, แสดงว่า  สองสิ่งนั้นจะต้องลวกมือเอาเสียได้ เนื่องด้วยเป็นความร้อน. ด้วยคำนั้น ก็ไม่ถูก ก้อนเหล็กร้อน ก็ไม่ควรจะกล่าวว่า “เราเป็นของก้อนน้ำแข็งเย็น” ส่วนก้อนน้ำแข็งเย็น ก็ไม่ควรจะกล่าวว่า เราเป็นก้อนเหล็กร้อน 

(ควรจะตอบว่า ร้อนทั้งคู่ หรือ เย็นทั้งคู่ ถึงจะสมกับสภาวะของความเย็นและร้อนที่สามารถลวกมือได้ แต่ความจริงของสองสิ่งคือ ร้อน และ เย็น ต่างกัน แต่ทั้งเย็นและร้อน สามารถลวกมือได้ เหมือนกับกุศล กับ ทุกข์ กุศลเหมือนของเย็น ทุกขเวทนา เหมือนของร้อน ทั้งสองสิ่งไม่ว่าจะร้อนหรือเย็นก็เป็นสภาพบีบคั้นให้อยู่ไม่ได้ต้องแก้ไขกันร่ำไป)


ถ้าเช่นนั้น ที่พระราชาตรัสว่า กุศลก็ไม่ใช่ทุกข์ ดังนี้ก็ไม่ถูกต้อง เพราะอย่างไรเสีย กุศล ที่ถึงจะประกอบด้วยเวทนาคือสุข หรือโสมนัส ก็ชื่อว่า ทุกข์ แม้ที่ที่ประกอบด้วยทุกข์เวทนาที่เป็นชนิดคเหนิสสิตโทมนัส ก็เป็นทุกข์เช่นกัน สรุปว่า กุศ,ไม่ว่าจะประกอบด้วยเวทนาใดๆ ก็ชื่อว่า ทุกข์ทั้งนั้น แม้เวทนาใดๆ ก็ชื่อว่า ทุกข์ ไม่ใช่แต่เพียงทุกขเวทนา ดังนั้น กุศล ก็เป็นทุกข์ และทุกขเวทนา ก็เป็นกุศลได้ ดังนั้น คำว่า กุศลเป็นทุกข์ นั้นกล่าวชอบแล้ว.
พระราชา ทรงพบว่าคำพูดของพระองค์มีข้อผิดพลาด ก็ด้วยคำอธิบายของพระเถระ ไม่สามารถโต้ตอบแต่ประการใด มีใจยอมรับให้สั่งสอนได้แล้ว จึงขอร้องให้พระเถระอธิบายความด้วยคำนี้.

ข้อนี้มีอธิบายว่า เปรียบเหมือนว่า ทุกข์ เปรียบเหมือนก้อนเหล็กร้อน, กุศล เปรียบเหมือนก้อนน้ำแข็งเย็น.
ก้อนเหล็กร้อนกับก้อนน้ำแข็งเย็น แม้มีส่วนผิดกันด้วยลักษณะที่ร้อนและเย็น แม้ก็จริง แต่กระนั้น เมื่อวางบนฝ่ามือแต่ละข้าง ทัี้งสองอย่าง ก็เหมือนกัน คือ สามารถลวกมือทั้งสองได้ เหมือนกัน ฉันใด, กุศลเวทนา กับ อกุศลเวทนา แม้ว่า จะมีส่วนผิดกันด้วยชาติ คือ กุศล และอกุศล ถึงกระนั้น เวทนาทั้ง ๒ นี้ ก็ชื่อว่า มีส่วนเหมือนกัน คือ ความเป็น ทุกข์ หาสุขสาระอะไรไม่ได้ ฉันนั้น. (เรียบเรียงจากคำอธิบายมิลินทปัญหา ของอาจารย์ไชยวัฒน์ กปิลกาญจน์.)






[๑] คำว่า สุขา เวทนา สุขเวทนาบางอย่าง ที่เป็นกุศล ในที่นี้ พระเจ้ามิลินท์ทรงยกไปเป็นประเด็นซักถามว่า ถ้า สุขเวทนาเป็นกุศล,  เวทนาที่สหรคตกับกุศลนั้นต้องไม่เป็นทุกขเวทนา, ดังนั้น คำที่ว่า กุศล เป็นทุกข์ ก็ผิด. (ดูคำซักไซร้ต่อไป)
[๒] น อุปฺปชฺชติ คัมภีร์มิลินทฎีกามีปาฐะว่า น อุปปชฺชติ และท่านอธิบายว่า ได้แก่ น วฏฺฏติ บ้าง น ยุตฺตํ บ้าง. ส่วนคัมภีร์มิลินทปัญหาอรรถกถา อธิบายว่า น ภวามิ แปลว่า ย่อมไม่มี. ในที่นี้ยึดตามปาฐะของมิลินทฎีกา เพราะสอดคล้องกับคำซักไซร้ของพระนาคเสน.
[๓]  คัมภีร์มิลินทฎีกาอธิบายว่า ปัญหาว่า ยทิ กุสลา น ทุกฺขา ความว่า ถ้าว่า สุขเวทนา ไม่พึงเป็นกุศล, สุขเวทนา ที่เป็นกุศลนั้น ก็ไม่ใช่ทุกข์, ถ้าว่า สุขเวทนานั้น ก็ไม่เป็นกุศล ที่ว่า กุศล เป็นทุกข์ ก็ไม่สมควรจะกล่าว อันนี้ก็แสดงว่า กุศลไม่ใช่ทุกข์. นะสิ พระคุณเจ้า.เพราะกุศลที่เป็นทุกข์ ย่อมไม่มี, เหตุที่ทุกข์กับสุขเป็นสภาพที่ขัดแย้งต่อกัน. เรื่องนี้ พระเจ้ามิลินท์หมายถึง กุศล ต้องเป็น สุขเวทนา เท่านั้น, ที่เป็นทุกข์ไม่มี เพราะสุขกับทุกข์เป็นคนละขั้วกัน เมื่อสุขเป็นกุศล จะกล่าวว่า กุศลเป็นทุกข์ได้อย่างไร. อันที่จริง สภาวะหาได้เป็นอย่างที่ทรงสำคัญอย่างนั้นไม่, เพราะสุขเวทนาอันเป็นกุศล ก็เป็นทุกข์นั่นแหละ โดยเป็นสังขารทุกข์ บ้าง โดยเป็นวิปริณามทุกข์บ้าง. แม้กุศลที่เป็นทุกข์คือโทมนัสที่อาศัยเนกขัมมะ ก็ยังเป็นกุศล เพราะเหตุที่ไม่มีโทษ ด้วยประการดังนี้.
[๔] พระนาคเสน กระทำไว้ในใจว่า “เมื่อเราย้อนถามพระราชาในปัญหาว่าด้วยก้อนเหล็กแดงกับก้อนน้ำแข็ง พระองค์ก็จะทรงตอบผิดพลาด, เราจะชี้โทษในคำตอบผิดนั้น. เมื่อพระองค์ไม่ทรงสามารถตอบได้ก็จะทรงขอให้เราอธิบายถึงเนื้อความที่ถูกต้อง. ทีนั้น พระองค์ก็จะทรงกำหนดความหมายของสภาวะนั้นได้” ฉะนี้แล้ว จึงได้ตั้งปัญหาย้อนถามดังนี้.
[๕] สาธุ เป็นอายาจนัตถนิบาต มีความหมายว่า เชื้อเชิญ, โดยทั่้วไปแปลว่า ขอร้อง, วิงวอน. ข้อความนี้จึงมีความหมาย ดังโยมขออาราธนา. ขอพระคุณเจ้าโปรดแสดงความหมายของคำที่โยมได้ไตร่ถามพระคุณเจ้าว่า สุขเวทนา เป็นกุศล เป็นอกุศล หรือเป็นอัพยากตะ, โยมประสงค์เอาความหมาย ประโยชน์อะไรด้วยการทุ่มเถียงกันเล่า
[๖] เรือนในที่นี้หมายถึงกามคุณ. สำหรับโสมนัสชนิดที่อาศัยกามคุณที่เรียกว่า เรือน. ในที่นี้ ได้แก่ ที่มา
[๗] เนกขัมมะมีหลายประการ คือ บรรพชา ปฐมฌาน นิพพาน วิปัสสนา และกุศลธรรมทั้งหมด. แต่ในที่นี้หมายถึง พระนิพพาน วิปัสสนา และกุศลธรรม. โสมนัสอาศัยเนกขัมมะ ได้แก่ โสมนัสเวทนาที่เป็นไปปรารภเนกขัมมะ ๓ อย่างนี้.
[๘] เวทนาหมวดละหก คือ เวทนาที่เกิดขึ้นทางทวาร ๖. ดูรายละเอียดในบาฬีมัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๑๔/๓๐๖.
[๙] คือ ให้เป็นเวทนาเหมือนกันโดยความเป็นสภาพที่เสวยอารมณ์ โดยไม่แยกแยะว่าเป็นโสมนัสเป็นต้น.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น